“ก.แรงงาน”เร่งช่วยเหลือปชช.-ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบโควิด-19ระบาด พร้อม “จ่ายค่าทดแทนการขาดรายได้-ลดเงินสมทบ-ตั้งศูนย์พาร์ทไทม์-ฝึกอาชีพครัวเรือนทั้งในและนอกระบบ” ด้าน“สนธิรัตน์”ย้ำคืนเงินประกันไฟฟ้า โดยการดูแลยังเหมือนเดิม เมื่อวันที่ 25 มี.ค.63 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เป็นประธานการแถลงข่าวถึงมาตรการเร่งด่วนของกระทรวงแรงงาน เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมาได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด–19โดยในด้านต่างประเทศ กระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้ทูตฯแรงงาน สำนักงานแรงงานไทย ในต่างประเทศ (สนร.) ทั้ง 12 แห่ง จัดทำฐานข้อมูลของแรงงาน เพื่อสำรวจข้อมูลแรงงานไทยที่เดินทางกลับประเทศไทย โดยจัดทำทะเบียนประวัติของแรงงาน เพื่อช่วยเหลือตามความต้องการ นอกจากนี้กรมการจัดหางานมีมาตรการชะลอการอนุมัตินำเข้าแรงงานต่างด้าวทุกขั้นตอนตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.63 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการด้านการป้องกันการแพร่ระบาดภายในประเทศ โดยผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.63 มาตรการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ของบุคลากรและรณรงค์ให้สถานประกอบการใช้มาตรการดังกล่าว รวมทั้งการให้บริการประกันสัง คมผ่าน E-Service และ E-Payment เพื่อลดความเสี่ยงในการเดินทางมาติดต่อขอรับบริการที่สำนักงาน ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการเยียวยาลูกจ้างผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน เนื่องจากมีเหตุสุด วิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน แต่ไม่เกิน 180 วัน กรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการชั่วคราว และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้าง ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 60 วัน ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มี.ค.-31 ส.ค.63 กรณีเจ็บป่วยเป็นโควิด-19สามารถรักษาฟรีได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ การลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนในส่วนของนายจ้าง จากเดิมร้อยละ 5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือร้อยละ 4 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนจากเดิมร้อยละ 5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือร้อยละ 1 เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือนมี.ค.-พ.ค.63 ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานยังมีมาตรการเยียวยาแก่แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ ร้านค้า สถานประกอบการที่หยุดกิจการชั่วคราว ได้จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางาน Part-time เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้ที่ต้องการทำงานแบบรายชั่วโมง และบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่สถานประกอบการ นอกจากนี้จะฝึกอบรมอาชีพเศรษฐกิจพอเพียงในครัวเรือน ให้แก่กลุ่มแรงงานนอกระบบ เพื่อให้สามารถนำทักษะความรู้ไปประกอบอาชีพอิสระได้ ฝึกโดยกรมการจัดหางาน 2,000 คน เมื่อฝึกจบแล้วจะมอบเครื่องมือทำกินให้สามารถนำไปต่อยอดให้มีอาชีพ มีรายได้ ส่วนกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีเป้าหมายการฝึก 7,800 คน โดยระหว่างฝึกมีเบี้ยเลี้ยงให้วันละ 150 บาท รวมกลุ่มเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 9,800 คน ด้าน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า หากเจ้าของบ้านรับคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้าแล้ว ต่อไปถ้ามิเตอร์ไฟฟ้าชำรุด เจ้าของบ้านต้องเสียเงินเปลี่ยนมเตอร์เอง ว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยว ข้องกัน ผู้ใช้ไฟฟ้ายังได้บริการจาก 2 การไฟฟ้าเช่นเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งการคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า ไม่ใช่การคืนเงินประกันมิเตอร์ โดยตัวมิเตอร์ถือเป็นสินทรัพย์ของ 2 การไฟฟ้า ซึ่งข้อกำหนดปัจจุบันหากมีการชำรุดเสียหาย โดยระบบตัวเครื่อง หรือจากภัยธรรมชาติ ทั้ง 2 การไฟฟ้าจะดำเนินการสับเปลี่ยนให้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ยกเว้นมิเตอร์ชำรุดที่เกิดจากการกระทำและขอย้ำว่าการลงทะเบียนคืนเงินไม่มีการปิดเวลาลงทะเบียนขอคืนเงินแต่อย่างใด