โรคโควิด-19 คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนา ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่พบครั้งแรกที่เมืองอูฮั๋น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน โดยเมื่อเดือนธันวาคม ปี คศ.2019 ที่ผ่านมา ตรวจพบว่า มีผู้ป่วยที่มีการอักเสบรุนแรงที่ปอด จนนำไปสู่การเสียชีวิต แต่ก็ยังไม่ทราบว่า เกิดจากสาเหตุอะไร แต่เมื่อวันที่ 7 มกราคม คศ.2020 ก็มีการพบว่า สาเหตุที่มีการอักเสบอย่างรุนแรงที่ปอดนั้น เกิดจากไวรัสชนิดใหม่ ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนา หรือ Coronaviruses หรือจะเรียกว่า Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus 2 หรือ ชื่อย่อว่า SARS-CoV-2 ก็ได้ หลังจากนั้นก็มีการระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้ไปเกือบทั่วโลก สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล และเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ คศ.2020 องค์การอนามัยโลก ได้มีการเรียกชื่อโรคที่มีการติดเชื้อไวรัสตัวนี้ใหม่ว่า Coronaviruses disease 2019 หรือ Covid-19 ซึ่งก็คือ โรคโควิด-19 นั่นเอง คุณพงษ์ศักดิ์ สง่าศรี เภสัชกรนักวิชาการอิสระและนักการตลาดด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ เชื้อไวรัสตัวนี้ ว่า เป็นเชื้อไวรัสในตระกูลของเชื้อที่เคยก่อให้เกิดโรคระบาดเมื่อประมาณปลายปี คศ.2002 ที่ผ่านมา ที่ทำให้เกิดความผิดปกติอย่างรุนแรงในระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน ที่เรียกว่า Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus ชื่อย่อว่า SARS-CoV หรือ โรคซาร์ นั่นเอง แต่โรคโควิด-19 นี้ เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใหม่ ที่เรียกว่า Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus 2 ชื่อย่อว่า SARS-CoV 2 ที่มีความแตกต่างกับเชื้อไวรัสโคโรนาตัวเดิม ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคโควิด-19 อย่างจำเพาะหรือมีประสิทธิภาพสูงสุด การรักษาเป็นเพียงการใช้แนวทางการรักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเรื่องปอดอักเสบ และมีการนำยาต้านไวรัสบางชนิดมาใช้ในการร่วมรักษาเพื่อหวังผลการฆ่าเชื้อ ก็ได้ผลดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ซึ่งในทางการแพทย์ก็ยังต้องคิดหาทางรักษา และ คิดค้นพัฒนาวัคซีน เพื่อนำมาใช้ในการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 กันต่อไป นอกจากการใช้ยาในรูปแบบแผนปัจจุบันแล้ว ยังมีการนำแพทย์ทางเลือกมาใช้เพื่อหวังผลทั้งในเชิงรักษาและป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่นี้ด้วย โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่เคยนำการแพทย์แผนจีน หรือ Traditional Chinese Medicine หรือ TCM มาใช้เมื่อครั้งโรคไวรัสซาร์ระบาดเมื่อปลายปี คศ.2002 ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งในกรณีโรคโควิด-19 นี้ ประเทศจีนก็มีการนำ การแพทย์แผนจีน หรือ TCM มาใช้ร่วมด้วยเช่นกัน ทั้งในเชิงรักษาและป้องกัน ซึ่งสมุนไพรที่มีการพูดถึงในสรรพคุณการต้านเชื้อไวรัสมีมากมายหลายชนิด และชนิดที่มีการพูดถึงฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสด้วย ก็คือ สมุนไพรที่ชื่อว่า พลูคาว พลูคาว หรือ ผักคาวตอง เป็นพื้นท้องถิ่นของประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมประเทศไทยด้วยเช่นกัน มีประวัติการใช้มาอย่างยาวนาน รวมทั้งบรรจุในตำราการแพทย์ของจีน รวมทั้งไทยด้วย นิยมนำมาใช้ในการรักษาการอักเสบต่างๆ ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยรักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจต่างๆ รวมทั้งสาเหตุจากเชื้อไวรัสด้วย เป็นต้น ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยพบ สรรพคุณของพลูคาว ในประเด็นของการต้านเชื้อไวรัสมากมายหลายชนิด เช่น เชื้อไวรัส Herpe Simplex ที่ก่อเกิดโรคเริม, เชื้อ Influenza virus ที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่, เชื้อ Human immunodeficiency virus type 1 (HIV-1) ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และ เชื้อ SARS-CoV ที่ทำให้เกิดโรคซาร์ เป็นต้น สารออกฤทธิ์ที่สำคัญในพลูคาว เช่น สารในกลุ่มฟีนอลิก (Phenolic compounds), สารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และ สารในกลุ่มอัลคาลอยด์ (Alkaloids) โดยสารหลักในกลุ่มฟลาโวนอยด์ เช่น สาร Quercetin, isoquercitrin, rutin, hyperin, และ quercitrin ส่วนสารหลักในกลุ่มฟีนอลิก เช่น สาร Chlorogenic acid เป็นต้น ซึ่งทั้งสารกลุ่มฟลาโวนอยด์และฟีนอลิก นอกจากมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันแล้ว ยังพบฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัสด้วย ทั้งทางตรง และ ทางอ้อม สารออกฤทธิ์ในพลูคาว มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส ทั้งทางตรง และ ทางอ้อม สำหรับฤทธิ์ทางตรงการฆ่าเชื้อไวรัส หมายถึงว่า สามารถมีผลกับตัวเชื้อไวรัสได้โดยตรง เช่น สามารถยับยั้งการแบ่งตัว ทำให้เชื้อไวรัสตาย หรือ ทำให้เชื้อไวรัสหมดความสามารถในการก่อความรุนแรงต่อร่างกายคนเรา เป็นต้น ซึ่งในทางการศึกษาวิจัยจัดให้สารออกฤทธิ์ในพลูคาว อยู่ในกลุ่มยาฆ่าเชื้อไวรัส ที่เรียกว่า Protease inhibitors เหมือนกับยา Lopinavir และ Ritonavir สำหรับฤทธิ์ทางอ้อมการฆ่าเชื้อไวรัส หมายถึงว่า สามารถทำให้เชื้อตายหรือไม่อาจทำอันตรายต่อร่างกายหรืออวัยวะต่างๆของร่างกายได้ ผ่านการมีส่วนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายคนเรา มีขีดความสามารถในการจัดการทำลายเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยไม่ใช่ผลของสารออกฤทธิ์จากพลูคาวโดยตรง สำหรับฤทธิ์ทางตรงในการฆ่าเชื้อไวรัส มีการศึกษาค้นพบ ดังนี้ มีการศึกษาที่ค้นพบว่า สารออกฤทธิ์ในพลูคาว สามารถยับยั้งเอนไซม์ที่ชื่อว่า 3-chymotrypsin-like cysteine protease (3CLpro) enzyme หรือ ชื่อย่อว่า เอนไซม์ 3CLpro ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เชื้อไวรัส รวมทั้งเชื้อ SARS-CoV 2 ใช้ในขั้นตอนการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนไวรัสเมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์แล้ว และเอนไซม์นี้มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของตัวไวรัส ซึ่งปัจจุบันยาที่มีนำมาใช้รักษาหรือกำลังคิดค้น ก็เป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์มุ่งเป้าไปยับยั้งเอนไซม์ตัวนี้เช่นกัน นั่นเอง นอกจากนี้ยังพบว่า สารออกฤทธิ์ในพลูคาว ยังสามารถยับยั้งการจับกับเซลล์ในร่างกาย และยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของร่างกายได้ ทำให้เชื้อไม่สามารเข้าไปในเซลล์เพื่อก่อให้เกิดความรุนแรงต่อร่างกายหรืออวัยวะได้ (Blocking viral binding and penetration in the beginning of infection) ฉะนั้น พลูคาว จึงสามารถต้านการติดของเชื้อไวรัสได้โดยตรง ด้วยการออกฤทธิ์ผ่านกลไกต่างๆที่กล่าวข้างต้น และยังทำลายเชื้อได้โดยตรง ด้วยการเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ที่เชื้อไวรัสเอาไว้ใช้ในขั้นตอนการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวน สำหรับฤทธิ์ทางอ้อมในการฆ่าเชื้อไวรัส มีการศึกษาค้นพบ ดังนี้ มีการศึกษาค้นพบว่า สารออกฤทธิ์ในพลูคาว สามารถกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถควบคุมกระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกายที่เป็นผลจากการติดเชื้อได้ โดยเฉพาะที่บริเวณปอด ซึ่งกระบวนการอักเสบที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้นี้ จะนำไปสู่ความรุนแรงของอาการติดเชื้อที่เกิดขึ้น และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ซึ่งพบกลไกการออกฤทธิ์ของสารในพลูคาว ซึ่งมีคุณสมบัติเป็น Immunomodulators ที่สามารถช่วยปรับสมดุลการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน (Immunomodulation) ให้ทำงานตอบโต้ในกรณีที่มีการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ (Proinflammatory cytokines) ไม่ให้มีการหลั่งออกมาจำนวนมากเกินไป และนอกจากนี้ยังพบว่า ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยในการกำจัดหรือฆ่าเชื้อไวรัสได้อีกทางหนึ่ง เช่นกัน ฉะนั้น สมุนไพรอย่างพลูคาว จึงเป็นอีกสมุนไพรที่มีการศึกษาวิจัยถึงสรรพคุณเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่อง การมีสรรพคุณในเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน และ ฤทธิ์ของการฆ่าเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ ซึ่งเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา นายแพทย์มารุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ก็แนะนำ “สมุนไพรไทย เมนูอาหารไทย” ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานต้านไวรัสโควิด-19  โดยมีสมุนไพรพลูคาว เป็นหนึ่งในสมุนไพรที่แนะนำด้วย ซึ่งสมุนไพรชนิดนี้ จึงควรนำมาพัฒนาวิจัยและต่อยอดเพื่อเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพ หรือ ในทางการแพทย์ต่างๆ นั่นเอง เอกสารอ้างอิง 1. Tahir ul Qamar, M.; Alqahtani, S.M.; Alamri, M.A.; Chen, L. Structural Basis of SARS-CoV-2 3CLpro and Anti-COVID-19 Drug Discovery from Medicinal Plants . Preprints 2020, 2020020193 (doi: 10.20944/preprints202002.0193.v1). 2. Yang Y, Islam MS, Wang J, Li Y, Chen X. Traditional Chinese Medicine in the Treatment of Patients Infected with 2019-New Coronavirus (SARS-CoV-2): A Review and Perspective. Int J Biol Sci 2020; 16(10):1708-1717. 3. Hung P-Y, Ho B-C, Lee S-Y, Chang S-Y, Kao C-L, Lee S-S, et al. (2015) Houttuynia cordata Targets the Beginning Stage of Herpes Simplex Virus Infection. PLoS ONE 10(2): e0115475. doi:10.1371/ journal.pone.0115475. 4. Khanchuila Shingnaisui, Tapan Dey, Prasenjit Mannaa and Jatin Kalitaa. Therapeutic potentials of Houttuynia cordata Thunb. against inflammation and oxidative stress: A review. Journal of Ethnopharmacology.Volume 220, 28 June 2018, Pages 35-43.