สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรุนแรงมากขึ้น ถึงขั้นมีการบริหารจัดการแบบสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้ไม่มีการประกาศเคอร์ฟิวก็ตาม แต่ก็เหมือนให้ทุกคนกักตัวเอง เคอร์ฟิวตัวเอง กักตัวอยู่กับบ้านเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อหรือการเป็นพาหะของเชื้อโรคโดยไม่รู้ตัว กิจกรรม กิจการต่าง ๆ มีการสั่งระงับหรือขอความร่วมมือให้หยุดการดำเนินการ มาตรการการอยู่ในระยะห่างกัน (social distancing) มีการกำหนดและพยายามทำให้เกิดผลทางปฏิบัติทั้งการติดต่อธนาคาร การใช้บริการลิฟต์ บริการขนส่งสาธารณะ เป็นต้น กล่าวได้ว่า มีการพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหน่วงการแพร่กระจายของไวรัสให้เป็นไปอย่างช้าที่สุดเพื่อที่จะรองรับ ควบคุมสถานการณ์ได้ นั่นคือความหวังที่คาดหวังไว้ และฝากไว้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการตรวจเข้มการเดินทาง การคัดกรองตามจุดต่าง ๆ แต่ก็ยังเห็นได้ว่า ในด้านของทางราชการนั้นกลับไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่า จะมีการหยุดงานบ้างไหมโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่วิกฤต เช่น กรุงเทพมหานครหรือจังหวัดที่มีสถานการณ์รุนแรง ซึ่งแน่นอนว่า หากมีการประกาศหยุดก็อาจจะเกิดผลกระทบในด้านขวัญ กำลังใจในหมู่ประชาชนหรือภาพรวมของประเทศ แต่เมื่อเทียบกับความรุนแรงของปัญหาและไม่หาทางออกว่าควรจะเป็นอย่างไรแล้ว ข้าราชการก็อาจเป็นปัญหาหนึ่งของการบริหารจัดการหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจช่วยให้มีการแพร่เชื้อได้ เพราะข้าราชการไม่ได้หยุด ต้องไปทำงานทุกวันราชการ ต้องเคลื่อนย้าย เดินทาง ใช้บริการขนส่งสาธารณะ สถานที่ทำงานก็แออัดดังรังปลวก ขยับขยายให้ห่างกันได้ยาก ระบบปรับอากาศใช้ระบบปรับอากาศรวม ใช้โรงอาหารรวม ลูกเต้าที่ปิดโรงเรียนก็ขาดคนดูแล เพราะสถานรับเลี้ยงเด็กก็ต้องปิด อาจต้องกระเตงลูกมาเลี้ยงที่ทำงาน เพราะเป็นสังคมแบบครอบครัวเดี่ยว ไม่มีปู่ย่า ตายาย มาอยู่ด้วย สถานที่ทำงานก็ต้องมีบุคลากรฝ่ายอื่น เช่น แม่บ้านทำความสะอาด พนักงานรักษาความปลอดภัยรวมอยู่ด้วย สภาวการณ์ดังกล่าวถึงแม้ไม่ติดโควิดก็ต้องผจญกับความเครียด และปัญหาต่าง ๆ ที่หนักหน่วงกว่าปกติ จำนวนข้าราชการทั่วประเทศมีประมาณสองล้านคน ในขณะที่ข้าราชการกรุงเทพมหานครก็มีจำนวนประมาณสองหมื่นคน มีใครรับรองได้ไหมว่า โควิดเป็นมิตรกับข้าราชการ องค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการน่าจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง ข้าราชการเองนั้นไม่อาจยกขึ้นกล่าวหรือร้องขอได้เอง เพราะชินกับเรื่องของวินัยและการปฏิบัติตามคำสั่งที่เชื่อมั่นว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว อย่าไปคิดว่า การหยุดราชการเป็นเรื่องเสียหาย เพราะหยุดอยู่บ้านเพื่อช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายด้วย แน่นอน เราอาจจะหยุดราชการทุกหน่วยงานไม่ได้ แต่เพื่อสร้างความสมดุลกับการกักตัวเองเพื่อช่วยหยุดสถิติการติดเชื้อแล้ว ก็ควรจะมีการทบทวนแนวทางการปฏิบัติราชการในสถานการณ์วิกฤตว่างานใดสามารถชะลอไว้ก่อนได้ หน่วยงานใดสามารถลดจำนวนคนโดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันหยุดเพื่อลดการเดินทาง ลดการแออัด งานที่ทำนั้นทำเพื่อรักษาระบบหรือเท่าที่จำเป็นและสามารถทำได้ไปก่อน เน้นการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ลองย้อนดูคราวสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ ข้าราชการติดน้ำท่วม แต่ก็ผ่านมาได้โดยงานราชการไม่เสีย ดังนั้น ระดับนโยบายควรมีความชัดเจนเกี่ยวกับราชการ หรือจะยืนยันให้เสี่ยงภัยที่มีความรุนแรงมากขึ้น หากเห็นว่าเป็นเรื่องของภาพพจน์ประเทศ หรือป้องกันการตื่นตระหนก ก็ควรเป็นไปในลักษณะของการเปิดไฟเขียวให้แต่ละหน่วยงานมีการปรับเปลี่ยนการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะแต่ละหน่วยก็มีความแตกต่างกันในแง่ของภารกิจ วิธีปฏิบัติ และการติดต่อกับประชาชน อย่าให้ข้าราชการกลายเป็นปัญหาไม่กักตัวเหมือนประชาชนทั่วไป และตามความเป็นจริงนั้น งานราชการส่วนที่ภารกิจไม่สำคัญมากนักก็อาจลดจำนวนคนลง ให้หยุดงานอยู่บ้านเพื่อช่วยชาติได้ถึงครึ่งหนึ่ง ฝากท่านผู้เกี่ยวข้องพิจารณาด้วยครับ หน่วยงานอิสระน่าจะขยับสื่อสารกับทางรัฐบาลและนำร่องดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ สถานการณ์นี้ยังยาวนานนัก อย่าให้เลยเถิดไปถึงขั้นเป็นอิตาลีหรือสหรัฐอเมริกาเลย ระหว่างที่ยังไม่มีอะไรออกมา ก็อยากให้ข้าราชการหาทางใช้วันลาที่มีอยู่ลาพักอยู่บ้านเพื่อชีวิตตัวเองและช่วยชาติครับ ดร.สุพิศ ปราณีตพลกรัง