นางวิเชียร ปราบพาล เผยว่า เมื่อก่อนมีอาชีพรับจ้างทำไร่มันสำปะหลัง และรับจ้างทั่วไป ช่วงว่างเว้นจากงานในไร่มันสำปะหลัง เก็บเล็กประสมน้อยจากค่าจ้างที่ได้ในแต่ละปี และมีโอกาสเข้าไปเรียนรู้การทำการเกษตรรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา หลังจากนั้นนำแนวทางจากที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่เพาะปลูกที่ขอแบ่งเช่าจากเกษตรกรรายอื่นจนประสบความสำเร็จ เช่นการปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับพืชที่จะปลูก โดยเริ่มต้นที่ปลูกประเภทพืชผัก จำพวก โหระพา กระเพรา แมงลัก ต้นหอม ผักชี ผักบุ้ง พริก มะเขือ ซึ่งให้ผลผลิตเร็วสามารถเก็บขายได้วันละประมาณ 500 บาท ทำให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ที่สำคัญสุขภาพก็ดีกว่าเมื่อก่อนที่รับจ้างทำไร่มันสำปะหลังเนื่องจากมีการใช้สารเคมี “ได้น้ำจากอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 2 มาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งทางกรมชลประทานได้วางท่อมาแล้วต่อเข้าพื้นที่เพาะปลูก พร้อมน้อมนำแนวทางการทำกินตามพระราชดำริที่ได้เรียนรู้มาจากศูนย์ฯ คือ ทำตามต้นทุนของเราที่มีอยู่ ไม่ลงทุนเกินกำลัง ไม่สร้างหนี้สร้างสิน มีแค่ไหนทำแค่นั้น พืชผักที่ปลูกนำไปขายในหมู่บ้านกำละ 5 บาท ส่วนหนึ่งมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงแปลงปลูกเพื่อเอาไปขายต่อที่ตลาด พืชผักที่ปลูกยึดแนวทางที่เรียนรู้มาจากศูนย์ฯ คือปลอดสารเคมีจึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค วันนี้ถือว่าแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เอามาปรับใช้ประสบผลสำเร็จในชีวิตเป็นอย่างดี ภูมิใจและก็ดีใจมากที่ในหลวงท่านทรงวางแนวทางไว้ให้ ด้วยเศรษฐกิจพอเพียงทำให้เรามีบ้านมีใช้มีกินมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากแต่ก่อน และซาบซึ้งในรัชกาลที่ 10 ที่พระองค์ทรงห่วงใยและมอบหมายให้องคมนตรีและคณะมาเยี่ยมเยียนและติดตามความเป็นอยู่ของราษฎรในครั้งนี้ ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ”นางวิเชียร ปราบพาล กล่าว สำหรับการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำโจนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา นั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้พิจารณาการจัดหาแหล่งน้ำบริเวณลุ่มน้ำโจน ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือ งานพัฒนาแหล่งน้ำในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ (อ่างเก็บน้ำ) จำนวน 10 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่ศูนย์ศึกษาฯ จำนวน 5 แห่ง มีความจุ รวม 369,000 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทาน 600 ไร่ และตั้งอยู่ภายนอกพื้นที่ศูนย์ศึกษาฯ จำนวน 5 แห่ง มีความจุ 5,413,000 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทาน 5,730 ไร่ และงานพัฒนาแหล่งน้ำบริเวณลำห้วยน้ำโจนและลำน้ำสาขา เป้นการสร้างอาคารบังคับน้ำเพื่อสะดวกในการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 20 แห่ง มีพื้นที่รับประโยชน์ 6,475 ไร่ โดยมีการบริหารจัดการน้ำภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ในลักษณะอ่างใหญ่เติมอ่างเล็ก หรือ อ่างพวง โดยการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในระดับสูงกว่าและมีปริมาณน้ำที่มากกว่าลงมาเติมในอ่างที่อยู่ต่ำลงมา ด้วยการอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก เช่น คลองส่งน้ำ หรือท่อส่งน้ำ ยังผลให้ราษฎรในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้เป้นจำนวนมากในใช้อุปโภคบริโภคและการทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพ เช่นนางวิเชียร ปราบพาล ราษฎรหมู่ที่ 2 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา หนึ่งในราษฎรที่ได้รับประโยชน์ ล่าสุดพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาฯ และสถานการณ์น้ำของลุ่มน้ำโจนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พบว่าได้มีการดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์และบรรลุเป้าหมายเป็นอย่างดี ยังผลให้ราษฎรในพื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ดั่งกรณีของ นางวิเชียร ปราบพาล ที่ได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาอบรมจากศูนย์ศึกษาฯ มาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ทำให้ได้อัตราการงอกสูง และต้นพืชมีความแข็งแรงดูแลง่าย ก่อนทำการเกษตรทำการตากดิน ไว้อย่างน้อย 1 อาทิตย์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคทางดินทำให้ลดอัตราการเกิดโรค ฉีดน้ำหมักไล่แมลง พด.7 ลงดินเพื่อป้องกันหนอนในดินมากินผัก หลังจากฉีดน้ำหมักชีวภาพแล้วควรรดน้ำเปล่าตามทันที เพื่อไม่ให้ผักใบไหม้ ใส่ปุ๋ยขี้วัวหลังหว่านเมล็ดพันธุ์ทันทีสำหรับพืชอายุสั้น เพื่อบำรุงผัก ใส่ปุ๋ยขี้วัวหลังปลูกพืชข้ามปีเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน หมั่นตรวจดูแลแปลงทุกวัน สังเกตอาการพืชผักทุกวัน และหมั่นพรวนดิน ให้ดินร่วนซุยอยู่ตลอด ปัจจุบัน สามารถเพาะปลูกพืชผักได้ตลอดทั้งปีส่งผลให้มีรายได้ตลอดทั้งปี โดยเก็บผลผลิตแบบหมุนเวียนส่งจำหน่ายได้เฉลี่ยวันละ 200-300 บาท ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน