ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ย่าจันทร์สอนให้ผมเข้าใจ “ความแก่และความเยาว์”
ตลอดเวลาที่อยู่กับย่าจันทร์ ย่าไม่เคยห้ามถ้าผมจะเล่นจะซน เพราะนั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “ประสาเด็ก” เด็กคือวัยที่ต้อง “เล่นและซน” ส่วนคนแก่คือคนที่ต้อง “ห่วงและหวัง”
ผมมักจะถูกปู่ดุเสมอๆ บางครั้งก็จะลงมือลงไม้ ในเวลาที่ผมเล่นซุกซนแล้วปู่ห้ามไม่ฟัง แต่ย่าก็จะเข้ามาขัดขวาง บางครั้งก็ถูกลูกหลงเจ็บเนื้อเจ็บตัวแทนหลานอยู่หลายครั้ง และทุกครั้งก็จะพูดกับปู่ว่า “ก็มันเป็นเด็ก” ย่าจะห้ามปรามผมก็ต่อเมื่อผมเล่นอะไรที่มันอันตราย เช่น ปีนต้นไม้สูง หรือเล่นมีดและของมีคม แต่ย่าจะสอนให้ทำไม้สอยถ้าผมอยากกินลูกไม้ที่อยู่บนกิ่งสูงๆ และย่าก็จะสอนให้จับมีดให้ถูกวิธีเวลาที่จะหั่นจะสับอะไร หรือให้ช่วยทำกับข้าวแล้วสอนให้รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะใช้ข้าวของต่างๆ ได้ดี รวมทั้งสอนเรื่องสุขอนามัย การรักษาความสะอาด รวมถึงการดูแลตัวเองเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย
ผมก็เหมือนกับเด็กๆ ทั่วไปที่มักจะเล่นมากไปจนลืมดูแลรักษาความสะอาด บางทีก็ลืมอาบน้ำก่อนนอน แต่ย่าจะแอบมาเช็ดตัวให้ตอนที่ผมหลับแล้ว แม้จะได้แค่ใบหน้ามือและเท้า แต่ย่าก็ไม่เบื่อที่จะทำ บ่อยครั้งที่ความขี้เกียจแบบเด็กๆ นั้นทำให้เกิดโรคผิวหนังผื่นคัน ย่าก็จะไปเด็ดใบหนาดที่ปลูกไว้ริมรั้วมาสักกำมือต้มในน้ำเดือดสักหม้อหนึ่ง แล้วมาเทใส่ถังน้ำ(ที่อีสานเรียกว่า “คุ” ไว้หาบไปตักน้ำมาใส่ตุ่ม)ผสมกับน้ำเย็นให้อุ่นนิดๆ แล้วอาบชะโลมสักสองสามขัน ก่อนที่จะใช้ฝักบวบแห้งขัดถูขี้ไคลและบริเวณที่เป็นผื่นคัน แล้วตักน้ำที่เหลือล้างคราบไคลให้หมดจด และถ้ามีแผลอักเสบย่าก็จะผสมแป้งทาตัวกับขมิ้นตำละเอียดมาทาสมานแผลให้อีกที บางครั้งผมติดเหามาจากเพื่อนเด็กผู้หญิง ย่าก็จะให้สระผมด้วยน้ำหมักข้าว(เข้าใจว่าเหาจะขึ้นมาจากมาจากผิวหนังมากินน้ำข้าวแล้วก็จะล้างออกได้โดยง่าย)แล้วล้างออกด้วยน้ำสบู่ เหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นโรคที่เกิดจากความซุกซนของเด็ก ซึ่งย่าไม่เคยพูดบ่นตำหนิ มีแต่จะสอนว่าของอย่างนั้นอย่างนี้ที่ย่าเอามาใช้มีดีหรือสรรพคุณอย่างไร เหมือนกับสอนให้เราได้ความรู้ไปด้วย เช่น ขมิ้นนี้ได้ทั้งกินทั้งทา เพราะบางทีที่ผมมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ย่าก็จะให้จิบน้ำขมิ้นผสมน้ำอุ่นประมาณ 1 ช้อนกินข้าว แล้วเอากากขมิ้นที่ขยำเอาน้ำมาดื่มแล้วนั้น มาทารอบๆ สะดือ ซึ่งผมมีความรู้สึกจั๊กจี้ทุกครั้ง แต่นั่นก็ทำให้ท้องโล่งสบายดี หายอึดอัด
สำหรับใบหนาด คนอีสานก็มีความเชื่อคล้ายๆ คนภาคกลาง คือเอาไว้ใช้ “ไล่ผี” เพราะมันจะมีใบหนาๆ ยาวสักคืบมือ ปลายใบแหลมและมีขนสากๆ เกาะอยู่เต็มใบและกิ่งก้าน จึงเชื่อกันว่าเป็นที่หวั่นกลัวของบรรดาภูตผี โดยเฉพาะผีกระสือที่มีไส้โตงเตง ง่ายต่อการถูกขนหนามเกี่ยวแทง ซึ่งต้นไม้อีกอย่างหนึ่งที่นิยมปลูกไว้ป้องกันผีกระสือนี้ก็คือต้นไผ่ เพราะมีหนามมากนั่นเอง แต่ผีที่คนอีสานกลัวที่สุดคือ “ผีปอบ” ซึ่งก็คือคนแก่ๆ(ส่วนมากจะเป็นผู้หญิงแก่ๆ)ที่ในเวลากลางวันจะเก็บตัวอยู่บ้านเงียบๆ แต่พอตอนกลางคืนก็จะออกหากินของสดของคาว โดยเฉพาะ(ที่ผู้ใหญ่ชอบพูดขู่)ตับและเครื่องในของเด็ก แต่ผีที่ผมกลัวมากที่สุดในตอนที่อยู่บ้านหนองม่วงก็คือ “ผีก้อม” (ภาคกลางเรียกว่า “ผีกองกอย”) เป็นผีตัวเล็กๆ ผอมๆ ขนาดเท่าเด็กทารก ผิวหนังสีแดงๆ ชอบเกาะอยู่ตามต้นไม้ตามทางสามแพร่ง และบางตัวก็ชอบอยู่ในน้ำ เกาะตามกอบัว กอกก ซึ่งผมเคยเห็นตัวของผีก้อมนี้ครั้งหนึ่งพร้อมกันกับผู้ใหญ่และเพื่อนเด็กๆ อีกหลายคน ระหว่างเดินทางออกจากบ้านหนองม่วงตอนหัวค่ำ เพื่อไปเที่ยวงานวัดของอีกหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ห่างไปประมาณ 3-4 กิโลเมตร ซึ่งต้องผ่านหนองน้ำข้างทางที่มีกอบัวขึ้นแน่นรกทึบก่อนที่จะเข้าหมู่บ้านนั้น โดยมีเด็กคนหนึ่งสังเกตเห็นว่ากอบัวสั่นไหว แล้วผู้ใหญ่คนหนึ่งก็ร้องว่า “ผีก้อมๆ” พวกเราก็มองเห็นคล้ายๆ เด็กตัวแดงๆ กระโดดผลุงจากก้านบัวหายไปในน้ำ แล้วทุกคนก็พากันวิ่งกระหืดกระหอบมาจนถึงบริเวณวัดที่จัดงาน ต่างก็พากันพูดคุยถึงผีตัวนั้น ปกติพวกเราที่ไปเที่ยวงานวัดต่างหมู่บ้านจะอยู่ดูหนังสัก ๒ เรื่องแล้วก็กลับ แต่คืนนั้นเราอยู่ดูหนังสัก ๕ เรื่องจนฟ้าสว่างแล้วจึงค่อยพากันกลับ โดยอ้อมไปอีกด้านเพื่อจะได้ไม่ผ่านหนองน้ำที่ผ่านมาเมื่อตอนหัวค่ำนั้น ผมกลับมาถึงบ้านก็ปวดหัวไม่สบาย มีอาการตัวร้อน ย่าบอกคงเป็นเพราะอดหลับอดนอน จึงเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น ทานข้าวต้มแล้วให้ทานยาทัมใจรสเปรี้ยมอมขมหนึ่งซอง จากนั้นให้ห่มผ้าคลุมไว้ทั้งตัวให้เหงื่อออกมากๆ พอตอนสายๆ อาการก็ดีขึ้น จากนั้นย่าก็เอาเส้นฝ้ายที่แบ่งมาจากม้วนสายสิญจน์มาพันข้อมือ พร้อมกับสวดมนตร์พึมพำ ย่าบอกว่านี่คือการ “สู่ขวัญ” เรียกจิตวิญญาณของเราที่ล่องลอยออกไปตอนที่ตกใจเพราะกลัวผีนั้นให้กลับคืนมา
บางคืนผมนอนไม่หลับ ย่าจะพาผมมานั่งที่นอกชานหน้าบ้าน ถ้าเป็นคืนที่มีพระจันทร์แม้เพียงแค่เสี้ยวไม่ถึงครึ่งดวง ก็ส่งแสงส่องสว่างมองเห็นไปทั้งบริเวณหมู่บ้าน เพราะไม่มีแสงอะไรมากลบกลืน ยิ่งคืนไหนเพระจันทร์เต็มดวงและฟ้าใสไม่มีเมฆด้วยแล้ว ถนนหน้าบ้านที่เป็นดินทรายสีชมพูจะสะท้อนแสงเป็นเกล็ดระยิบระยับ บางทีก็สว่างวาบเหมือนว่าจะสามารถนับเม็ดทรายทุกเม็ดนั้นได้ ย่าจะพูดถึงความหลังครั้งย่ายังเป็นเด็กๆ ให้ฟัง ว่าย่าก็มีความฝันอยากเป็นโน่นเป็นนี่มากมาย อยากเห็นกรุงเทพฯ อยากแต่งตัวสวยๆ ฯลฯ แต่พอแต่งงานกับปู่แล้วก็เลิกฝัน แต่หันมามองลูกๆ ที่เกิดมาและเติบใหญ่ขึ้นทุกวันว่า สักวันเขาแต่ละคนต้องเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ และเฝ้าเลี้ยงดู “อย่างดีที่สุด” ด้วยความหวังที่จะเห็นพวกเขาเติบโตไปในแนวทางที่ย่าฝัน ซึ่งย่าก็พบว่าบางทีความฝันก็ไม่ได้เป็นจริง แต่ความจริงที่ย่าเห็น “แบบที่พวกเขาเป็นอยู่” ก็ทำให้ย่ามีความสุข
ความสุขที่ได้ทำเพื่อพวกเขา “อย่างสุดฝีมือ” แล้ว