สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
หลวงพ่อพุ่ม กำเนิดเมื่อประมาณปี พ.ศ.2399 ณ บ้านข้างวัดสนามแดง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในสมัยเด็กท่านชอบแสวง หาศึกษาสิ่งเร้นลับ อายุได้ 12 ปี บิดามารดาได้พาไปบวชเป็นสามเณรที่วัดสนามแดง บางพลี จนอายุ 20 ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยได้รับนามฉายาว่า “จันทโชโต” หลวงพ่อพุ่มสนใจในด้านวิปัสสนาธุระเป็นพิเศษ จึงได้ออกธุดงควัตร ท่านมีชื่อเสียงมากทางวิปัสสนากรรมฐาน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2461 ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางโคล่นอก ด้วยผลงานอันดีเด่น ท่านจึงได้รับสมณศักดิ์เป็นพระปลัดพุ่ม และได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระครูรัตนรังษี” ฝ่ายวิปัสสนาและเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออายุ 65 พรรษา 45 หลวงพ่อพุ่มมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2489 รวมสิริอายุได้ 90 ปี 70 พรรษา ส่วนวัตถุมงคลหลวงพ่อพุ่มที่นิยมโดยเฉพาะ “เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อพุ่ม” ที่ปลุกเสกทันท่านมี 2 รุ่น คือ รุ่นแรก ปี 2477 และ รุ่น ปี 2482
โดยเฉพาะเหรียญหลวงพ่อพุ่ม รุ่นแรก ปี 2477 ได้รับความนิยมอย่างมากและมีราคาสูง ปรากฏประวัติการสร้างชัดเจนคือจัดสร้างเพื่อแจกในงานทำบุญอายุ 77 ปี หลวงพ่อพุ่ม ในปี พ.ศ.2477 ปี โดยพระครูวินัยธรสวัสดิ์ สำนักวัดมหาธาตุ ศิษย์เอกของท่านเป็นธุระในการออกแบบจัดสร้างจำนวน 1,000 เหรียญ สร้างด้วยเนื้อทองแดง ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ค่อนข้างกลมแบบหูเชื่อม ขอบเหรียญด้านหน้าและหลังยกเป็นสองชั้น ชั้นนอกเป็นเส้นหนา ชั้นในเป็นเส้นเล็กเรียวเหมือนเส้นลวดทำให้เหรียญดูมีมิติคือดูลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ด้านหน้า มีพิมพ์เดียว เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อพุ่มคมชัด ด้านหลัง เป็นยันต์นํ้าเต้าทอง มีอักขระด้านบนเป็นตัวอุณาโลม (อักขระในยันต์นํ้าเต้าทองคือตัว นะ) ด้านล่างทำเป็นแถวเดียวเขียนอักขระ มะ อะ อุ แบ่งออกเป็น 2 พิมพ์ ในวงการเรียก พิมพ์อุชิด กับ พิมพ์อุไม่ชิด
พิมพ์อุไม่ชิด หมายถึง ปลายหางอุณาโลมห่างจากขอบเหรียญ พิมพ์นี้ ไส้อักขระ ‘ตัว มะ’ จะมีเส้นเล็กและโค้ง บางทีคนโบราณเรียกพิมพ์นี้ว่า พิมพ์ตัวหนังสือโค้ง ส่วนหัวอักขระ ‘ตัว อุ’ จะหักเป็นเหลี่ยม เส้นสายต่างๆ ของยันต์จะเล็กกว่าอีกพิมพ์หนึ่ง ประการสำคัญเฉพาะพิมพ์นี้ ขอบเหรียญด้านนอกจะโค้งทับขอบเหรียญด้านในเกือบตลอดเหรียญ ยกเว้นขอบด้านล่างซ้ายจะทิ้งเป็นช่องว่าง เนื่องจากขอบด้านนอกไม่โค้งทับเส้นในทุกเหรียญ
พิมพ์อุชิด ปลายหางอุณาโลมจะจดขอบ ไส้ ‘ตัวมะ’ จะขีดเป็นเส้นตรง บางท่านจึงเรียก พิมพ์ตัวหนังสือตรง หัว ‘ตัวอุ’ จะขมวดกลมไม่เป็นเหลี่ยมเหมือนพิมพ์แรก เส้นขอบนอกเหรียญโค้งทับเส้นขอบในเป็นช่วงๆ พิมพ์นี้เป็น “พิมพ์นิยม”
จุดสังเกตประการหนึ่งคือ ปลายหาง ‘ตัวอุณาโลม’ ของเหรียญทั้งสองพิมพ์ จะต้องอยู่กึ่งกลางเหรียญ ถ้าของเก๊จะค่อนไปทางขวา
ด้วยบารมีของหลวงพ่อพุ่ม พุทธคุณ ความศักดิ์สิทธิ์ และปาฏิหาริย์ต่างๆ ของ “เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อพุ่ม ปี 2477” ที่เป็นที่ปรากฏเลื่องลือ กอปรกับจำนวนการจัดสร้างที่น้อยมาก ในปัจจุบันจึงแทบหาดูไม่ได้กันเลยทีเดียว จากที่เคยมีการเช่าหากันในหลักแสนกลางๆ ขยับขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันน่าจะขึ้นเป็นหลักล้านแล้วครับผม



