จะประกาศใช้ในระยะเวลา 1 เดือน มีผลตั้งแต่วันพฤหัสฯนี้ เพื่อยกระดับป้องกันโควิด-19 เตรียมแผนงาน 3 ประเภทปฏิบัติ เมื่อวันที่ 24 มี.ค.63 พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯกทม.เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร โดยมี นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯกทม. นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกทม. คณะผู้บริหารกทม. ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร ทั้งนี้ วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร ได้กำชับให้หน่วยงานต่าง ๆ เตรียมความพร้อมรับและปฏิบัติตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้เป็นระยะเวลา 1 เดือน และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มี.ค.63 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ กทม.ได้จัดทำร่างแผนบริหารความต่อเนื่องขององค์กรในการบริหารงานในสภาวะวิกฤต (Business Continuity Plan : BCP) เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์วิกฤต เพื่อให้หน่วยงานสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ลดผลกระทบจากการหยุดชะงักในการดำเนินงาน ลดความเสียหาย หรือจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยให้คณะทำงานพิจารณารายละเอียดร่างแผนฯ ดังกล่าวก่อนจะมีการนำมาใช้ปฏิบัติจริง ทั้งนี้จะพิจารณาแบ่งลักษณะงานออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้ ประเภทที่ 1.งานที่หน่วยงานจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถหยุดได้ และไม่สามารถปฏิบัติจากที่บ้านได้ เช่น งานทะเบียน งานรักษาความปลอดภัยและช่วยเหลือประชาชน งานรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ เป็นต้น ประเภทที่ 2.งานที่สามารถปฏิบัติงานจากที่บ้านได้โดยใช้ระบบงานพื้นฐาน เช่น การใช้ระบบอินเตอร์เน็ตเข้ามาสนับสนุนการทำงานเพื่อให้สะดวกขึ้น และเป็นงานที่ไม่ควรหยุดชะงักเป็นเวลานาน หรือเป็นงานที่สามารถมาปฏิบัติที่หน่วยงานได้เป็นครั้งคราวเท่าที่จำเป็น ซึ่งส่วนมากจะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเอกสาร เช่น งานธุรการ งานจัดทำแผน ฯลฯ ประเภทที่ 3.งานที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน สามารถชะลอ หรือระงับการดำเนินงานชั่วคราวได้ เช่น งานจัดฝึกอบรมให้ความรู้ เป็นต้น เมื่อวิเคราะห์งานตามความสำคัญหรือความจำเป็นเร่งด่วนของงานที่ต้องมาปฏิบัติในกรณีเกิดโรคระบาดแล้ว จะกำหนดแนวทางการปรับเปลี่ยนการทำงานและสถานที่ปฏิบัติงานต่อไป สำหรับความคืบหน้าการจัดทำหน้ากากอนามัยชนิดผ้าสำหรับแจกจ่ายให้ประชาชนทั่วไปเพื่อป้องกันการติดต่อและแพร่เชื้อของโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.63 เป็นต้นมา กทม.โดยโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร 8 แห่ง สำนักงานเขตร่วมกับชุมชนทั้ง 50 เขต หน่วยงานในสังกัดกทม. ศูนย์สร้างสุขทุกวัย ศูนย์กีฬา ศูนย์ฝึกอาชีพกทม. ศูนย์บริการสาธารณสุข ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ สามารถผลิตหน้ากากอนามัยชนิดผ้าได้ทั้งสิ้น 118,053 ชิ้น (ข้อมูล ณ วันที่ 24 มี.ค.63) โดยบางส่วนได้แจกจ่ายให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่กทม.เพื่อลดความเสี่ยงการได้รับเชื้อ อันเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทางหนึ่งแล้ว