วันที่ 26 มีนาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.ท.ดร.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร./โฆษก ตร. เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลความสงบเรียบร้อย สนับสนุนการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งประสานการปฏิบัติกับ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนของการปฏิบัติของทหาร-ตำรวจ และประสานงานการปฏิบัติกับกลไกหลักของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศผ่าน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรประจำจังหวัด (กอ.รมน.จังหวัด) โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นผู้ควบคุม พล.ต.ท.ดร.ปิยะ กล่าวว่า สำหรับมาตรการดูแลความสงบเรียบร้อย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร กอ.รมน. ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข ขนส่ง รวมทั้งอาสาสมัครต่างๆ ในการตั้งจุดตรวจเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) ตามถนน เส้นทางคมนาคม สถานีขนส่งหรือโดยสาร ป้องกันเหตุ การก่ออาชญากรรม และการรวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคหรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค โดยได้กำหนดจุดตรวจทั่วประเทศ จำนวน 359 จุด ใช้กำลังตำรวจ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่น รวมกำลังพลกว่า 3,๐๐๐ นาย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้มอบแนวทางในการตั้งจุดตรวจเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อควบคุมให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่ไม่เดินทางข้ามจังหวัดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ ควบคุมบุคคลกลุ่มเสี่ยงไม่ให้เดินทางออกนอกพื้นที่ รวมถึงควบคุมการแพร่กระจายภายในเขตจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ที่มีประชาชนรวมตัวกันหนาแน่น เช่น สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ ตลาดสด ซุปเปอร์มาร์เก็ต สวนสาธารณะ หรือ สถานที่จัดกิจกรรมทางศาสนา เป็นต้น โดยในการปฏิบัติได้เน้นย้ำการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ให้ใช้กิริยาวาจาสุภาพ ชี้แจงวัตถุประสงค์ในการตรวจคัดกรองให้ประชาชนทราบ บันทึกภาพผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ตลอดเวลา โดยให้กระทบกับการจราจรให้น้อยที่สุด พล.ต.ท.ดร.ปิยะ กล่าวฝากประชาสัมพันธ์ ไปยังพี่น้องประชาชน ดังนี้ ว่า 1.ประชาชนที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทาง ให้อยู่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต 2.งดเว้น การเดินทางข้ามเขตจังหวัด หากจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจคัดกรองและปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด เช่น พกบัตรประจำตัวประชาชน ตรวจวัดอุณหภูมิ สวมหน้ากากอนามัย ติดตั้งแอพพลิเคชั่นติดตามตัว การเดินทางให้เว้นระยะห่างในการนั่งหรือยืน ทั้งนี้หากตรวจพบว่าเป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยงหรือมีไข้จะต้องถูกกักตัว 3.ห้าม เข้าไปในพื้นที่หรือสถานที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ตามที่กำหนดในมติคณะรัฐมนตรี รวมถึงตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคประกาศ 4.ห้าม การกักตุนสินค้า ยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม หรือสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน 5.ห้าม การชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกัน หรือยุงยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย 6.ห้าม Fake News หรือการเสนอข่าวทำแพร่ข่าวปลอม ที่เกี่ยวกับไวรัสโควิด – 19 7.การจัดกิจกรรมหรือพิธีการทางสังคมตามประเพณีนิยม ยังคงจัดได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กำหนด พล.ต.ท.ดร.ปิยะ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้หากฝ่าฝืน มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือ พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ด้วย หากประชาชนพบเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าวต่างๆ สามารถแจ้งมายัง สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือ หมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 191,1599 สายด่วน สคบ. หมายเลข 1166 และกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หมายเลข 021422555 หรือผ่านทาง แอปพลิเคชั่น Police I lert U ได้ตลอด 24 ชั่วโมง