“บิ๊กตู่” ลุยถกศูนย์โควิด-19หลังงัด “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”สู้ไวรัสมรณะ ย้ำจำเป็นต้องเข้มงวด กำชับทุกฝ่ายเดินหน้าจัดทำแผนแม้เหน็ดเหนื่อย สั้ง “พณ.”เร่งแก้ปัญหาเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น พร้อมตั้ง “ผบ.ทสส.”คุม “ศปม.”มีอำนาจปราบอาชญากรรมทุกประเภท มอบ“หมอทวีศิลป์”รับหน้าที่โฆษก ศบค. ด้าน“ผบ.ทสส.”แจง คลอดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหตุคนไม่ปรับตัว ขู่ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิมศุกร์หน้าคนติดเชื้อเฉียดหมื่นแน่ วอนปชช.สมัครใจอยู่บ้าน ก่อนบังคับปิดประเทศ ขณะที่“โฆษกตร.” แจงข่าวปลอม ไม่ใส่หน้ากากอนามัยปรับ 200 บาท ส่วนตำรวจขานรับสถานการณ์ฉุกเฉิน จับมือ“ทหาร”ลุยตั้งด่านตรวจ 7 จุดทั่วกรุง คุมเข้มปชช.เข้าเมือง “บิ๊กแดง”สั่ง “กพ. ทบ.”ตั้งกรรมการสอบจัดชกมวยลุมพินีทำโควิด-19 ระบาดหนัก ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 26มี.ค.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว. กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)ครั้งที่ 1 /2563 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ,นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายวิษณุ เครืองาม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) รวมถึงปลัดกระทรวงและผบ.ทหารสูงสุด ที่เป็นผู้รับผิดชอบงานในแต่ละด้าน รวมถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวก่อนการประชุมว่า ขณะนี้การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในสถานการณ์ระดับที่รัฐบาลต้องใช้ การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมอำนาจการบริหาร ออกข้อกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสังคมและประชาชน ในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะสามารถ แก้ไขปัญหาลดการแพร่ระบาดได้ จึงจำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างเข้มงวด พร้อมกันนี้ได้มอบแนวทางการปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนการทำงาน โดยสั่งการให้ผู้รับผิดชอบตามภาระหน้าที่จัดทำแผนดำเนินงานให้เรียบร้อย พร้อมเดินหน้าบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งรวมถึงนักวิชาการและภาคประชาชนด้วย ขณะที่เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะต้องเหน็ดเหนื่อยเพิ่มขึ้น นายกฯ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามขอให้ช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นทางการแพทย์ของไทย เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อลดข่าวปลอม ทั้งให้กระทรวงพาณิชย์ เข้าไปดูแลและแก้ไขปัญหา เรื่องอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะเรื่องการนำเข้าจากต่างประเทศ ต่อมา เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19. ) หรือ ศบค. แถลงผลการประชุมว่า นายกฯมอบหมายให้ตนเป็นเลขาฯ และในที่ประชุมนายกฯ ได้แจ้งถึงสาระสำคัญการแพร่ระบาดสถานการณ์โควิด-19 ดำเนินมาถึงจุดที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อระดมทุกสรรพกำลังหยุดยั้งการแพร่ระบาด และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยนายกฯให้แนวทางการทำงาน 6 ข้อ คือ 1.ให้ผู้รับผิดชอบงานแต่ละด้านเสนอแผน และแนวทางปฏิบัติโดยระเอียด 2.ให้บูรณาการจัดระบบความร่วมมือดึงทุกภาคส่วนในสังคม 3. ติดตามผลกระทบที่เกิดกับประชาชนทุกกลุ่มจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเสนอแนวทางแก้ปัญหาพร้อมกับมาตรการเยียวยา 4.ให้ความเชื่อมั่นระบบการแพทย์ต่อประชาชน พร้อมระดมสรรพกำลัง ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ทั้งจากรัฐและเอกชน ซึ่งวันนี้ที่ประชุมเน้นย้ำเรื่องเวชภัณฑ์ สถานพยาบาล ที่ขาดแคลนไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องประสานกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ในข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการนำเข้า เป็นต้น 5. เน้นสื่อสารในยามวิกฤติ ประสานผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และสื่อมวลชน เพื่อให้ความรู้กับประชาชน โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างของบุคคลในสังคม และ6. เรื่องงบประมาณขอให้ทุกส่วนราชการ ปรับแผนโครงการ เพื่อเน้นเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ปลัดกระทรวงต่างๆ ได้นำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งการประชุมวันนี้ ภาพรวมได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี และยังมีรัฐมนตรีว่าการทุกกระทรวงเข้าร่วม โดยในภาคนโยบายและภาคปฏิบัติลงรายละเอียดกันทุกเรื่อง โดยเฉพาะสาระสำคัญ เรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ต่อสู้กับเชื้อโรคให้ออกไปจากแผ่นดินไทย เรื่องนี้ลงรายละเอียดเป็นอย่างมาก และได้รายงานเพื่อให้ลดข้อจำกัดต่างๆ เรื่องการนำเข้า เรื่องภาษี และการจัดส่ง ซึ่งล้วนถูกแก้ไขแล้วทั้งสิ้น ทั้งนี้ นายกฯให้แนวทางการประชุมของศบค.ในช่วงต้นให้มีประชุมศบค.ทุกวันใช้เวลาวันละ 1 ชั่วโมง เพื่อให้การทำงานกระชับ และกลับไปปฏิบัติ อย่างไรก็ตามสำคัญที่สุด นายกฯห่วงใยสุขภาพประชาชนทุกคน แต่ประชาชนต้องให้ความร่วมมือตามข้อปฏิบัติต่างๆ ช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19ไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคมจะทำให้โรคระบาดยุติโดยเร็ว นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมไม่ได้พิจารณาออกข้อกำหนดเพิ่มเติมแต่อย่างใด รวมถึงเรื่องการเคอร์ฟิวหรือห้ามประชาชนออกจากบ้านในเวลาที่กำหนด ยังไม่ได้มีการหารือในที่ประชุมวันนี้ แต่แนวทางต่างๆมีการเสนอมาหลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกจากมาตรการเบาไปหาหนัก ถ้าประชาชนร่วมมือก็ไม่ต้องใช้กฎอะไรมาบังคับเลย ด้าน พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคง กล่าวว่า ขณะมีการจัดตั้งจุดควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั่วประเทศแล้ว 357 จุด ส่วนเส้นทางเข้า-ออกในพื้นที่กทม.มี 7 จุด ทั้งนี้จุดตรวจทุกจุด ส่วนใหญ่จะเป็นตำรวจและฝ่ายปกครอง แต่จะมีทหารเข้าร่วมจุดตรวจในพื้นที่กทม. ซึ่งจุดตรวจดังกล่าวจะดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามข้อแนะนำที่สาธารณสุข เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม และการสวมหน้ากากอนามัย หลังจากนี้ถ้ามีการกำหนดข้อปฏิบัติเพิ่มเติม เช่น ถ้ากระกระทรวงพาณิชย์กำหนดสินค้าควบคุมเพิ่มเติมก็จะตรวจตราตรงนี้ ซึ่งการคัดกรองจะต้องค่อยเป็นค่อยไป ยืนยันเราจะอำนวยความสะดวกประชาชนให้ได้มากที่สุด ที่ผ่านมาภาครัฐเชิญชวนให้ประชาชนปฏิบัติตัวป้องกันโรคหลายอย่าง แต่ทุกคนยังใช้ชีวิตปกติ จึงทำให้ตัวเลขสูงขึ้นหลังจากนี้ถ้าเชิญชวนแล้วไม่ปฏิบัติ รณรงค์แล้วไม่ทำตัวเลขก็จะยิ่งสูงขึ้น และไม่รู้ตัวเลขจะจบตรงไหน จึงเป็นที่มาของการกำหนดมาตรการขณะนี้ยังไม่ปิดประเทศ ปิดเมือง และปิดการสัญจร แต่ถ้าพฤติกรรมยังไม่เปลี่ยนและตัวเลขสูงขึ้นก็จะนำไปสู่การปิดประเทศ ผลกระทบดำเนินชีวิตของประชาชนจะสูงขึ้น “ถ้าไม่ปิดประเทศโดยบังคับ โดยประชาชนสมัครใจปิดตัวเองไม่ไปไหนมาไหน ไม่ดีกว่าหรือ มาถึงตรงนี้ทุกคนอยากให้โควิด-19 ผ่านพ้น” พล.อ.พรพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า วันนี้อยากขอความร่วมมือนายจ้าง หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาแนวทางเหลื่อมเวลา ลดเวลาการทำงาน ป้องกันการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก วันพฤหัสบดีคิด วันศุกร์สั่ง เสาร์ และอาทิตย์ก็ขอให้อยู่กับบ้าน ถ้าทุกคนทำด้วยความสมัครใจตามคำแนะนำอยากให้รอดูผลที่จะเกิดขึ้น เพราะตัวเลขนับพันที่เกิดขึ้นในขณะนี้เกิดจากความหละหลวม ไม่ทำตามคำแนะนำเมื่อ 10 วันก่อน สิ่งที่จะทำวันนี้ก็จะส่งผลถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อใน 10 วันข้างหน้า และจากการประเมินถ้าทุกคนทำตามคำแนะนำแพทย์อย่างเคร่งครัดผู้ติดเชื้อจนถึงวันศุกร์หน้าจะอยู่ที่ 2,000 ราย แต่ถ้าไม่ปรับวิธีดำเนินชีวิตตัวเลขจะสูงถึง 7,000-10,000 ราย เมื่อถามว่า รัฐบาลสั่งห้ามรวมตัวกันในวันที่ 3 มี.ค. แต่หลังจากนั้นมีการจัดมวยทำให้ผู้ที่ติดเชื้อจำนวนมาก พล.อ.พรพิพัฒน์ กล่าวว่า มีเรื่องของอดีต และมีเรื่องของวันข้างหน้า สิ่งที่ตนพูด เป็นเรื่องของวันข้างหน้า แต่ยอมรับเกิดจากความพบพร่องผู้ไม่รัดกุม ผู้เกี่ยวข้องจะตรวจสอบต่อไป และไม่ขอลงไปถึงส่วนที่ผ่านไปแล้ว ขณะที่ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากที่มีการเริ่มตั้งด่านตรวจ ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อเที่ยงคืนของวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีด่านตรวจทั่วประเทศ 357 จุด โดยเป็นเส้นทางเข้าออกในกรุงเทพฯ 7 จุด ทั้งนี้จากการประชุมของตำรวจเมื่อช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ จะมีการเพิ่มเส้นทางเข้า-ออกในกรุงเทพฯอีก 5 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 ถนนเพชรเกษม รอยต่อจังหวัดนครปฐม จุดที่ 2 ถนนบางนา-9ราด รอยต่อจังหวัดสมุทรปราการ จุดที่ 3 ทางยกระดับบูรพาวิถี จุดที่ 4 ถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณอนุสรณ์สถาน และจุดที่ 5 ทางยกระดับดอนเมือง-โทลล์เวย์ อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่จำเป็นต้องเดินทางขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขคือ พกบัตรประชาชนติดตัว สวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างที่นั่งบนรถ 1 เมตร และถ้าหากมีกลุ่มเสี่ยงอยู่ในรถเจ้าหน้าที่จะเชิญตัวลงมาจากรถ เพื่อมาสอบประวัติอย่างละเอียด พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลว่า หากผ่านจุดตรวจแล้วไม่สวมหน้ากากอนามัยจะถูกปรับ 200 บาทนั้น เป็นข่าวปลอม เราไม่มีการปรับ แต่ขอแนะนำประชาชนให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อความปลอดภัย ส่วนกรณีรถขนส่งที่จำเป็น เช่น การขนส่งหนังสือพิมพ์ที่จะต้องข้ามจังหวัด ตรงนี้จะมีการตรวจอย่างไรนั้น ยังไม่มีข้อห้าม หลักๆเน้นการเดินทางในชีวิตประจำวัน ส่วนการขนส่งสินค้า และการทำงานของสื่อมวลชนสามารถแจ้งได้ที่จุดตรวจได้ ไม่ใช่การเดินทางไปสังสรรค์หรือปาร์ตี้ ในส่วนนี้หากพบเบาะแสผู้ที่ฝ่าฝืน สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนหมายเลข 1111 และ 191 ด้าน พ.อ.หญิง ฉัตรรพี พูนศรี โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) เปิดเผยว่า ตามคำสั่ง พล.อ.ประ ยุทธ์เรื่องการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.63 แล้วนั้น เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคสามและวรรคห้า แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และโดยที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2563 กำหนดให้มีหน่วยงานพิเศษเป็นการเฉพาะเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั้งนี้ นายกฯและรมว.กลาโหม จึงมีคำสั่งให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เรียกโดยย่อว่า “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด–19” เป็นหน่วยงานพิเศษ โดยมีนายกฯ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ และมี พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทสส. เป็นกรรมการและหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ซึ่งการดำเนินมาตรการใด ๆ นั้น จะเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล “ดังนั้นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) จะดำเนินมาตรการเท่าที่มีความจำเป็นเท่านั้น เพื่อให้กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะปฏิบัติหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มขีดความสามารถเพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่พี่น้องประชาชนชาวไทย และร่วมก้าวข้ามผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน” ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. กล่าวว่า หลังรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ กำกับดูแล ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นวันแรก ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ตั้งด่านตรวจ 7 จุดสำคัญ ในพื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพฯและปริมณฑล วันเดียวกัน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก(ศปก.ทบ.) ผ่านระบบวิดีโอคอนฟอร์เร้นร่วมกับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก(นขต.ทบ.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)โดยสั่งการให้ พล.อ.อยุทธ์ ศรีวิเศษ เจ้ากรมกำลังพลทหารบก (กพ.ทบ.) ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีที่มีการจัดการแข่งขันชกมวยรายการใหญ่ “ลุมพินีแชมเปี้ยนเกียรติเพชร” เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่สนามมวยลุมพินี เพื่อพิจารณาความผิดในการลงโทษ เนื่องจากถูกร้องเรียน และมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นเหตุของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19ทำให้เชื้อระบาดหนักในประเทศจนถึงขั้นวิกฤติ ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวต่อประเด็นที่ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เรียกร้องให้ใช้อำนาจประธานสภาฯ ปิดรัฐสภาชั่วคราว เพื่อยุติพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ตนยังไม่ทราบเรื่อง และยังไม่เห็นประเด็นดังกล่าว ส่วนข้อเสนอของ ส.ว.ที่ขอให้เลื่อนการเปิดสมัยประชุมสภาฯ เดือนพ.ค.นั้น ตนยืนยันว่าไม่สามารถทำได้ แต่โดยอำนาจของประธานสภาฯ สามารถสั่งงดการประชุม และเปิดประชุมเมื่อสถานการณ์วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายได้ ซึ่งตนหวังว่าในเดือนพ.ค.สถานการณ์จะดีขึ้น ส่วนการเตรียมการประชุมสภาฯนั้น เบื้องต้นได้ให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ พิจารณาวิธีการจัดประชุมที่เหมาะสม แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป นายชวน กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ได้ทำหนังสือไปยัง ส.ส.เพื่อให้ระวังตัว อย่าแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ไปยังประชาชน เพราะพบว่ามี ส.ส.ลงพื้นที่เพื่อร่วมงานต่างๆ เช่น งานศพ เพราะขณะนี้การแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว กระจายไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดแล้ว และหาก ส.ส.ติดเชื้อแต่ยังพบปะประชาชน อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ ดังนั้น ได้เตือนว่าอย่าประมาท ทั้งนี้ การทำหนังสือเตือนให้ระวังตัวนั้นเป็นหนังสือฉบับที่สอง หลังจากที่ก่อนหน้านี้แจ้งให้ ส.ส.ร่วมให้ความรู้ต่อการระวังตัวและรักษาสุขภาพของประชาชนในต่างจังหวัด “สำหรับการกระจายข้อมูลข่าวสาร ผมขอให้วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา เผยแพร่วิธีการป้องกันและรักษาสุขภาพช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด ไปยังประชาชน เพื่อให้ประชาชนที่ติดตามข่าวสารของทางช่องรัฐสภารับทราบข้อมูล” ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายเกียรติภูมิ สิริพันธุ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ พร้อมด้วยตัวแทนเศรษฐกิจใหม่ประมาณ 10 คน เข้ายื่นเรื่องต่อ กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบการประชุมใหญ่ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีความพยายามของกลุ่มบุคคลที่จะเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรค โดยในการประชุมใหญ่เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค มีการปิดกั้นสมาชิกพรรคไม่ให้เข้าร่วมประชุม แต่พบว่ามีการจ้างให้ชาวบ้านเข้าร่วมประชุมเพื่อยกมือโหวตเลือกกรรมการบริหารพรรค ทั้งที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค นอกจากนั้นยังพบว่ามีการปลอมแปลงลายเซ็นของสมาชิกพรรคอีกด้วย โดยเรื่องดังกล่าว กกต.ได้สั่งให้การประชุมครั้งนั้นเป็นโมฆะแล้ว แต่หลังจากนั้นกลุ่มว่าที่กรรมการบริหารพรรคดังกล่าว กลับมีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพรรค โดยมีการปิดศูนย์ประสานงานพรรคที่เดิมมีกว่า 70 แห่ง แต่ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 10 แห่ง และมีการเปลี่ยนสมาชิกพรรคที่เป็นเจ้าหน้าที่สาขาของพรรคทั่วประเทศ รวมทั้งมีการขับสมาชิกออกจากพรรค เนื่องจากผู้ร่วมก่อตั้งพรรคและสมาชิกพรรคหลายคน พยายามตรวจสอบรายชื่อสมาชิกพรรค แต่บางส่วนไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงเชื่อว่าอาจจะถูกตัดชื่อออกหรือเปลี่ยนบุคคลไปแล้ว โดย นายเกียรติภูมิ กล่าวว่า เรื่องนี้เหมือนโควิด-19 ในพรรคเศรษฐกิจใหม่ หากไม่ดำเนินการอาจจะทำให้พรรคถูกยุบได้ เพราะเป็นการทำให้พรรคเสียหายทั้งที่พรรคเศรษฐกิจใหม่ไม่มีความผิด เพียงแต่มีกลุ่มคนที่ต้องการผลประโยชน์ในการร่วมรัฐบาลเท่านั้น อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ทั่วประเทศได้มีการปลดว่าที่กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันออกจากตำแหน่ง และได้มีการจัดประชุมสมาชิกพรรคที่จัดกันเอง ได้เลือกตนเองเป็นหัวหน้าพรรคแล้ว และตนพร้อมที่จะนำพาพรรคเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต