นายพิเชฐ​ เจียรมณีทวีสิน​ นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย​ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ค"นักคณิตศาสตร์ประกันภัย-ทอมมี่แอคชัวรี​ Actuary อยู่ที่ABS บริษัทแอคชัวรีบิสซิเนส​ โซลูชั่น​ จำกัด"ถึง​ 5 จุดบอดของประกันโควิด-19 ต้องระวัง บริษัทประกันก็ขาดทุนได้​ โดยมีเนื้อหารายละเอียดว่า จุดขาดทุน ที่ 1 (บทเรียนจากน้ำท่วม vs นโยบายภาครัฐ) บทเรียนจากน้ำท่วม ก็เคยพิสูจน์มาแล้วให้รู้ว่าปัจจัยภายนอกจากการจัดการบริหารนั้น ไม่สามารถใช้สถิติมาจับได้ ตัวอย่างสมมติสำหรับเคสโควิดเลย เช่น มีการ locked down กันช้าเกินไป หรือ มีกลุ่มคนต่อต้านการกักตัวเองขึ้นมา ทำให้มีการติดเชื้อกันมากเหมือนอิตาลี เป็นต้น โดยสถานการณ์ต่างๆ นั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ แต่อยากจะให้มองในมุมที่ว่า โอกาสในการติดเชื้อนั้น อาจจะเป็นได้ตั้งแต่ 1% ไปจนถึง 80% ในชั่วข้าวคืน จากนโยบายการจัดการได้ทุกเมื่อ. ต้นทุนการเคลมของแบบประกันตัวนี้จึงไปผูกติดกับประสิทธิภาพการจัดการของรัฐบาลเสียมากกว่า. ในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าที่ประกันโควิด-19 ยังคุ้มครองอยู่ อาจจะมีคนไทยติดเชื้อทั้งหมดกันแค่ไม่เกิน 2 หมื่นคน หรืออาจจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 10 ล้านคนก็ได้ ถ้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไม่สามารถจัดการควบคุมการติดต่อของโรคระบาดกันได้ดีพอ จุดขาดทุนที่ 2 (เจอปุ๊ปจ่ายปั๊ป vs ในวันที่โควิด-19 กลายเป็นแค่ไข้หวัดใหญ่ธรรมดา) สมมติ ถ้ามีการคิดค้นยาที่รักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจนมองว่าโควิด-19 เป็นเพียงแค่ไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ไม่มีใครกลัวโควิด-19 อีกต่อไป ถึงจุดนั้น คนที่ซื้อประกันชนิดที่คุ้มครองแบบที่เจอปุ๊ปจ่ายปั๊บ ก็คงยิ้มกันเป็นแถว จะติดเชื้อไปก็ไม่เป็นไร โดยเฉพาะคนที่กักตุนซื้อหลายๆ กรมธรรม์เอาไว้ ถึงจะไม่จงใจให้ไปติด แต่ก็จะไม่ระวังตัวอีกต่อไป จุดนี้ที่บริษัทประกันลืมคิดถึงการ overinsure ของลูกค้าไปตั้งแต่ตอนพิจารณารับประกันภัย และมองว่าถึงอย่างไรลูกค้าก็คงจะระวังตัวเองไม่ให้ติดเชื้ออยู่แล้ว สรุปว่าถ้าลูกค้าทำหลายๆ กรมธรรม์พร้อมกัน ประกอบกับความรุนแรงของโควิค-19 มันหายไปเมื่อไร มันจะเป็นเหตุการณ์ที่บริษัทประกันจะขาดทุนมากมาย จุดขาดทุนที่ 3 (เงินชดเชยต่อวัน vs ค่าจ้างรายวัน) ประกันโควิด-19 บางแบบจะจ่ายผลประโยชน์แบบชดเชยรายวันเมื่อนอนโรงพยาบาลไปด้วย ซึ่งหลักการของการประกันคือ ต้องการให้ลูกค้าได้รับค่าชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากการสูญเสียรายได้ในชีวิตประจำวันไป. แต่ลองนึกภาพของวิกฤติเศรษฐกิจที่มีการตกงานกันมาก รายได้ประจำวันลดลงจากเดิมไปเยอะ. ถ้าเกิดติดเชื้อขึ้นมา การเข้าโรงพยาบาลแต่ละครั้ง ก็คงอยากจะอยู่ให้นานที่สุด จากที่ปกติอยู่แค่ 10 วัน ก็อาจจะยืดขึ้นไปเป็น 15 วัน เพราะค่าชดเชยจากประกันจะมากกว่ารายได้ปกติ โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้. จุดนี้เป็นจุดที่บริษัทประกันอาจจะลืมมองไป. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับพวกที่ overinsure ยิ่งซื้อประกันโควิด-19 กันหลายฉบับ ก็ยิ่งได้รับค่าชดเชยรายได้ต่อวันที่สูงมาก จนบางคนแทบไม่อยากไปทำงานเลย เหตุการณ์ขาดทุนอย่างนี้เกิดได้บ่อยถ้าบริษัทประกันรีบขายจนเกินไป และไม่ได้พิจารณาการรับประกันภัยให้ดีก่อน จุดขาดทุนที่ 4 (เบี้ยทุกอายุเฉลี่ย vs ต้นทุนที่ไม่ควรเฉลี่ย) ทุกอายุใช้อัตราเบี้ยเฉลี่ยเท่ากันหมด แต่ความจริงแล้วปัจจัยต้นทุนของการเคลมจะดูที่ "อัตราการติดเชื้อ" กับ "ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อ" ซึ่งทั้งสองปัจจัยจะแตกต่างกันตามแต่ละช่วงอายุ ดังนั้น บริษัทประกันภัยที่ขายประกันโควิค-19 ให้กับทุกอายุ โดยเฉพาะคิดเบี้ยประกันของผู้สูงอายุเท่ากับอายุอื่นๆ โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าลูกค้าทุกอายุจะเข้ามาซื้อประกันในจำนวนสัดส่วนที่พอๆ กัน แต่สุดท้ายแล้วคนที่ซื้อประกันโควิด-19 ส่วนมากก็คือคนสูงอายุ และเมื่อต้นทุนของผู้สูงอายุเยอะกว่า ก็จะทำให้บริษัทประกันมีโอกาสขาดทุนได้ ยกตัวอย่างเช่น สมมติเรามีสินค้า 3 ชิ้น ต้นทุนชิ้นแรก 5 บาท ชิ้นที่สอง 10 บาท ชิ้นที่สาม 15 บาท ถ้าเราคิดว่าจะขายจำนวนชิ้นได้เท่าๆ กัน ก็หมายถึงต้นทุนต่อชิ้นเฉลี่ยตรงกลางเท่ากับ 10 บาท (5 + 10 + 15 หารด้วย 3) ก็เลยตั้งราคาขายไว้ที่ 12 บาท (กะว่าจะได้กำไร 2 บาท) แต่ตอนขายจริงๆ กลับมีแต่สินค้าชิ้นที่สามที่ขายออก ต้นทุน 15 บาท ราคาขาย 12 บาท (แปลว่าขาดทุน 3 บาทซะอย่างนั้น) และบริษัทประกันอาจจะเจอกับปัญหานี้อยู่ เพราะไปตั้งเป็นเบี้ยเฉลี่ยเท่ากันหมด ไม่เหมือนประกันสุขภาพทั่วไป จุดขาดทุนที่ 5 (สถิติเสียชีวิตจากโรคระบาดใหญ่ในทุก 100 ปี vs วิวัฒนาการของไวรัส) จากสถิติที่อ้างอิงประวัติศาสตร์ในอดีต ในทุก 100 ปี จะมีการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัส 1 ครั้ง ที่จะทำให้ทุกคนทั้งโลกจดจำไว้ในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งครั้งล่าสุดคือ ไข้หวัดสเปน ปี ค.ศ. 1918 (เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้วพอดี) โดยในตอนนั้นมีคนเสียชีวิตประมาณ 50 ล้านคน ไวรัสได้มีการวิวัฒนาการและแบ่งออกเป็นระลอกคลื่น เช่น คลื่นลูกที่หนึ่ง สามารถติดต่อกันง่ายดาย คนที่ติดในระลอกแรกนั้นจะไม่เป็นอันตรายถึงตาย หรืออัตราการตายจะไม่สูง แต่พอเปลี่ยนเป็นคลื่นลูกที่สอง ความรุนแรงเพิ่มพูนขึ้นจนสามารถทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก แต่คนที่มีภูมิคุ้มกันจากคลื่นลูกแรกนั้นกลับจะมีโอกาสติดเชื้อได้น้อยกว่า และสุดท้ายก็เข้าสู่คลื่นลูกที่สาม ที่ไวรัสสามารถกลายพันธุ์ไปติดเด็กได้ง่ายมากขึ้นและทำให้คนตายมากขึ้นไปอีก ซึ่งตอนนี้เราอาจจะอยู่กันเพียงแค่คลื่นลูกที่หนึ่งเองก็ได้ และไวรัสกำลังซุ่มเงียบเพื่อแอบกลายพันธุ์อยู่ พร้อมรอที่จะเป็นคลื่นลูกที่สองและสามในไม่ช้า (ซึ่งก็ได้แต่ภาวนาขออย่าให้เป็นแบบนั้นเลย) . . ผมมองว่าการที่บริษัทประกันกล้าออกมารับประกันโควิด-19 นั้นเป็นเรื่องน่าภูมิใจสำหรับคนไทย ที่วงการประกันภัยยินดีออกมาแบกรับความเสี่ยงให้ แต่การขายประกันโควิค-19 ของบริษัทประกันภัยครั้งนี้ อาจจะได้ไม่คุ้มเสียก็ได้นะครับ เพราะยังมีจุดบอดของสถิติและความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ตามที่อธิบายมา ไม่ว่าจะเป็นแผลซ้ำรอยเดิมแบบน้ำท่วม วิวัฒนาการของยา การกักตุนหลายๆ กรมธรรม์ หรือแม้กระทั่งการวิวัฒนาการของไวรัสเป็นระลอกคลื่นที่เราไม่อาจรู้ได้ ทั้งหมดนี้ ผู้ที่ได้ซื้อประกันภัยไปแล้ว สามารถสบายใจได้ว่าจะได้รับความคุ้มครองและได้รับเงินตามที่บริษัทประกันเขียนไว้ในสัญญา แต่ในอีกมุมก็อดเป็นห่วงบริษัทประกันไม่ได้ครับ ถ้าเร่งขายกันจนเยอะเกินไปและไม่พิจารณาถึงความเสี่ยงในระยะยาวให้ดีพอก็มีโอกาสขาดทุนมหาศาลได้. ผมก็ได้แต่ขอให้ประเทศไทยและทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดีครับ. . #ทอมมี่ #พิเชฐเจียรมณีทวีสิน #นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย #โควิด19