จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไปทั่วโลกของเชื้อไวรัส โควิด-19 ทำให้เกิดการระงับและยกเลิกการเดินทางเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง คิดเป็น11% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพราะฉะนั้นทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจดังกล่าว ทำงานร่วมกันเป็นระบบ ซึ่งทางเอ็กซ์พีเดีย กรุ๊ปได้วิเคราะห์ไว้ คือ การการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบทั้งอีโคซีสเต็ม เพื่อกระตุ้นให้มีการเดินทางต่อไปในโลก พร้อมเร่งวางรากฐานรองรับการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นสิ่งที่จะมาช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ได้เป็นอย่างดี โดย นายนิค แอนดรูส์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบริหารการตลาดของเอ็กซ์พีเดีย กรุ๊ป กล่าวว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ควรวิเคราะห์รูปแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์วิกฤตในครั้งก่อน ๆ ขยายความหลากหลายทางการตลาด และใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางดิจิทัลในการวางรากฐานเพื่อรองรับการฟื้นตัว ซึ่ง HVS หน่วยงานด้านการวิจัยของแคนาดา ระบุ ว่า ปริมาณการเดินทางสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ค่อนข้างเร็ว ตามข้อมูลที่อ้างอิงจากรูปแบบการเดินทางในช่วงโรคระบาดที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ อย่างโรคซาร์ส ในปี 2546 เป็นการฟื้นตัวของการเดินทางในแต่ละภาคธุรกิจที่แตกต่างกันออกไปหลังจากที่มีการประกาศยกเลิกข้อยกเว้นต่าง ๆ ทั้งนี้ ความแตกต่างดังกล่าวขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการเดินทางด้วยเช่นกัน ทั้งนี้นักเดินทางเพื่อธุรกิจมีแนวโน้มที่จะเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่กลับมาเดินทางอีกครั้งหลังจากที่มีการยกเลิกการระงับการเดินทาง ในทางกลับกันนักเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวและพักผ่อนจะตัดสินใจแบบเฉพาะบุคคลมากกว่า โดยระยะเวลาการฟื้นตัวของกลุ่มนี้จะขึ้นอยู่กับมุมมองและความเชื่อมั่นของนักเดินทางแต่ละราย เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการที่พักในประเทศไทย จึงต้องวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อไปอ้างอิงประกอบการวางแผนกลยุทธ์การสร้างความหลากหลายทางธุรกิจในระยะยาว พร้อมกับทำความเข้าใจเกี่ยวกับฤดูกาลและพฤติกรรมของนักเดินทาง เพื่อช่วยให้ที่พักนำเสนอสินค้าและบริการได้ตรงกับความต้องการของตลาด พร้อมกันนี้เป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เพื่อนำไปใช้ในช่วงที่มีสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดท่องเที่ยว เช่น ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผู้เข้าพักของเอ็กซ์พีเดีย กรุ๊ป เป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพที่ช่วยให้พาร์ทเนอร์สามารถทำความเข้าใจนักเดินทางจากตลาดที่แตกต่างกันแบบองค์รวม ดูรูปแบบการจองและทราบความต้องการของนักเดินทาง นอกจากนี้ยังสามารถจัดสรรข้อเสนอโดยใช้เครื่องมือทางการตลาด เพื่อเจาะกลุ่มนักเดินทางอันจะช่วยสร้างรายได้จากห้องพักให้มากขึ้นได้ ด้าน นางสาวอิงกา ลัทธัม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์บริษัท SiteMinder กล่าวว่า การบริหารการ ตลาดด้วยระบบบริหารจัดการช่องทางเข้าถึงลูกค้าผ่านเว็บไซต์ของตัวแทนขายออนไลน์บนแพลตฟอร์มของ SiteMinder ซึ่งได้เปิดตัว Insights จะทำให้มีข้อมูลในการตั้งราคาที่เหมาะสมและยืดหยุ่น เพราะการจัดการราคาห้องพักและอัตราห้องว่าง ไปจนถึงการใช้ข้อมูลอย่างฉลาดที่สามารถเข้าถึงทุกขั้นตอนการตัดสินใจของลูกค้า เพื่อช่วยส่งผลให้ลูกค้าเลือกรับบริการจากโรงแรมได้ เพราะฉะนั้น Insights จาก SiteMinder ในครั้งนี้จะช่วยให้โรงแรมสามารถวางกลยุทธ์การขายและการตลาดได้อย่างดีมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันยังคงรักษาตัวตนของแบรนด์ไว้ได้อีกด้วย พัฒนาพื้นที่ยกระดับการจัดงาน ขณะที่ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ได้มีการพัฒนาชุมชนตะเคียนเตี้ย ซึ่งได้รับคัดเลือกจากทีเส็บให้เป็นหนึ่งในโครงการ เส้นทางสายไมซ์ หรือ Thailand 7 MICE Magnificent Themes เพื่อเพิ่มและยกระดับสถานที่จัดงาน รวมถึงเพิ่มกิจกรรมใหม่ๆ มีความพร้อมในการสร้างรายได้เพิ่มไว้รองรับการจัดงานไมซ์ ซึ่งปัจจุบันเส้นทางสายไมซ์มีครอบคลุม 14 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบไปด้วย 5 เมืองไมซ์ซิตี้ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ตและขอนแก่น และเมืองรองเชื่อมโยง 9 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร อุดรธานี เชียงราย ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สงขลา และนครศรีธรรมราช โดยร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา รวมถึงชุมชนในพื้นที่ บูรณาการพัฒนาธุรกิจไมซ์ในจังหวัดดังกล่าวร่วมกัน สร้างความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของธุรกิจไมซ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และกระจายรายได้สู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ส่วน นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตไวรัสโคโรนา ทางอพท.ได้รับมอบนโยบายจากรัฐมนตรีการท่องเที่ยว และกีฬา ตามแผนระยะสั้น คือ ให้ควบคุมโรคดังกล่าวไม่ให้เกิดการระบาด พร้อมแสดงไมตรีจิตกับนักท่องเที่ยวชาวจีน ส่วนแผนระยะยาวในช่วงที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงนี้ ทางประเทศไทยจะต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสร่วมกันปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวให้มีความพร้อม รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นปัญหาในช่วง 3-4 เดือนต่อจากนี้ เพราะเมื่อถึงเวลาที่นักท่องเที่ยวกลับมาใหม่ประเทศไทยจะได้มีความพร้อมรับในทุกๆ ด้านอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในส่วนชุมชนที่ อพท.รับผิดชอบ พร้อมที่จะนำเสนอต่อนักท่องเที่ยว ในเวลานี้มีประมาณ 22 ชุมชน รวมทั้งชุมชนที่อยู่ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอีก 80 ชุมชน ที่มีอย่างน้อยประมาณ 40 ชุมชนซึ่งพร้อมขายได้เลยส่วนใหญ่จะเป็นชุมชนที่อยู่ในเขตพื้นที่อันดามันนั้น อีกทั้งทางอพท.จะนำเสนออัตลักษณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อพร้อมรับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีศักยภาพ เมื่อถึงเวลาที่นักท่องเที่ยวเดินทางกลับมาอีกครั้ง