คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น วันนี้ ขอเขียนถึงวงการบันเทิงทางทีวีและโซเชียล (มือถือ) สักนิดหนึ่ง เพราะชีวิตผมและอีกหลายชีวิตจำเป็นต้องเกี่ยวข้องอยู่ ทุกวันนี้ คนส่วนมากไม่ค่อยได้ดูทีวี เพราะสื่อทางโซเชียล(มือถือ) มีบทบาทในการให้บริการมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งคือข้อจำกัดของเวลามีมากขึ้น คนส่วนมาก นับวันจะไม่ได้อยู่บ้าน ไม่ได้อยู่หน้าจอทีวี แต่วันเวลาส่วนใหญ่ ต้องอยู่กับมือถือ ซึ่งใช้พูดคุยและส่งข่าวสารถึงกันเป็นด้านหลักจำได้ว่า เมื่อใช้มือถือระยะแรกๆ มักจะลืมมือถือง่ายๆ เพราะมือถือยังไม่ใช่สิ่งจำเป็นถึงขั้นเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิต เมื่อเผลอก็มักจะลืมได้ แต่สังเกตว่า ปัจจุบันมือถือกลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิต จะขาดจะลืมไม่ได้เลย จะไปไหนมาไหน ต้องคิดถึงมือถือก่อน ถ้าไม่มีมือถือ ชีวิตก็แทบจะไม่เป็นชีวิต จะติดต่อใครก็ไม่ได้ หรือใครจะติดต่อมาก็ไม่ได้ เพราะดูเหมือนโลกแคบเข้ามา และดูเหมือนเวลามีจำกัดมากขึ้น ชีวิตต้องการความรวดเร็วมากขึ้น มีอาการ “รอไม่ได้” มากขึ้น ตั้งแต่มือถือกลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิต สิ่งที่ผมไม่เคยลืมที่จะมีติดตัวไปด้วยทุกวันนี้คือมือถือครับ บางครั้งถ้าลืมไว้ที่ห้อง ก็ต้องยอมเสียค่ารถกลับไปเอาก่อน เพราะถ้าไม่อย่างนั้น ธุระการติดต่อสื่อสารก็จะเป็นไปไม่ได้เลย นานเข้าก็ค่อยๆเรียนรู้วิธีใช้มือถือให้ได้ประโยชน์หลายอย่างเท่าที่คนสูงอายุอย่างผมจะพอเข้าถึงได้ ติดขัดจริงๆก็ให้ลูกหลานช่วย อย่างหนึ่ง ที่รู้สึกรำคาญมือถือเมื่อต้องการดูรายการต่างๆนอกเหนือจากการใช้โทรศัพท์ คือเสียงจากมือถือออกจะเบา มีวิธีแก้ไขได้ โดยการใช้ “ตัวขยายเสียง” ผ่านทาง Bluetooth (บลูทูธ) อีกที่หนึ่ง ทุกวันนี้ ผมก็เลยติดมือถือยิ่งขึ้น เพราะเมื่อต้องการให้เสียงฟังชัดขึ้น ก็ใช้ตัวขยายเสียง หรือเสียงจากระบบบลูทูธในมือถือนั่นเอง ในมือถือมีรายการข่าวและรายการต่างๆ ทางทีวีให้ดูด้วย แต่ผมก็ไม่ชอบเข้าไปดู มักจะดูรายการข่าวและรายการต่างๆ ทางยูทูป (youtube) ซึ่งออกจะช้าไปบ้าง แต่ก็พอแก้ขัดได้ ระหว่างนี้ กำลังตามดูรายการประกวดเพลง ซึ่งมีทั้งเพลงลูกทุ่งและเพลงลูกกรุง (ส่วนใหญ่ผมชอบเข้าไปดูรายการประกวดเพลงลูกทุ่ง) ได้เห็นได้ชมรายการ “ขายความจน” มากมายทางยูทูป ก็อดไม่ได้ที่จะวิจารณ์ตามรสนิยมของตัวเอง การประกวดเพลงลูกทุ่ง (ส่วนใหญ่เป็นเพลงลูกทุ่งแนวอีสาน) สังเกตเห็นว่า คนที่เข้าประกวด เป็นคนยากจน การได้เป็นนักร้อง หมายถึงชีวิตของเขาเปลี่ยนไป (ในการร่ำรวย) จากหน้ามือเป็นหลังมือ เด็กๆและหนุ่มสาวจึงฝันอยากเป็นนักร้องกันมากขึ้น ค่ายเพลงบางค่าย ไหวตัวทันในเรื่องนี้ หันมาจัดรายการประกวดเพลงลูกทุ่งแข่งขัน ทำให้ได้รู้ว่า ลูกชาวบ้านทั่วไปที่เสียงดีๆยังมีอยู่เยอะ การร้องเพลง กลายเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง ที่เด็กๆและคนหนุ่มสาวยึดเอาเป็นทางเลือกของชีวิต คนที่ค้นพบขุมทรัพย์จาก “เพลงลูกทุ่ง” ในสมัยปัจจุบัน เห็นจะยกให้ “ครูสลา คุณวุฒิ” ซึ่งเป็นครูบ้านนอกจังหวัดอำนาจเจริญ (ตั้งแต่รวมอยู่กับจังหวัดอุบลราชธานี) ครูสลา เคยเป็นครูสอนหนังสือ (ระดับประถมศึกษา) และเคยเป็นครูบริหารสถานศึกษา (ตำแหน่งอาจารย์ใหญ่) เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ซึ่งทำให้เขาเป็นนักแต่งเพลงชั้นนำในยุคนี้ ครูบ้านนอกคนนี้เป็นครูชนิด “เลิกเป็นครูไม่ได้” แม้จะอยู่ในวงการบันเทิง เขาก็ยังมีปฏิปทาเป็นครูที่ดี ไม่หลงระเริงไปกับแสงสีของการบันเทิงเริงรมย์ เคยมีคนซุบซิบให้ได้ยินว่า ครูสลาปั้นนักร้องสาวๆหลายคนคงมีเรื่อง “อย่างว่า” แน่ๆ ผมเถียงแทนท่านว่า ครูสลาเป็นคนดี เปี่ยมด้วยเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง ท่านเป็นคนประเภทแฟมิลี่แมน (Familyman) มีภรรยาและลูกสาวที่อบอุ่น เป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะคิดในทางไม่ดีกับเด็กๆ ที่หวังพึ่งท่าน ได้ฟังเรื่องราวที่ครูสลาบอกเล่าเอง ก็ยิ่งเกิดศรัทธาในท่านได้ฟังว่า กว่าจะมาเป็นนักแต่งเพลงอย่างทุกวันนี้ ท่านต้องแต่งเพลงมากมายนำเสนอค่ายเพลง กว่าจะเป็นที่ยอมรับ ก็เคยลำบากเดินทางระหว่างอุบลฯกับกรุงเทพฯหลายเที่ยว บางครั้งมีเงินติดตัวแค่สองร้อยกว่าบาท เคยเอาหนังสือพิมพ์ปูนอน (ซุกหัวนอน) ที่พุ่มไม้ในสวนจตุจักรระหว่างรอรถ นักร้องที่ครูสลาภูมิใจเอ่ยถึงอยู่เสมอ คือ “ต่าย อรทัย” “ไมค์ ภิรมย์พร” และ “มนต์แคน แก่นคูณ” แนวเพลงที่ครูสลาแต่ง ออกไปทางให้กำลังใจแก่คนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นส่วนใหญ่ แทบจะไม่มีเพลงแนวหยาบโลน สองง่ามสามแง่ หรือแม้แต่เพลงให้ดิ้นให้ร้อนเร่า บางเพลง ครูสลาบอกเองว่า ฟังเขาร้องก็ไม่ได้ มันสะเทือนใจจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่ ต้องใช้วิธีให้ครูสลาเองหันไปสนใจเรื่องอื่นแทน เพลงที่ส่งให้ต่าย อรทัย กลายเป็นนักร้องลูกทุ่งแนวอีสานโด่งดังอยู่ทุกวันนี้ แต่ละเพลง เช่น “ดอกหญ้าในป่าปูน” “สิเทน้องให้บอกแน” ฯลฯ ล้วนแต่เป็นเพลงที่กลั่นออกมาจากจิตใจส่วนลึกของครูสลาทั้งสิ้น ฟังทีไร ก็ได้แต่นึกว่า (ครูสลา) คิดได้อย่างไร? และหลังๆมานี้ สังเกตว่า มีนักแต่งเพลงลุกทุ่งเดินตามครูสลามากขึ้น ดูเหมือนว่า เพลงลูกทุ่งแนวอีสานจะคึกคักกว่าเพลงลูกทุ่งในภาคอื่นๆ เพลง “เสียงแคนจากแมนชั่น” แต่งโดย “วีระ สุดสังข์” (อดีตคอลัมนิสต์สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์คนหนึ่ง) ก็ดูเหมือนจะเกิดตามแนวเพลงของครูสลา ผมเป็นคนชอบฟังเพลงเพราะๆซึ้งๆ เมื่อฟังเพลงจากยูทูบหรือจากมือถือ จึงมีความคิดว่า แต่ละเพลงกว่าจะเป็นเพลงให้เราได้ฟังนั้น นักแต่งเพลงคือผู้รังสรรค์เพลง เป็นเจ้าของเพลง (โดยลิขสิทธิ์) แต่ก็จะต้องมีเสียงดนตรีหลายชิ้นช่วยกัน จากเนื้อเพลง(ที่แต่ง) เป็นทำนอง และมีการเรียบเรียงให้เกิดเสียงไพเราะ ประกอบกัน มีความคิดว่า แต่ละเพลงควรจะให้ความสำคัญแก่ผู้แต่ง ผู้ให้ทำนอง และ(ทีมงาน) ผู้ให้เสียงดนตรี เท่าที่เป็นอยู่ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร การแสดงชื่อเพลง ชื่อผู้แต่ง ชื่อผู้ให้ทำนอง จึงนิยมแสดงไว้เมื่อจะเริ่มเพลง และแสดงให้เห็นแค่แว่บเดียว (อ่านแทบไม่ทัน) ทั้งๆที่มีพื้นที่ให้แสดงได้ เช่น ที่มุมขวาด้านบน (ใต้ชื่อช่องทีวี/วิดีโอ) อยากเสนอความคิดว่า ให้ขึ้นชื่อเพลง ชื่อผู้แต่ง ผู้ให้ทำนอง และอยากให้แสดงชื่อคณะนักดนตรี(แต่ละชิ้น)ด้วย เฉพาะเครื่องดนตรีในเพลง อาจจะแสดงด้วยรูปถ่ายหรือรูปเครื่องหมายของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น เช่น เป็นรูปแคน โหวด,พิณ,กีตาร์, ฯลฯ กลอง,ฉิ่งอาบ,ออแกน เป็นต้น อีกเรื่องหนึ่ง ที่ขอยืนยันความคิดเดิม คือการแปลคำในเพลง ซึ่งเป็นภาษาลาวหรือภาษาของชาวอีสาน ผมเห็นว่า ไม่ควรมีการแปลเป็นภาษาไทย ภาคกลาง เพราะมีเหตุผล 2 ประการ คือ 1.มักจะแปลผิด ไม่ตรงกับความหมายในภาษาอีสาน ทำให้ความหมายของคำในเพลงคลาดเคลื่อนไป ผมเห็นว่า ภาษาอีสานส่วนมาก เป็นที่เข้าใจความหมายกันในทุกภาคที่ใช้ภาษาไทยอยู่แล้ว ถ้ามีบางคำที่เข้าใจได้อยาก เช่น คำว่า “โดย” ที่ตรงกับคำว่า “ครับ” หรือ “ค่ะ” ค่อยใส่วงเล็บเอาไว้ การสะกดคำ อยากให้อนุวัตตามภาษาไทย ภาคกลาง ส่วนการออกเสียง ให้เป็นไปตามความนิยมของภาคอีสาน เช่นเสียง “ย” (ที่ออกเสียงเป็น “มุทธชะ” หรือขณะเปล่งเสียง ย ใช้ลิ้นตวัดขึ้นไป ติดเพดานปาก) หรือเสียงกล้ำ ที่ภาคอีสาน(หรือลาว) ไม่ใช้ ก็ให้เป็นที่รู้ว่าเป็นคำเดียวกัน 2.เป็นการผิดหรือทำลายฉันทลักษณ์ในเพลง เพราะในภาษาเพลงอีสาน (หรือในเพลงลาว) ก็มีฉันทลักษณ์ มีการสัมผัสคำ คล้ายๆกับในฉันทลักษณ์ไทย(ภาคกลาง) เมื่อมีการแปลคำในเพลง มักจะไม่คำนึงถึงฉันทลักษณ์ในเพลง ทำให้เพลงขาดความไพเราะเป็นอันมาก อีกอย่างหนึ่ง นักแต่งเพลงลูกทุ่งแนวอีสาน มักจะยึดแนวฉันทลักษณ์ของไทย (ภาคกลาง) เพลงลูกทุ่งแนวอีสาน จึงแทบจะไม่ต่างไปจากเพลงไทยทั่วไป เมื่อมีการแปลภาษาอีสาน จึงละเลยเรื่องฉันทลักษณ์ในเพลง โดยไม่รู้ตัว อยากจะให้ใช้วงเล็บสำหรับภาษาลาวหรือภาษาอีสานสำหรับบางคำที่ไม่ตรงกันหรือที่เข้าใจยากเท่านั้น โดยไม่ให้เสียฉันทลักษณ์ในเพลง (มักจะเข้าใจผิดว่าเสียง ย เช่น “ยาวๆ” ในเพลงลูกทุ่งอีสานเพลงหนึ่ง เป็นเสียงขึ้นจมูกหรือเสียง “นาสิก” ความจริงเป็นเสียง “มุทธชะ-(หรือ มุทธชา) ที่ใช้ลิ้นอยู่บนเพดานปากขณะออกเสียง ย ) อีกเรื่องหนึ่ง (ที่ตั้งข้อสังเกตกับตัวเอง) คือรายการที่มุ่ง “ขายความจน” มากไป จนทนดูไม่ได้หรือไม่อยากจะดู มีบางรายการ พิธีกรมีเจตนาใช้โทนเสียงเปลี่ยนไปจากเสียงเดิมแท้ๆ ของตน และใช้ท่วงทำนองเสียงเนิบๆ (เพื่อให้ฟังเป็นเรื่องที่แสนเศร้า) ทำให้เป็นการจงใจ "บีบน้ำตา" คนฟังและคนร้องมากไปผมมีความรู้สึกว่า รายการนั้นยืดยาดอืดอาดอย่างน่ารำคาญ เหมือนจงใจยืดเวลาในรายการ ซึ่งมีเพียงเพลงเดียวในแต่ละวัน แต่บางรายการแม้จะมีเพียงเพลงเดียวเหมือนกัน แต่ก็ดูเพลิน ไม่รู้สึกว่ายืดยาดเกินไป (รายการที่ผมชอบเข้าไปดู เช่น “ดวลเพลงชิงทุน” ( “แฟรงค์-ภคชนก์ เป็นพิธีกร) และ “super10” ฯลฯ ของ “พี่ชุป” (วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ) รายการประกวดเพลงลูกทุ่ง ชื่อ “ไมค์หมดหนี้” (ของ “เสนาลิง”) ผมเห็นว่า มีความยืดยาดมากไป กว่าจะตัดสินแต่ละเพลง ใช้เวลามากไป และอยากเสนอความคิดว่า การเดาไมค์หรือทายไมค์ที่จะมีเสียงนั้น สำหรับคนเป็นหนี้เยอะ (หนึ่งหมื่นบาทต่อไมค์ 1 ตัว) น่าจะปรับเป็น 5 ไมค์ต่อหนี้ 5 หมื่นบาท และในจำนวนไมค์ที่สุ่มเลือกเป็นไมค์มีเสียงให้กลับกันเป็นไมค์ไม่มีเสียงแทน น่าจะเป็นการยุติธรรมแก่คนเป็นหนี้นะครับ อีกอย่างหนึ่ง ไม่อยากให้คนเข้าประกวดร้องเพลงที่เพิ่งร้องไห้ (ซึ่งพิธีกรช่วยบีบน้ำตา) มาร้องเพลง มันขัดๆในความรู้สึกยังไงไม่รู้!