สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
พระครูวิสุทธิ์ศีลาจารย์ หรือ หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก ธนบุรี หนึ่งในพระเกจิผู้ทรงพุทธาคมเป็นเลิศ มีชื่อเสียงโด่งดังในยุค “สงครามอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ 2” และไม่ว่าพิธีพุทธาภิเษกใดๆ จะมีชื่อของท่านร่วมด้วยเสมอ
หลวงพ่อพริ้ง เป็นชาว อ.คลองสานโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2413 (บางเล่มว่า 2412) ในวัยเด็กได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดราชสิทธารามหรือวัดพลับ ศึกษาวิปัสนากรรมฐานขั้นต้นกับพระสังวรานุวงศ์ (เมฆ) เจ้าอาวาสองค์ที่ 10 และพระมงคลเทพมุนี (เอี่ยม) วัดราชสิทธาราม เมื่ออายุครบบวชจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดทองนพคุณ อ.คลองสาน ท่านมีความตั้งใจศึกษาร่ำเรียนทั้งด้านคันถธุระ วิปัสสนาธุระ และเคร่งครัดในพระธรรมวินัยจนเป็นที่กล่าวขาน ท่านชอบออกธุดงควัตรไปตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าเขาลำเนาไพร เพื่อหาความวิเวกและฝึกวิปัสสนากรรมฐาน และยังได้ศึกษาวิทยาอาคมจากพระอาจารย์หลายสำนักจนเชี่ยวชาญแตกฉานทั้งด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด เมตตามหานิยม รวมถึงวิชาแพทย์แผนโบราณ กล่าวกันว่าท่านได้เคยศึกษาร่วมสำนักกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าอีกด้วย เมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางปะกอกว่างลง จึงนิมนต์ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส หลวงพ่อพริ้งปกครองและดูแลวัดบางปะกอกจนกระทั่งมรณภาพในปี พ.ศ.2490 สิริอายุได้ 78 ปี
หลวงพ่อพริ้งเป็นพระเกจิที่มีศีลาจารวัตรงดงาม มีเมตตาธรรมสูง และเรืองวิชาทางไสยศาสตร์เป็นเอก เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนต่างพากันมาอาศัยหลบภัยที่วัดของหลวงพ่อเป็นจำนวนมากๆ โดยเฉพาะที่กุฏิจะแน่นไปด้วยผู้คน และหาได้มีผู้ใดเป็นอันตรายแต่อย่างใดไม่ ท่านยังชอบช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ตกทุกข์โดยไม่แบ่งวรรณะ จึงเป็นที่รักเคารพของพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้ไกล มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย และเป็นหนึ่งในพระอาจารย์ของพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ทรงเคารพศรัทธาถึงกับให้พระโอรสมาบวชเป็นสามเณรอยู่กับหลวงพ่อที่ วัดบางปะกอก ถึง 3 องค์ นอกจากนี้ ในงานพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลสำคัญๆ ในสมัยนั้น ท่านก็จะได้รับการนิมนต์ไปเข้าทำพิธีปลุกเสกด้วยทุกครั้ง แม้กระทั่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) แห่งวัดสุทัศนเทพวราราม ยังนิมนต์ท่านมาร่วมปลุกเสกในงานวัดสุทัศน์เป็นประจำ หลวงพ่อพริ้ง สร้างวัตถุมงคลมากมายหลายชนิด ทั้ง พระเครื่อง เหรียญ และเครื่องรางของขลัง อาทิ พระผงใบลาน, ลูกอมเนื้อผง, ตะกรุด, ผ้ายันต์ ฯลฯ เพื่อแจกจ่ายแก่ศิษยานุศิษย์และผู้มาขอ ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงอย่างมากในคราวเกิดสงครามอินโดจีน จึงล้วนเป็นที่แสวงหาและนิยมสะสมสืบมาจนปัจจุบัน โดยเฉพาะ “เหรียญรูปเหมือน ปี 2483” ซึ่งนับเป็นเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกนั้นหาดูหาเช่ายากมาก
ผู้สร้าง
เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อพริ้ง ปี 2483 นี้ คณะศิษย์ได้ขออนุญาตหลวงพ่อพริ้งจัดสร้างในปีพ.ศ. 2483 เพื่อไว้แจกแก่ศิษย์ไว้คุ้มกันภัยในช่วงสงคราม
เนื้อหามวลสาร
สร้างเป็นเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงรมดำ
พุทธลักษณะ
ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ ยกขอบหน้า-หลัง พิมพ์ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเต็มองค์นั่งเหนืออาสนะฐานสิงห์ สองข้างจารึกอักษรไทยว่า “พระครูวิสุทธิ์ ศิลาจารย์ (พริ้ง)” ล่างสุดเป็นปีที่สร้าง “พ.ศ.๒๔๘๓“ ส่วนพิมพ์ด้านหลัง ตรงกลางเป็นพระพุทธรูปนั่งแสดงปางมารวิชัยเหนืออาสนะฐานบัว ด้านบนเป็นอักขระขอมอ่านว่า “นะ โม พุท ธา ยะ” พิมพ์ด้านหลังยังแบ่งออกเป็น 3 พิมพ์ สังเกตที่พระพักตร์ของพระพุทธรูป คือ พิมพ์หน้าใหญ่เกศเปลวเพลิง พิมพ์หน้ากลางเกศตุ้ม และ พิมพ์หน้าเล็กเกศแหลม
พุทธคุณ
โดดเด่น ทั้งด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และ เมตตามหานิยมครับผม




