วันที่ 19 มีนาคม 2563 ที่โรงเรียนนานาชาติ Bangkok Prep เขตวัฒนา กทม. ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนระบบออนไลน์ เนื่องจากการปิดสถานศึกษาตามที่มีมติ ครม.และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ โดยมี นางภัทราดา ยมนาค ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนนานาชาติ Bangkok Prep พร้อมด้วยผู้บริหาร บุคลากรโรงเรียนฯ ให้การต้อนรับ ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า "จากสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยนั้น กระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิตของนักเรียน นักศึกษาที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าว และเพื่อไม่ให้กระทบต่อการเรียนการสอนของนักเรียน นักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจึงมีประกาศ ให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ซึ่งตามที่ตนรับหน้าที่ในการกำกับดูแล สำนักงาน กศน. และ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ที่ต้องมีนักเรียน นักศึกษาได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดสถานศึกษาในครั้งนี้ จึงได้สั่งการให้ ทั้ง 2 หน่วยงาน ดำเนินการเตรียมมาตรการ หรือแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ของทั้ง 2 หน่วยงาน ซึ่งในส่วนของ สช. ได้มีหนังสือถึงผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชนทุกประเภท ถึงแนวปฏิบัติของโรงเรียนเอกชนในระหว่างประกาศให้ปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ช่วงระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และในวันนี้ ตนได้มาเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนตามที่ได้สั่งการให้โรงเรียนสังกัด สช. ไปดำเนินการ ซึ่งในส่วนของโรงเรียนนานาชาตินั้น ทราบว่าได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนออนไลน์มาอย่างเข้มแข็ง และมีคุณภาพอยู่แล้ว ดร.กนกวรรณ กล่าวอีกว่า หลังจากการเยี่ยมชมการจักการเรียนการสอนของโรงเรียนนานาชาติ Bangkok Prep ในวันนี้ ได้เห็นถึงการจัดการที่โรงเรียนนั้น มีมาตรการในการคัดกรองผู้เข้า – ออกโรงเรียนอย่างเข้มงวด มีเจลล้างมือในพื้นที่โรงเรียนอย่างทั่วถึง มีการเช็ดทำความสะอาดพื้นที่ อุปกรณ์อยู่ตลอดเวลา ถือว่าทำได้ดีมาก ส่วนการเรียนการสอนออนไลน์นั้น ทางโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ level Nursery ถึง Grade level 13 ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะโรงเรียนนานาชาติมีความพร้อมเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตก็สามารถรับมือได้ดี นอกจากโรงเรียนนานาชาติแล้ว ขณะนี้ได้ให้ สช. ไปสำรวจโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ที่ยินดีที่จะมาช่วยแชร์ข้อมูลให้กับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งก็ต้องไปดูในส่วนของความพร้อมในส่วนของปลายทางในการรับสัญญาณการเรียนออนไลน์ด้วยว่ามีปัญหาอย่างไร พร้อมหรือไม่ เป็นสิ่งที่เราจะต้องช่วยกันคิดหาทางช่วยเหลือ เพื่อการสนับสนุน ส่งเสริม ให้การพัฒนาการเรียนออนไลน์ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้การเรียนระบบออนไลน์ ทาง สช. ได้เตรียมการ คาดว่าจะพร้อมใช้งานใน 2 อาทิตย์นี้ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ในขณะนี้ โดยได้วางระบบให้สามารถเข้าใช้งานได้ดี และใช้งานได้จริงแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกคนต้องสามารถเข้าใช้ได้จริง ฝากถึงโรงเรียนเอกชน พ่อแม่ผู้ปกครอง และพี่น้องคนไทยทุกคนว่า ในขณะนี้เราต้องช่วยกันให้เราผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน ต้องมีความสามัคคี ต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทุกคนต้องมีวินัยต่อคนเอง มีวินัยต่อสังคม ขอให้เราร่วมมือร่วมใจกัน จึงจะสามารถนำพาเราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้