หมายเหตุ: “นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์” ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ถึงแนวทางการวางมาตรการเตรียมความพร้อมเปิดประชุมสภา สมัยสามัญทั่วไปในเดือนพฤษภาคม นี้ หากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลายจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร ตลอดจนนพ.สุกิจ ยังได้วิเคราะห์ถึงบทบาท “นักการเมือง” จะช่วยบ้านเมืองในท่ามกลางวิกฤติทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และปัญหาเศรษฐกิจ ได้อย่างไร - มองสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 กับการบริหารจัดการปัญหาของรัฐบาลอย่างไรบ้าง เป็นโรคติดต่อที่มีความรุนแรงในตัวของโรคอยู่มาก และการระบาดก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว แพร่ขยายไปเกือบจะทั่วโลก และเป็นภาวการณ์ติดต่อที่สร้างความวิตกกังวลให้กับพี่น้องประชาชนอย่างมากที่สุดเท่าที่เราเคยพบมา ซึ่งการจัดการปัญหาของรัฐบาลในตอนนี้ก็เป็นโชคดีของประเทศไทยอย่างหนึ่ง โรคนี้เข้ามาประเทศเราหลังหลายประเทศ จึงได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์การแก้ปัญหาของหลายประเทศ เช่น ประเทศจีนได้เจอปัญหาเป็นประเทศแรก หรือฝั่งยุโรป ทำให้เราได้รู้แนวทาง และมีโอกาสสู้กับปัญหา เช่น การปิดประเทศหรือจำกัดการเดินทางเข้าออกภายในประเทศ หรือการเข้าออกของประชาชนในประเทศก็ตาม ถือเป็นประสบการณ์ ส่วนมาตรการเหล่านี้จะได้ผลหรือไม่ อยู่กับความสามารถในการจัดการบริหารของรัฐบาล และความมีระเบียบวินัยของพี่น้องประชาชนในการที่จะปฏิบัติตามมาตรการต่างๆของรัฐบาลกำหนด -ในเวลานี้ หากมองกลับมาที่ “ฝ่ายการเมือง” ควรมีบทบาทเช่นใดบ้าง ฝ่ายการเมืองถ้ามองในส่วนบุคคลก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่คนส่วนใหญ่ของประเทศปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่ในส่วนของพรรคการเมือง หลายพรรคการเมืองเป็นคนที่มีความรู้ เป็นแพทย์ เป็นนักสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีมากถ้าพรรคการเมืองเหล่านี้ช่วยกันระดมช่วยเหลือ หรือให้คำแนะนำต่อรัฐบาล และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้ เช่นดำริของประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นว่าส.ส.เป็นผู้ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน ก็ได้ส่งหนังสือไปยัง ส.ส.ถึงแนวทางการปฏิบัติตัวในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อไปกระจายความรู้ให้กับพี่น้องประชาชน ถ้าส.ส.ได้ทำเต็มที่ก็จะช่วยเหลือประเทศชาติได้มาก -หลายฝ่ายมองว่าเวลานี้การออกมาแสดงความเห็นของฝ่ายการเมือง โดยนำประเด็นโควิด-19 มาเล่นการเมืองมากเกินไปหรือไม่ ผมคิดว่าควรจะมองเจตนาของนักการเมือง เพราะสภาพความเป็นจริงตอนนี้หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา ผมว่าการออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเป็นประเด็นการเมืองน้อยกว่าทุกครั้ง ทุกฝ่ายก็ให้ความสำคัญกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว -ในยามวิกฤติจากปัญหาโควิด-19 เศรษฐกิจฝืดเคือง สภาฯเป็นอีกหนึ่งกลไกจะมีส่วนช่วยสนับสนุนสังคมได้อย่างไรบ้าง สภามีอำนาจหน้าที่อยู่แล้วที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เราก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่ในยามที่มีการระบาดของเชื้อโรค รัฐสภาก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ให้ความสำคัญ และร่วมมือในมาตรการต่างๆ โดยบางมาตรการรัฐสภานำมาปฏิบัติล้ำหน้ากว่าหน่วยงานอื่น ๆ เช่นมาตรการคัดกรองคนที่เข้าออกสภา ถือเป็นหน่วยงานแรกที่ทำมาก่อนที่รัฐบาลจะประกาศว่าโควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรง และถ้ามีสิ่งใดที่จะช่วยพี่น้องประชาชนได้สภาฯก็ยินดีที่จะปฏิบัติ รวมทั้งการรับเรื่องร้องทุกข์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับโรคโควิด-19 ซึ่งจะมีปัญหาตามมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การทำมาหากินจะเป็นปัญหาหนักที่จะตามมา เชื่อว่าสภาจะต้องรับเรื่องเหล่านี้มากทีเดียว หลังโรคหมดไปแล้ว ซึ่งเราก็พร้อมที่จะรับเรื่องราวดังกล่าว และนำไปแก้ไขให้เหมาะสมต่อไป -ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เจอปัญหาน้ำท่วมปี 54 หลายคนยังจำภาพที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯหารือช่วยกันหาทางออก คิดว่าในยามนี้จะเกิดภาพแบบนั้นได้หรือไม่ ผมเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลต่างก็มีความปรารถนาดีต่อบ้านเมืองในช่วงนี้ เพราะประเด็นการเมืองตอนนี้ถูกมองข้ามไป ส่วนความร่วมมือร่วมใจกันในการทำงานเรื่องนี้คงไม่เหมือนตอนน้ำท่วม ตอนนี้ทุกฝ่ายก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของการเคลื่อนไหวพอสมควร เชื่อว่าหลายฝ่ายก็ได้ออกมาให้คำแนะนำกับรัฐบาล ส่วนการพบปะหารือกันในสภาวะเช่นนี้ก็คงทำได้ยาก เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐบาลว่าตอนนี้ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้หรือไม่ เมื่อถึงวันหนึ่งหากเหตุการณ์ลุกลามไปมาก สุดที่จะรับไหวก็ต้องการความร่วมมือกับทุกฝ่าย คงไม่เฉพาะฝ่ายค้านอย่างเดียวฝ่ายอื่นๆด้วย ข้าราชการประจำ หรือเอกชนต่างๆ ที่มีประสบการณ์ และความสามารถในด้านนี้ ส่วนการที่รัฐบาลประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อคุมพื้นที่ เพื่อจัดการกับโรคระบาดในครั้งนี้จำเป็นต้องมีความสามัคคีของพี่น้องประชาชน และที่สำคัญคือต้องมีวินัยส่วนตัว เพราะวินัยส่วนตัวสามารถกำหนดวินัยของชาติได้ เพราะฉะนั้นมาตรการต่างๆที่ออกมา ไม่ว่าจะเข้มข้นอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าขาดความร่วมมือจากประชาชนส่วนใหญ่ หรือขาดความสามัคคีที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่มองเห็นปัญหาว่าจะต้องร่วมมือกัน หรือความมีวินัยที่หย่อนยานมองว่าแค่นี้ไม่เป็นอะไร ทำอะไรก็ได้ ตรงนี้ก็จะส่งผลเสีย เชื่อว่ารัฐบาลก็คงต้องออกมาตรการที่เข้มงวดพอสมควร ซึ่งเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศยอมรับได้ เพราะนั่นคือวิธีการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างถาวร -ในฐานะที่เป็นนักการเมืองในพื้นที่ ได้รับฟังเสียงสะท้อนอย่างไรบ้าง จากกรณีปัญหาที่รุมเร้าประเทศไทยอยู่เวลานี้ คือความวิตกกังวลที่ประชาชนจะได้รับข่าวสารที่ไม่ครบถ้วน ความวิตกกังวลต่อโรค ความวิตกกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ในตอนนี้ขาดรายได้ มีการเลิกจ้าง ถูกพักงานชั่วคราว ลูกหลานที่เคยเป็นกำลังสำคัญในการส่งรายได้ให้กับครอบครัวถูกพักงาน หลายคนพักแล้วก็ไม่ได้เงินตอบแทน และหลายคนมองว่าอาจจะไม่ได้กลับเข้ามาทำงานอีกแล้ว เมื่อพ้นวิกฤติแล้วนายจ้างคงไม่จ้างต่อ หรือรับงานได้เหมือนเดิม นี่คือความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น ดังนั้นรัฐบาลต้องให้ความมั่นใจกับเขาในเรื่องนี้ว่าจะมีมาตรการอะไรที่จะช่วยเหลือเขาได้ -คิดว่าช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯรอบใหม่ "อะไร"ควรเกิดขึ้นบ้าง อาทิ การตีรวน ในสภาน้อยลง หรือกมธ.บางคณะสงบศึกกันได้บ้าง ธรรมชาติของการเมืองก็คงเปลี่ยนไปไม่ได้ การตีรวนในที่ประชุมก็คงต้องมีต่อไป แต่ต้องมองในภาพรวมว่าเป็นความเห็นที่แตกต่าง เพราะเป็นระบอบประชาธิปไตย ถ้าดูตามบทบาทและบริบททางการเมืองก็ไม่แตกต่างกันมาก แต่ขอให้มองที่เนื้อหาว่าการกระทำเหล่านั้นส่งผลอะไรกับประเทศชาติบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องหรือการกระทำอะไรในห้องประชุมจะถือว่าตีรวนไม่ได้ แต่เจตนาของเขาคือมีความหวังดีหวังดีต่อประเทศชาติ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เรายอมรับกันได้ ถ้าเรามองการประชุมที่ผ่านมาผลงานของสภา โดยรวมถือว่าน่าพอใจ อย่าไปมองว่าส.ส.พูดจาไม่ไพเราะ อยากให้มองภาพรวมการทำงานของสภาดีกว่า ว่าผ่านกฎหมายไปมากน้อยแค่ไหน นำญัตติที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนพิจารณามากน้อยแค่ไหน ส.ส.มีความตั้งใจที่จะนำปัญหาของพี่น้องประชาชนมาแก้หรือไม่ ส่วนการพูดจาในสภามีกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับมุมมอง ถ้ามองว่าการพูดจา ถกเถียงในสภาเพื่อที่จะให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดก็ได้ ไม่ใช่เป็นการทะเลาะกัน ถ้ามองว่าเป็นการตีรวนก็ไม่มีวันหมดไป เพราะการพูดในสภาก็เป็นบุคลิกของส.ส.แต่ละคน การพูดอาจจะเหมือนก้าวร้าว แต่อยากให้ดูที่เนื้อหา เท่าที่ดูคณะกรรมาธิการหลายคณะก็มีเรื่องดี ๆและมีผลงานที่มีประโยชน์มาก แต่ภาพที่ออกมามีการทะเลาะกัน เพราะฉะนั้นอยากให้มองที่ผลงานของเขาและนำมาประกอบกันอย่าเพิ่งเบื่อการเมือง เพราะการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อเลือกตัวแทนเข้ามาเอง เมื่อเลือกเขามาเราก็ต้องรู้ว่าเขาจะมาแสดงบทบาทอย่างไร -คิดว่าสังคมกำลังคาดหวังอะไรจากฝ่ายการเมือง หลังจากที่เรารอคอยการมีสภาผู้แทนฯมา 5 ปีแล้ว สังคมคาดหวังเต็มที่ เมื่อมีตัวแทน มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนคงจะสามารถนำพาประเทศไปสู่ในแนวทางที่ดีได้ และแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้ รัฐบาลหรือรัฐสภา และส.ส.ที่ได้รับเลือกเข้ามาไม่มีทางหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่นต้องทำงานเต็มที่เพื่อตอบโจทย์ให้ได้ในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน -หากสถานการณ์โรคระบาดยืดเยื้อทางสภาฯได้เตรียมมาตรการอะไรรองรับบ้าง เรามีการระดมความเห็นในการเตรียมความพร้อมที่จะเปิดประชุมในเดือนพฤษภาคม เพราะเราไม่สามารถเลื่อนการเปิดได้ แต่ประธานสามารถสั่งงดประชุมได้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย แต่ถ้าสถานการณ์ไม่สามารถประชุมได้ก็ต้องหาวิธีการที่จะต้องประชุมให้ได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะสถานการณ์โรคนี้ก็ต้องติดตามดูไปเรื่อยๆ ไม่มีใครบอกได้ว่าพอถึงเดือนพฤษภาคมเหตุการณ์ระบาดของโรคจะเป็นอย่างไรไม่มีใครยืนยันได้ อาจจะคลี่คลายไปในทางที่ดี หรือจะยิ่งยุ่งยากรุนแรงยิ่งขึ้นไม่มีใครตอบได้ สภาฯก็ต้องเตรียมมาตรการไว้หลายๆด้าน ซึ่งก็มีหลายฝ่ายเสนอให้มีการประชุมผ่าน Conference แต่ก็มีข้อดี ข้อด้อย เพราะการประชุมสภาฯการลงมติเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องระมัดระวังและรอบคอบ