สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Pageโพสต์เฟซบุ๊กระบุ พบซากการระเบิดครั้งยิ่งใหญ่ใน#กระจุกกาแล็กซีคนแบกงู ! 27 กุมภาพันธ์ 2563 ทีมนักวิจัยนำโดย Simona Giacintucci ค้นพบซากการระเบิดนี้จากหลุมดำมวลยวดยิ่ง (Supermassive Blackhole) บริเวณใจกลางของกระจุกกาแล็กซีคนแบกงู (Ophiuchus Galaxy Cluster) ห่างจากโลกประมาณ 390 ล้านปีแสง หลุมดำได้ปลดปล่อยลำอนุภาคพลังงานมหาศาลออกมา แหวกกลุ่มแก๊สรอบๆ เกิดเป็นโพรงที่มีขนาดใหญ่กว่ากาแล็กซีทางช้างเผือก 15 เท่า เมื่อปี พ.ศ.2559 กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราเคยพบร่องรอยการระเบิดนี้แล้ว พบว่าภายในกระจุกกาแล็กซีคนแบกงูมีสสารกระจายตัวเป็นขอบโค้งขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นขอบของโพรงแก๊สร้อน ที่เกิดจากการระเบิดของวัตถุอวกาศอยู่ภายใน แต่ก็ได้ทิ้งแนวคิดนี้ไป เนื่องจากหากเกิดจากการระเบิด จะต้องเป็นการระเบิดที่มีพลังงานสูงมากแบบที่ไม่เคยมีนักวิทยาศาสตร์คนใดเคยคาดการณ์ไว้ นั่นหมายความว่าจะเกิดจากหลุมดำยักษ์เท่านั้น จนกระทั่งล่าสุด Simona ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราศึกษากระจุกกาแล็กซีนี้อีกครั้ง และนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ XMM-Newton ซึ่งศึกษาในช่วงคลื่นรังสีเอ็กซ์เช่นเดียวกับกล้องจันทรา พบโพรงขนาดใหญ่นี้เช่นเดียวกัน อีกทั้งยังใช้กล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นวิทยุ ได้แก่ Murchison Widefield Array (MWA) และ Giant Metrewave Radio Telescope (GMRT) พบขอบโค้งในอวกาศ และยังค้นพบอีกว่าภายในโพรงมีอนุภาคอิเล็กตรอนที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้เคียงความเร็วแสงอยู่ นักดาราศาสตร์คาดว่าซากการระเบิดครั้งนี้เกิดจากหลุมดำมวลยวดยิ่งที่อยู่บริเวณใจกลางโพรงแก๊สนี้ พลังงานที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากกว่าซากการระเบิด MS 0735+74 ที่เคยเป็นอันดับหนึ่งถึง 5 เท่า และมีพลังงานสูงมากกว่ากระจุกกาแล็กซีทั่ว ๆ ไปหลายพันเท่า ปกติแล้วลำอนุภาคพลังงานสูงจะปลดปล่อยออกมาสองฝั่งตรงข้ามกัน เช่น ลำอนุภาคที่ปลดปล่อยจากดาวนิวตรอน แต่นักวิทยศาสตร์ตรวจพบลำอนุภาคจากการระเบิดครั้งนี้ในช่วงคลื่นวิทยุเพียงฝั่งเดียวเท่านั้น เป็นไปได้ว่าลำอนุภาคอีกฝั่งหนึ่งมีความหนาแน่นน้อยกว่าจึงจางหายไปก่อนอีกด้านหนึ่ง เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : https://www.nasa.gov/…/record-breaking-explosion-by-black-h… บรรยายภาพ - ข้อมูลในช่วงคลื่นรังสีเอ็กซ์จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา และกล้องโทรทรรศน์อวกาศ XMM-Newton ร่วมกับข้อมูลในช่วงคลื่นวิทยุจากเครือข่ายกล้อง MWAในออสเตรเลีย และกล้องโทรทรรศน์วิทยุ GMRT ในอินเดีย แสดงให้เห็นร่องรอยการระเบิดครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในเอกภพ ภาพจาก  https://www.nasa.gov/…/record-breaking-explosion-by-black-h…