“บิ๊กตู่”ใช้ยาแรงประกาศ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” เริ่ม 26 มี.ค.นี้ เป็นเวลา 1 เดือน สู้“โควิด-19”ระบาดทั่วประเทศ พร้อมประเดิมตั้ง “ศอฉ.” จัดคณะทำงาน แย้มมาตรการมีทั้งขอความร่วมมือ-บังคับ ขู่ถ้ายังแก้ไม่ได้ “ปิดล็อก” หมด เตือน“นักเลงคีย์บอร์ด” ปล่อยเฟกนิวส์ โดนแน่ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 มี.ค.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ทางไกลผ่านจอภาพ หรือระบบวิดีโอคอนเฟอเร้นซ์ ซึ่งก่อนการประชุม ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้จะพิจารณาประกาศใช้พระราชบัญญัติ การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุก เฉิน) พ.ศ.2548หรือให้อำนาจทหารเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน นายกฯ กล่าวว่า ใจเย็นๆ รอประชุมก่อน ต่อมา เมื่อเวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงมาตรการเพิ่มเติมในการรับมือไวรัสโควิด-19 ว่า รัฐบาลได้พิจารณามาโดยตลอด เรื่องการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 วันนี้ จะนำพ.ร.ก.ดังกล่าวมาประกาศ ใช้ในวันที่ 26มี.ค.นี้ ซึ่งวันนี้ได้หารือมาตรการที่จำเป็นแล้ว ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการจัดระเบียบเรื่องการทำงาน ยกระดับเป็นศูนย์ฉุกเฉินในเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19 หรือเรียกง่ายๆ ว่า ศอฉ.โควิด-19 ซึ่งข้างล่างจะมีคณะทำงานสอดประสานกันโดยมีปลัดกระทรวงของแต่ละภารกิจเป็นหัวหน้าส่วนงานรับผิดชอบ เพื่อติดตามมาตรการที่ประกาศไว้เดิม อาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอะไรก็ว่ากันไป ทั้งนี้จะมีการเสนอมาตรการเพิ่มเติมมาที่ศอฉ.โควิด-19 โดยตนเป็นผู้อนุมัติ เพราะอำนาจทางกฎหมาย 38 ฉบับของทุกกระทรวงมาอยู่ที่นายกฯ หมด เป็นการบูรณาการอย่างแท้จริงในการบริหารงานตรงนี้ ฉะนั้น การทำงานตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 26 มี.ค. เวลา 09.30 น. จะมีการประชุม โดยนำหัวหน้าส่วนราชการทั้งหมดมาเสนอ รายงานสถานการณ์ให้ทราบถ้ามีอะไรเพิ่มเติมจะประกาศออกไปเป็นข้อกำหนดเพิ่มเติม นายกฯ กล่าวว่า ส่วนข้อกำหนดตนกราบเรียนว่าเมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว สิ่งสำคัญคือจัดตั้งคณะทำงาน ผู้รับผิดชอบภายในศูนย์ฯ ว่าจะทำงานกันอย่างไร ประเด็นสำคัญคือข้อกำหนดที่ทุกคนอยากทราบว่ามีอะไรบ้าง ต้องขอเรียนว่าข้อกำหนดนั้นสามารถออกได้ตลอดเวลา ทุกวัน ดังนั้น ระยะที่ 1ที่จะประกาศนั้นคือการทำอย่างไรที่จะลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ อาจจะเป็นการขอความร่วมมือหรือบังคับบ้างอะไรบ้าง แต่ในส่วนที่ว่าจะปิดจะเปิดอะไรต่างๆ จะเป็นมาตรการในระยะต่อไป อาจจะเข้มข้นขึ้น อยู่ที่ความร่วมมือของประชาชน ตนไม่อยากให้ใครเดือดร้อน แต่สถานการณ์มีความจำเป็นเพื่อสุขภาพประชาชนโดยรวม "รัฐบาลมีความมุ่งมั่นเต็มที่ที่จะดูแลสุขภาพประชาชนให้ได้มากที่สุด ขอความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ที่ออกไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขอความร่วมมืออย่าเพิ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา หากจะต้องกลับจะต้องเจอมาตรการต่างๆ การคัดกรอง การตรวจสอบระหว่างทางมากมาย ซึ่งจะแบริเออร์สำคัญในการป้องกันเวลานี้ เช่นเดียวกับการที่เราทำมาตลอดกับคนที่เดินทางจากต่างประเทศ จะต้องมีการกักตัวที่บ้าน หรือในพื้นที่ หากมีความจำเป็นจะต้องกักตัวในสถานที่ของรัฐเพิ่มเติม หากมีการพบผู้ติดเชื้อมากขึ้นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องหามาตรการอื่นรองรับ ไม่ว่าโรงพยาบาลสนาม พื้นที่กักตัวขนาดใหญ่เป็นร้อยเป็นพัน ในเรื่องเวชภัณฑ์ต่างๆ ก็ต้องจัดหาให้เพียงพอ วันนี้แม้จะมีการช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้ามาแต่ยังไม่เพียงพอกับสิ่งที่เราต้องการในขณะนี้ จึงต้องจัดซื้อจัดหาเพิ่มเติม และจะซื้อจากที่ไหนในเมื่อทุกประเทศมีความต้องการสิ่งต่างๆ เหล่านี้มากในปัจจุบัน อันนี้จะเป็นการหารือในแต่ละวันในศอฉ. ขอให้ทุกคนอย่าตื่นตระหนก วันนี้ถ้าตื่นตระหนกมันก็คือปัญหา ขอให้ฟังรัฐบาลในการให้ข่าวข้อมูล ซึ่งจะมีการให้ข้อมูลทั้งวันในสื่อโซเชียลต่างๆ ตั้งแต่เช้าถึงเย็นจะมีศูนย์บัญชาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุข คมนาคม ต่างประเทศ ซึ่งจะแถลงทั้งวัน จะมีช่องทางให้ทุกคนสอบถาม และทางศอฉ. จะสรุปประเด็นสำคัญแต่ละวันให้ประชาชนทราบด้วย ขอให้รีบฟังช่องทางรัฐบาลเป็นหลัก" นายกฯ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างหลังประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ขอให้ทุกคนระวังการใช้สื่อโซเชียล การให้ข่าวสารบิดเบือน เดิมใช้กฎหมายปกติอยู่ แต่จากนี้จะแต่งตั้งเจ้าพนักงาน พลเรือน ตำรวจ ทหาร จัดตั้งด้านตรวจ จุดสกัด เตรียมพร้อมช่วยเหลือส่วนต่างๆในการทำงาน “จะมีการปรับมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ถ้ายังไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ก็จำเป็นต้องปิดล็อกต่างๆ ทั้งหมด อันนี้ขอให้เป็นไปตามขั้นตอนแล้วกัน” นายกฯ นายกฯ กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาออกมาในวันนี้ ทั้งคนในระบบประกันตนและนอกระบบประกันตน เราทำถึงประชาชนทุกกลุ่ม ขอให้เข้าใจและฝากสื่อด้วย ผู้ที่ใช้โซเชียลในการบิดเบือนต่างๆ จะต้องได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทุกคนมีอำนาจในทางคดีอาญาด้วย สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ ไม่ว่าจะกักตุนสินค้าหรืออะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ รวมถึงการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค สิ่งเหล่านี้จะมีความเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ จึงขอเตือนไว้ด้วย ตนเข้าใจว่าประชาชนทุกคนรักประเทศเหมือนกัน แต่ต้องรักในวิธีการที่ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมายและขอให้เชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล อันนี้เป็นสิ่งที่ตนจะขอร้อง เมื่อถามว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีระยะประกาศใช้ถึงเมื่อไร นายกฯ กล่าวว่า “เดือนนึง” ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่รัฐบาลจะประกาศใช้เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 26 มี.ค.นั้น ก็เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบได้มีเวลาเตรียมตัว ส่วน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงกรณีกระแสข่าวที่จะมีการประกาศการห้ามออกจากเคหะสถาน หรือเคอร์ฟิว หลังมีการประกาศพ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่จะมีการบังคับใช้ในวันที่ 26 มี.ค.นี้ ว่า ในที่ประชุมไม่ได้มีการหารือเรื่องการประกาศเคอร์ฟิว ตนบอกได้เท่านี้ ส่วนรายละเอียดต่างๆ จะมีการประกาศมาตรการต่างๆ ออกมาต่อไป ซึ่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการหารือในรายละเอียดเบื้องต้นเช่น การกำหนดไม่ให้เข้าไปในพื้นที่เสี่ยง อาจมีคำแนะนำไม่ให้เดินทางข้ามเขตจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ดำเนินการอยู่ อาจจะมีการปิดพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม โดยขึ้นอยู่กับอำนาจการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด อาจจะมีการปิดช่องทางเข้าประเทศไทยที่มีการดำเนินการไปแล้วตามด่านต่างๆ แต่ยังคงให้ชาวต่างชาติเดินทางออกนอกประเทศได้ ด้าน นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้รอมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาในวันที่ 26 มี.ค.นี้ ยืนยันว่ายังไม่มีการประกาศเคอร์ฟิว และไม่มีการหารือเรื่องนี้ในครม.