ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล ความแห้งแล้งไม่ใช่ทุกข์ทรมาน เมื่อเข้าใจการหมุนเวียนแห่งธรรมชาติ “อีสานแล้ง” คือภาพที่สื่อต่างๆ มักจะถ่ายทอดออกมาให้คนในภูมิภาคอื่นเห็นว่า ภูมิภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่ถูกสาป เต็มไปด้วยความทุกข์ยากขาดแคลน แห้งแล้ง มีแต่โรคภัยไข้เจ็บ ตอนที่ผมอยู่กับย่าจันทร์ที่บ้านหนองม่วง อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ตลอดเวลาสี่ปีในช่วงนั้นผมได้เห็น “การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ” ของคนที่นั่น “อย่างมีความสุข” ได้ทุกสภาพกาลอากาศ โดยไม่ได้บ่นหรือแสดงอาการวิตกกังวลอะไรเลย อย่างที่ย่าจันทร์พูดกับลูกหลานทุกคนว่า “ดินฟ้าอากาศก็เป็นอย่างนี้ เราเสียอีกที่เกิดมาทีหลัง ปู่ย่าตายายก็อยู่กันมาได้หลายชั่วคน ทุกข์ยากต่างๆ อย่าไปโทษดินฟ้าอากาศ ทุกข์สุขอยู่ที่ตัวเรานี่แหละ” “น้ำ” คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำมาหากิน การตั้งชุมชนของคนไทยไม่เฉพาะแต่ชาวอีสานจะต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำ อย่างชาวภาคกลางอาจจะโชคดีที่มีแม่น้ำให้เป็นที่พึ่งอยู่หลายสาย และมีคูคลองแหล่งน้ำมากมาย ทว่าสำหรับคนอีสานแม้จะมีแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลเป็นแม่น้ำสายหลัก แต่ด้วยสภาพของแผ่นดินเป็นที่ราบสูง แผ่นดินเป็นทราย ทำให้น้ำไหลลาดไปอย่างรวดเร็ว เพราะดินไม่อุ้มซับน้ำ คนอีสานอย่างที่บ้านหนองม่วงจึงต้องหาแหล่งน้ำที่เป็นแอ่งให้พอมีน้ำเก็บไว้ใช้ได้ตลอดปี โดยเฉพาะน้ำสำหรับบริโภคคือใช้ดื่มกิน ทั้งสำหรับคนและสัตว์ ซึ่งก็คือ “หนองม่วง” อันเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านนั้น แต่ชาวบ้านก็ไม่ประมาทหวังพึ่งแต่หนองม่วง ในนาของแต่ละครอบครัวก็จะมีการขุดบ่อน้ำขนาดสัก 2-3 ไร่ไว้ในส่วนใดส่วนหนึ่งของที่นานั้นด้วย โดยเลือกทำเลที่อยู่ต่ำที่สุดของแปลงนาทั้งหมด ซึ่งถึงแม้ว่าในฤดูแล้งน้ำในบ่อเหล่านี้จะแห้งขอด แต่เขาก็จะใช้วิธีขุดเป็นหลุมลึกๆ ขนาดกว้างยาวสัก 1 วา (ทางอีสานเรียกว่า “ส่าง”) ลงไปตรงมุมใดมุมใดของบ่อ ที่คาดว่าจะมีน้ำใต้ดินขังอยู่ข้างใต้นั้น แล้วก็จะทำรอกชักน้ำขึ้นมาใช้ในเวลาที่ขาดแคลนน้ำจริงๆ ซึ่งความจริงแล้วฤดูแล้งจริงๆ ถึงขั้นที่ต้อง “ขอดน้ำมากิน” นั้นก็มีอยู่ไม่นาน สัก 4-5 อาทิตย์ฝนก็อาจจะตกลงมา เพิ่มน้ำเข้ามาขังในบ่อในหนองให้พอใช้ได้บ้าง ส่วนส่างที่ขุดไว้ก็ล้อมรั้วเสีย ไว้เปิดใช้ใหม่ในฤดูแล้งต่อไป ย่าจันทร์สอนให้ใช้น้ำอย่างประหยัด “ด้วยความเคารพอ่อนน้อม” ที่บ้านของย่าก็เหมือนกับบ้านของชาวหนองม่วงทุกคนที่ต้องมีตุ่มใส่น้ำฝนไว้ใช้ทุกบ้าน การเปลี่ยนจากหลังคาหญ้าคามาเป็นหลังคาสังกะสีทำให้การเก็บน้ำฝนเป็นไปได้โดยสะดวก แต่ละบ้านจะมีจำนวนตุ่มน้ำตามจำนวนคนในบ้าน ดังนั้นถ้าผ่านไปเห็นบ้านหลังใดมีตุ่มน้ำหลายใบตั้งอยู่ข้างบ้าน ก็แสดงว่าบ้านนั้นเป็นครอบครัวใหญ่หรือล้อกันเล่นๆ ว่า “หมั่นเฮ็ดลูก” และทุกบ้านตรงนอกชานชั้นบน(บ้านคนอีสานเป็นบ้านยกใต้ถุนสูง การกินอยู่หลับนอนจะอยู่ที่ชั้นบนข้างล่างปล่อยโล่งไว้ต้อนรับแขกและทำกิจกรรมตามฤดูกาล เช่น ตำข้าว เลี้ยงไหม และทอผ้า หรือทำขนม)จะมีตุ่มน้ำขนาดกลางวางไว้สำหรับล้างหน้า บ้วนปาก และล้างมือ รวมถึงทำอาหาร ล้างผักล้างปลา เป็นต้น ย่าจันทร์จะตื่นตั้งแต่ยังไม่สว่าง บางครั้งผมตื่นมาทันเห็นย่าล้างหน้าก็สังเกตเห็นว่า ย่านั่งยองๆ ยกขันขึ้นจบศรีษะ พร้อมกับทำเสียงงึมงำอยู่สักครู่ แล้วค่อยๆ เอามือกวักน้ำลูบหน้าอย่างเบาๆ ก่อนที่จะอมน้ำ แล้วใช้ไม้ข่อยกิ่งเล็กๆ ทุบปลายให้แผ่เป็นแผ่นนุ่มๆ ถูฟันอยู่ครู่หนึ่ง กลั้วคอและบ้วนปาก แล้วเอาน้ำที่เหลือในขันลูบเนื้อลูบตัว ก่อนที่จะยกขันที่ว่างเปล่านั้นจบที่ศรีษะอีกครั้ง เรียกว่า “น้ำขันเดียว” ย่าใช้ทำประโยชน์แก่สุขภาพยามเช้าได้อย่างเรียบร้อย วันหนึ่งผมถามย่าว่าย่าพูดอะไรหรือเวลาที่ล้างหน้า ย่าตอบว่าก็ “คุยกับน้ำ” ขอบคุณน้ำที่มีบุญคุณต่อคนนี้เป็นอย่างมาก และทำให้เกิดมงคลแก่ชีวิต เพราะยามเช้า “ราศี” ของคนทุกคนจะอยู่ที่ใบหน้า (นี่คงเป็นความเชื่อตามประวัติของประเพณีสงกรานต์ที่มีมาแต่โบราณนั่นเอง) น้ำที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ “น้ำหมักข้าว” ด้วยเหตุที่คนอีสานรับประทานข้าวเหนียวเป็นหลัก การนึ่งข้าวจำเป็นจะต้องมีการ “หมักข้าว” ไว้ข้ามคืน พอตอนเช้าก็จะซาวข้าวเอามานึ่ง พอข้าวสุกก็จะเอามา “ซาย” คือแผ่ข้าวลงบนกระด้งที่พรมน้ำไม่ให้ข้าวติดกระด้ง ก่อนที่จะรวบให้เป็นก้อนขนาดพอดีกับที่จะใส่กระติ๊บ ถ้าเป็นกระติ๊บขนาดกลางสูงสักคืบเศษก็ทานได้ 2-3 คน ต่อมื้อ ซึ่งในมื้อเช้าต้องนึ่งเป็นปริมาณมากสักหน่อย เพราะต้องเอาไว้รับประทานในมื้อกลางวันด้วย ส่วนมื้อเย็นก็หมักข้าวอีกรอบ โดยใช้น้ำหมักที่แบ่งไว้จากตอนเช้าสัก 1 ขัน เช่นเดียวกันกับข้าวที่จะนึ่งตอนเช้าก็ใช้น้ำที่แบ่งไว้ในตอนเย็นนั่นเอง ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่าบางทีข้าวที่ผมทานอยู่ทุกมื้อนั้น สืบทอดประเพณีการนึ่งมาตั้งแต่ครั้งไหนๆ เป็นร้อยๆ ปีนั่นแล้ว (ปัจจุบันมีคนอีสานที่ทำแบบนี้ไม่มาก มีอยู่ในความเชื่อของคนอีสานบางกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น) ความแห้งแล้งยังส่งผลมาถึงการทำบุญ เช่น การใส่บาตร หรือการจัดดอกไม้ถวายพระ เพราะในหน้าแล้งอาหารการกินอัตคัด ปูปลากบเขียดหายาก ย่าและชาวบ้านอื่นๆ ที่ต้องใส่บาตรทุกเช้าและเอาอาหารเพลไปที่วัดก็ต้อง “วางแผน” ในการทำกับข้าวให้พอสำหรับพระที่จะฉันในแต่ละมื้อ ต้องมีการสอบถามกันก่อนว่าพรุ่งนี้จะทำกับข้าวอะไร จะได้ไม่ทำมาซ้ำกัน รวมถึงจะได้ควบคุมปริมาณ บางบ้านมีไก่ออกไข่ ก็เตรียมต้มไข่มาถวาย ถือว่าเป็นอาหารชั้นเลิศในหน้าแล้ง กับข้าวที่มีให้พระฉันทุกวันอีกอย่างหนึ่งก็คือ “ตำบักหุ่ง” หรือ “ส้มตำ” ก็ต้องหมุนเวียนกันไปทีละบ้าน ไม่ให้พระเบื่อตำบักหุ่งนั้น ส่วนดอกไม้ถวายพระก็มักจะเป็น “กิ่งใบ” เสียมากกว่า เพราะดอกไม้ไม่ค่อยออกดอก อย่างเช่นที่บ้านย่าจะมี “ต้นพุด” ในหน้าอื่นจะออกดอกสีขาวเป็นช่อ แต่ในหน้าแล้งก็จะมีเพียงช่อใบ เด็ดใส่ขันสัก 4-5 กิ่ง ก็พอเป็น “ขันดอก” เอาไปถวายพระได้ “ดอกอิหยังก็บ่สู้ดอกหัวใจ ไหว้พระด้วยใจกะสิได้บุญคักๆ” ย่าจันทร์บอก