ลูกจ้างนอกประกันสังคมใจชื้น “รัฐบาล”ช่วยเยี่ยวยาแจกเงินให้เดือนละ 5 พันบาท 3 เดือน เริ่มลงทะเบียน 28 มี.ค.นี้ ด้าน “ธนวรรธน์”ยันเมืองไทยจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลดแพร่ระบาดโควิด-19 คาด “กนง.” ลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24มี.ค.63 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ แถลงหลังนายกฯ ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า รัฐบาลเตรียมมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสานพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ในระยะที่ 2 โดยจะสนับสนุนเงินคนละ 5 พันบาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.63) ผ่านการลงทะเบียนแสดงความจำนงตรวจสอบคุณสมบัติและการโอนเงินผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์ตามเลขบัตรประจำตัวประชาชน โอนเข้าบัญชีธนาคาร กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 28 มี.ค.นี้เป็นต้นไป ส่วนวิธีการขอรับความช่วยเหลือจะเป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งผู้ที่จะได้รับเงินสนับสนุนดังกล่าว ต้องเป็นแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จากการปิดพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดชั่วคราว คาดว่ามีจำนวน 3 ล้านคน สำหรับผู้อยู่ในระบบประกันสังคมจะเพิ่มสิทธิกรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้าง โดยกรณีแรกนายจ้างไม่ให้ทำงาน กรณีนี้จะรับเงินไม่เกิน 180 วัน กรณีที่สองกรณีรัฐสั่งหยุด รับเงินไม่เกิน 90 วัน อีกทั้งรัฐบาลยังจัดสรรสินเชื่อ 1 หมื่นบาทต่อราย วงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อเดือน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขณะเดียวกันยังเตรียมสินเชื่อพิเศษอีก 5 หมื่นบาท สำหรับผู้ที่ยังไม่เพียงพอ โดยในส่วนนี้เตรียมวงเงินรวมไว้ 2 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน โดยไม่ต้องมีหลักประกัน ทั้งนี้สำนักงานธนานุเคราะห์ ยังรับจำนำโดยคิดดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 2 พันล้านบาท คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นมาตรการจำเป็นที่นานาประเทศใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้ดี เพราะจากสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศขณะนี้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาครัฐจำเป็นต้องใช้มาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้ลดลงโดยเร็วที่สุด โดยขณะนี้ประชาชนรับรู้ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นและความจำเป็นในการใช้มาตรการที่เข้มงวด ขณะที่ฝั่งรัฐบาลเชื่อว่าจะมีมาตรการรองรับที่ชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ เพื่อลดความสับสนของประชาชนเหมือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามยอมรับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลกระทบต่อเศรฐกิจแน่นอน แต่จะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับระยะเวลาการใช้ ซึ่งจากสถานการณ์ขณะนี้มองว่าในช่วงไตรมาส 1 และ 2 เศรษฐกิจไทยจะหดตัว 1-2% สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงินหรือ กนง.ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ มีโอกาสสูงที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% แม้ก่อนหน้านี้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายฉุกเฉินไปแล้ว 1 ครั้ง รวมทั้งการออกมาตรการเสริมสภาพคล่องกองทุนตราสารหนี้ไปก่อนหน้านี้ โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะดึงให้ธนาคารปรับลดดอกเบี้ยตาม ส่งผลดีต่อต้นทุนภาระของเอกชนและการปรับโครงสร้างหนี้ต่างๆในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้