จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ และส่งผลกระทบต่อบริษัทนำเที่ยวโรงแรมที่พัก ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร เป็นต้น จึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หาแนวทางช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว เพื่อฝ่าฟันสถานการณ์ดังกล่าวไปด้วยกัน พร้อมปฏิบัติเพื่อยุติโควิด-19 ทั้งนี้ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ในกรณีที่ประชุมครม.มีมติให้ประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจะประกาศใช้วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 1 เดือน ว่า เวลานี้ประเด็นหลักของ ททท.จะมุ่งไปที่ การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในมาตรการของทางรัฐบาลที่กำหนดออกมา เพื่อให้แน่ใจว่าประเทศไทยจะยุติการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ และทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็งต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องการสนับสนุนการประกาศของรัฐบาลอย่างชัดเจนที่จะให้คนไทยอยู่ที่บ้านและจำกัดการเดินทางเพื่อประโยชน์ของประเทศ รวมถึงมาตรการอื่นๆ อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ทางรัฐบาลจะดำเนินการให้ประเทศผ่านช่วงวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ ทั้งนี้มีเชื่อว่ามาตรการที่เข้มแข็งในระยะเวลาช่วงสั้นๆ น่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมกันนี้ได้ร่วมสร้างแนวคิดในการหามาตรการให้ผู้ประกอบการสามารถประคับประคองกิจการผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ ทั้งเรื่องการลดรายจ่ายประจำ และเพิ่มแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ พร้อมกับใช้โอกาสดังกล่าวแก้ไขปัญหาท่องเที่ยวที่สะสมภายในประเทศ เสริมสร้างการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่างๆ ในวงกว้าง ด้วยการสนับสนุนและใช้มาตรการที่จะทำให้ผู้ประกอบการอยู่รอดภายหลังวิกฤตโควิด-19 และฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งเวลานี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาของการแพร่ระบาดจะยุติ ดังนั้นในการดำเนินงานของททท.ในโอกาสต่อไป จึงต้องสังเกตที่ตัวแปรหลักสำคัญ 4 เรื่อง เพื่อเตรียมความพร้อม คือ 1. ช่วงเวลาที่การแพร่ระบาดในประเทศยุติ 2. การแพร่ระบาดในต่างประเทศที่แพร่กระจายไปทั่วโลก 3. ความพร้อมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่จะเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ น่าจะมีรูปแบบการท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนเดิม อาจจะต้องหาบรรทัดฐานใหม่เพื่อตอบโจทย์การท่องเที่ยว เช่น นักท่องเที่ยวอาจนิยมเที่ยวเป็นกลุ่มเล็กๆ สายการบินมีค่าตั๋วที่แพงขึ้น 4. การส่งเสริมการตลาด ในการสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของท่องเที่ยว พร้อมทั้งใช้โอกาสซ่อมแซม และสร้าง เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรด้านท่องเที่ยวมีงานทำต่อไป และเกิดกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ครั้งใหญ่ หวังรัฐชัดเจนในการทำงาน ด้าน นายกัมพล ตันสัจจา ผู้อำนวยการสวนนงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ในการทำงาน เพื่อยุติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่ที่ความเหมาะสมของประเทศนั้นๆ ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ทางภาครัฐน่าจะเข้าใจสถานการณ์ได้ดีที่สุด โดยช่วงที่ผ่านมาจะมีวิธีการต่างๆ ออกมาให้ประชาชนปฏิบัติ รวมทั้งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจะประกาศใช้วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 1 เดือนด้วย โดยในส่วนของสวนนงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี ยังเปิดบริการตามปกติ ทั้งนี้ได้มีการปฎิบัติตามนโยบายของทางรัฐบาลในการป้องกันการติดต่อของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ซึ่งบรรยากาศภายในสวนนงนุชยังพอมีนักท่องเที่ยวไทยในบริเวณใกล้เคียงยังเดินทางมาชมสวน และใช้บริการกิจกรรมด้านอื่นๆ ที่ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อของโรคดังกล่าว อีกทั้งด้วยลักษณะของสวนนงนุช เป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวกจึงทำให้สร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่มาเดินชมสวนในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม นายกัมพล กล่าวต่อว่า แต่ถ้าในส่วนตัว หวังที่จะให้ภาครัฐมีความชัดเจนในการทำงาน เพื่อยุติโควิด-19 เป็นลำดับขั้นตอน ทั้งในมาตรการตั้งรับเชื้อโรคในด้านสาธารณูปโภคที่ประชานต้องปฏิบัติ ควบคู่ไปกับการป้องกันด้วยตัวยาที่นำมาใช้เป็นวัคซีน ซึ่งจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ออกมาเป็นระยะ เพื่อให้คนทั้งประเทศมีความมั่นใจในความปลอดภัย และพร้อมปฏิบัติตัวไปในทิศทางเดียวกัน จัดกิจกรรมเมื่อมีสัญญาณที่ดี ขณะที่ นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร - ธุรกิจบัตรเครดิตเคทีซี หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจบัตรเคทีซีในหมวดท่องเที่ยวเวลานี้ ยังไม่มีแผนการตลาดที่ออกมารองรับกับวิกฤตโควิด-19ในครั้งนี้ ซึ่งคงจะต้องรอสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น และเริ่มมีสัญญาณกลับสู่สภาวะปกติ ก็คงน่าจะมีกิจกรรมทางการตลาดที่จัดออกมารองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจท่องเที่ยวอีกครั้ง สำหรับ นางปิ่นนาถ เจริญผล ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพัทยา กล่าวว่า ในเวลานี้คงต้องรอดูมาตรการควบคุม และการปฎิบัติตัวในการยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดผลสำเร็จสูงสุด และใช้เวลาอันสั้น พร้อมทั้งเตรียมตัวในการปฏิบัติงานหลังจากได้สัญญาณที่ดี โดยมีกิจกรรมทางการตลาดที่สามารถดำเนินการต่อได้อย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ และทั้งนั้นก็จะต้องมีนโยบายจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานใหญ่ในการเริ่มต้นการกระตุ้นด้านท่องเที่ยวต่อไป ขณะเดียวกันในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ ทางททท.สำนักงานพัทยา ร่วมกับเมืองพัทยา และหน่วยงานทางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะในต่างประเทศที่เป็นกลุ่มตลาดหลักของเมืองพัทยาก็จะมีการแปลเป็นภาษานั้นๆ ในแต่ละประเทศ ให้ทุกคนรับรู้ถึงบรรยากาศความสวยงามของพัทยา และอากาศที่สวยงามไปอย่างต่อเนื่อง