ฝนหลวงฯ เตรียมพร้อม 5 หน่วยฯ วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร อุทยาน พื้นที่ลุ่มรับน้ำ และพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ​ ​ ​เมื่อวันที่ 18 มี.ค. นายภักดี จันทร์เกษ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (17 มี.ค.63) กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 7 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา สระบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รวมถึงบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน จำนวน 6 แห่ง และอ่างเก็บน้ำ จำนวน 3 แห่ง ​ ด้านแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 18 มีนาคม 2563 ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง มีจำนวน 23 จังหวัด 139 อำเภอ 714 ตำบล 3 เทศบาล 6,065 หมู่บ้าน/ชุมชน บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และศรีสะเกษ ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำเก็บกัก เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 21 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 169 แห่ง สำหรับจุดความร้อนหรือจุดที่มีการเผาไหม้ (Hotspot) จากดาวเทียม ระบบ MODIS วันที่ 17 มีนาคม 2563 ในประเทศไทย พบว่ามีจำนวน 67 จุด กระจายอยู่บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงส่งผลให้ค่าคุณภาพอากาศบริเวณภาคเหนือ มีค่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบ และเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงมีเกณฑ์คุณภาพอากาศปานกลางบางส่วน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเกณฑ์คุณภาพเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและเกณฑ์คุณภาพอากาศปานกลาง พื้นที่ภาคกลางมีเกณฑ์คุณภาพอากาศที่ดีและดีมาก ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเกณฑ์คุณภาพอากาศดีและดีมาก ด้านแผนที่ปริมาณน้ำฝนสะสม 1 สัปดาห์ (11-17 มี.ค. 63) พบว่า บริเวณพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกบางส่วน มีปริมาณน้ำฝนสะสมอยู่ในระดับ 10-25 มิลลิเมตร สำหรับการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ด้านการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคกลาง จากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ มีความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการเกิดเมฆ 80% และความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 58% ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.1 ความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 3 กม./ชม. หน่วยปฏิบัติการฯ จ.นครสวรรค์ ในช่วงเช้าจึงวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของ จ.อุทัยธานี และนครสวรรค์ พื้นที่อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน และหน่วยปฏิบัติการฯ จ.กาญจนบุรี วางแผนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.กาญจนบุรี และจ.สุพรรณบุรี ​ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ สถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา และสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี พบว่า มีความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการเกิดเมฆ 86% (ราษีไศล) 80% (พิมาย) 79% (บ้านผือ) ความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 56% (ราษีไศล) 49% (พิมาย) 54% (บ้านผือ) ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.8 (ราษีไศล) -0.4 (พิมาย) -0.2 (บ้านผือ) และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 11 กม./ชม. (ราษีไศล) 7 กม./ชม. (พิมาย) 12 กม./ชม. (บ้านผือ) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ขอนแก่น ในช่วงเช้าจึงวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ สำหรับหน่วยปฏิบัติการฯ จ.บุรีรัมย์ วางแผนช่วยเหลือบริเวณพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ และหน่วยปฏิบัติการฯ จ.อุบลราชธานี วางแผนช่วยเหลือบริเวณพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จ.อุบลราชธานี ส่วนพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พบว่า สภาพอากาศยังไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ดังกล่าว จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไปทันที ทั้งนี้ เกษตรกร และพี่น้องประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสาร กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทางเพจ Facebook และเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร