“สอท.”รับโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจกระทบกำลังซื้อ-ส่งออกทั่วโลก กระทบนาน 3 เดือน หั่นเป้าผลิตรถยนต์ปี63 ลงอีก 1 แสนคันเหลือทั้งปี 1.9 ล้านคันลดทั้งเป้าผลิตเพื่อส่งออกและในประเทศทำตลาดซบเซาฉุดแรงซื้อทั้งในและนอกลดลง ชงรัฐบาลออกมาตรการสร้างความเชื่อมั่น หวังคนไทยหายกลัว กล้าใช้จ่าย เพิ่มสภาพคล่องในระบบ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผยว่า ผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ.63 อยู่ที่ระดับ 90.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 92.2 ในเดือนม.ค.63 โดยค่าดัชนีฯ ต่ำสุดในรอบ21เดือน โดยมีสาเหตุจากความกังวลต่อการชะลอตัวและอุปสงค์ และกำลังซื้อที่ซบเซาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19ทำให้การดำเนินกิจการประสบปัญหาด้านการผลิต การจำหน่าย ขณะเดียวกันการขนส่งสินค้าและการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศจีนที่มีความล่าช้า รวมถึงปัญหาภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบการเกษตรลดลง อีกทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าในโครงการก่อสร้างของภาครัฐยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทั้งนี้จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,209 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนก.พ.63พบว่า ผู้ประกอบการร้อยละ 65.8 มีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการส่งออกมีความกังวลเกี่ยวกับการส่งออกของไทยและภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้คำสั่งซื้อต่างประเทศลดลงทั้งในเดือนปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลงได้แก่ สถานการณ์การเมืองภายในประเทศร้อยละ 48.6 เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าทำให้กระทบต่อและการลงทุนภาครัฐ,อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์)ในมุมมองผู้ส่งออกร้อยละ 48.2 และราคาน้ำมันร้อยละ 32.1 ตามลำดับ สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในลักษณะทรงตัวร้อยละ 19.8 ส่วนดัชนีฯคาดการณ์3เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 98.1 โดยลดลงจาก 99.4 ในเดือนม.ค.63 โดยค่าดัชนีต่ำที่สุดในรอบ45เดือน ตั้งแต่เดือนพ.ค.59เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มีแนวโน้มรุนแรงและกระจายไปทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปโดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอตัว ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ส่งผลให้การบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมลดลง ทั้งนี้ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเสนอให้ภาครัฐเพิ่มมาตรการและสร้างความเชื่อมั่นในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น และขอให้ภาครัฐออกมาตรการเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการในระยะสั้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในระยะยาว เช่น มาตรการทางด้านภาษี นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้ปรับลดประมาณการการผลิตรถยนต์ปี 2563 ลง 100,000 คัน จากเป้าหมายการผลิตเดิมคาดไว้ที่ 2 ล้านคัน มาอยู่ที่ 190,000 คัน ซึ่งน้อยกว่าปี 2562 จำนวน 113,710 คัน หรือลดลงร้อยละ 5.65 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งภายในและต่างประเทศจากการแพร่ระบาดของCOVID-19 สำหรับการปรับลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ดังกล่าวทำให้การผลิตเพื่อการส่งออกปีนี้จะลดลง 50,000 คัน จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 1 ล้านคัน มาอยู่ที่ 950,000 คัน หรือลดลงร้อยละ 8.4 คิดเป็นจำนวน 87,164 คัน จากปีก่อนผลิตได้ 1,037,164 คัน และเป็นการปรับลดเป้าหมายการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลง 50,000 คัน จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 1 ล้านคัน มาอยู่ที่ 950,000 คัน ลดลงร้อยละ 2.72 คิดเป็นจำนวน 26,546 คัน จากปีก่อนผลิตได้ 976,546 คัน ขณะที่ในส่วนของรถจักรยานยนต์มีการปรับเป้าการผลิตเป็นผลิต 2,050,000 คันคงเป้าผลิตเพื่อส่งออก 400,000 คัน และลดเป้าผลิตเพื่อขายในประเทศ เป็น 1,650,000 คันเช่นกันซึ่งเป็นผลจากCOVID-19 ที่ฉุดแรงซื้อ ส่วนยอดผลิตรถยนต์เดือนก.พ.63 ผลิตได้ 150,604 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.73 ซึ่งเป็นการลดลงทั้งจากการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 15.55 อยู่ที่ 83,385 คัน สอดคล้องกับยอดส่งออกลดลงร้อยละ 5.33 อยู่ที่ 95,191 คัน และยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลงร้อยละ 20.29 อยู่ที่ 67,219 คัน ตามยอดขายในประเทศที่ลดลงร้อยละ 17.1 อยู่ที่ 68,271 คัน เพราะผลกระทบจากCOVID-19ทำให้สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์มากขึ้น