“อนุทิน” ฝาก สสส. ยกระดับสื่อสารโควิด-19 สร้างความเข้าใจ “ระยะห่างทางสังคม” หนุนสธ. รณรงค์สร้างความตระหนัก เริ่มมาตรการในสนามบิน ท่าเรือ โรงพยาบาล ห่างกัน 1-2 เมตรดีกว่าปลอดภัย
วันที่ 22 มี.ค.63 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รองประธานกองทุน สสส. คนที่ 1 เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการกองทุน สสส. ครั้งที่ 3/2563 พร้อมเยี่ยมชมพื้นที่ภายในอาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ หลังจากที่มีการปรับสภาพแวดล้อมภายในอาคาร เพิ่มระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ COVID-19 โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่โรงอาหาร ชั้น 1 ลิฟท์โดยสาร ร้านน้ำชื่นใจ ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดที่บุคคลทั้งภายในองค์กร และบุคคลภายนอกเข้ามาใช้บริการ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ และสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ได้ร่วมออกเเบบพื้นที่ตามแนวคิด social distancing เพื่อเพิ่มระยะปลอดภัยจากฝอยละอองน้ำลาย 1-2 เมตร เมื่อเวลามีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และไม่รวมกลุ่มกันจำนวนมาก
นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้กำหนด 6 มาตรการเพื่อต่อสู้กับไวรัสโควิดอย่างเต็มที่ และพร้อมออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันสุขภาพของคนไทย ดังนั้นตนอยากให้มั่นใจว่าประเทศไทยมีวิชาการ มีบุคลากร มีทีมแพทย์ที่พร้อมสกัดกั้นหยุดการระบาดที่รุนแรงได้ ซึ่งที่ผ่านมา สสส. ได้ใช้ศักยภาพในด้านการสื่อสารสร้างความเข้าใจต่อสังคมในเรื่องนี้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ #ไทยรู้สู้โควิด ซึ่งได้เปิดช่องเผยแพร่ข้อมูลทั้งทางเว็บไซต์ เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ในการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องทั้งการปฏิบัติตัว การป้องกัน การแพร่เชื้อ ฯลฯ อย่างไรก็ตามอยากให้ สสส. เพิ่มความเข้มข้นในการสื่อสาร เพื่อสร้างความตระหนักความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ลดความตื่นตระหนก โดยเฉพาะการทำความเข้าใจในประเด็นระยะห่างทางสังคมเพื่อลดการแพร่ระบาด ซึ่งทราบว่า สสส.ได้ปรับแผนการดำเนินงานทั้ง 15 แผนงานเพื่อสนับสนุนการทำงานโควิดแล้ว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สำหรับมาตรการระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing social distancing ถือเป็นแนวปฏิบัติในการลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ลดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน อาทิ การเว้นระยะระหว่างบุคคล 6 ฟุต (1.82 เมตร) การเว้นระยะห่างในระหว่างการสื่อสาร หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการโต้ตอบอย่างใกล้ชิด การหลีกเหลี่ยงพื้นที่แออัด อาทิ โรงเรียน โรงภาพยนต์ กิจกรรมหลีกเลี่ยงการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนที่มีแนวโน้มต้องอยู่ร่วมกับบุคคลจำนวนมาก เบื้องต้นทาง สสส. จะสนับสนุนแนวทางนี้ให้กับโรงพยาบาล เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และประชาชนที่ต้องอยู่ในกลุ่มคนจำนวนมาก เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโรค ซึ่งแนวทางมาตรการระยะห่างทางสังคม มีข้อมูลยืนยันได้ผลลดการเสี่ยงแพร่ระบาด เช่นที่ประเทศจีนก็ใช้วิธีนี้ในช่วงเกิดโควิด-19 แพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม ในการป้องกันตัวเองที่รณรงค์ให้ความรู้ก่อนหน้านี้ กินร้อน ช้อนกลางที่เป็นช้อนกลางส่วนตัว ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัย ก็ต้องไม่ละทิ้ง
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สสส. ได้นำแนวคิดดังกล่าว แปลงข้อมูลจัดทำในรูปแบบอินโฟกราฟฟิก เพื่อสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจง่าย เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ตามสถานที่ต่างๆ เช่น สนามบิน ท่าเรือ โรงพยาบาล ฯลฯ นอกจากนี้ ได้จัดทำคลิปวีดีโอ ป้องกันตัวจากโควิด-19 เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย โดยสสส.วางมือจากงานอื่น มาร่วมต่อสู้กับโรคระบาดใหม่นี้เคียงข้างหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศ เน้นสื่อสารข้อมูลที่น่าเชื่อถือ โดยใช้แฮชแท็ค #ไทยรู้สู้โควิด เป็นงานเร่งด่วน