สืบเนื่องจากสำนักงานไอเจเอ็ม กรุงเทพมหานคร (IJM Foundation, Bangkok) เข้าร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้ทำการสืบสวนสอบสวนกรณีมีการหลอกลวงบังคับใช้แรงงานประมงสัญชาติเมียนมาในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้อนุมัติให้ทำการสืบสวน เพื่อเร่งรัดดำเนินการช่วยเหลือลูกเรือประมงดังกล่าว โดยมอบหมายให้ พันตำรวจโท ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กำกับดูแล
จากการสืบสวนพบว่ามีมูล ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม รักษาการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มอบหมายให้ กองคดีการค้ามนุษย์ โดย พันตำรวจโท สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ นัดประชุมคณะพนักงานสืบสวน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานไอเจเอ็ม กรุงเทพมหานคร (IJM Foundation, Bangkok) และได้มอบให้นายปภาวิน มรรยาวุฒิ ผู้อำนวยการส่วนคดีการค้ามนุษย์ 3 นำทีมเข้าช่วยเหลือลูกเรือประมง และตรวจค้นสถานที่เป้าหมาย โดยบูรณาการด้านกำลังกับ นาวาเอก จตุพล สุพรรณพงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานติดตามสถานการณ์ทางทะเล ศรชล. ภาค 2 ตรวจค้นแพปลา และเรือประมง เพื่อช่วยเหลือลูกเรือประมง รวมทั้งค้นหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของผู้ต้องหาเจ้าของเรือประมง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จากนั้น เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนได้สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ทหารเรือ นำโดย นาวาเอก สัญญา ณ จอม หัวหน้าหน่วยควบคุมความมั่นคงท่าเรือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปฏิบัติการช่วยเหลือลูกเรือประมงและตรวจค้นสถานที่เป้าหมายในจังหวัดนครศรีธรรมราช ตามหมายศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสามารถช่วยเหลือลูกเรือสัญชาติเมียนมา จำนวน 3 ราย และต่อมาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2563 ช่วยเหลือลูกเรือสัญชาติเมียนมาได้อีกจำนวน 2 ราย โดยรายหนึ่ง เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังร่วมกับตำรวจน้ำ เข้าช่วยเหลือ ขณะหาปลาบริเวณเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
สำหรับพฤติการณ์ในคดี จากการสืบสวนเบื้องต้นพบว่า กลุ่มแรงงานสัญชาติเมียนมาที่เข้ามาทำงานในเรือประมง ถูกนายจ้างยึดเอกสารประจำตัว และบัตรเอทีเอ็ม นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเอารัดเอาเปรียบแรงงานในเรื่องค่าจ้างค่าแรง โดยนำหนี้สินมาผูกมัดลูกเรือประมงดังกล่าว จากนั้นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้นำลูกเรือประมงทั้ง 5 ราย เข้าสู่กระบวนการคัดแยกผู้เสียหาย ซึ่งหากพบว่าเป็นผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และหากเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการขออนุมัติเพื่อรับเป็นคดีพิเศษ
พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม รักษาการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ฝากเตือนบรรดาผู้ประกอบการเรือประมงที่ใช้แรงงานต่างด้าวว่า อย่าได้กระทำการอันเป็นการสุ่มเสี่ยงที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ เพราะนอกจากถูกดำเนินคดีอาญาแล้ว ยังเสี่ยงต่อการถูกยึดทรัพย์สินตามมาตรการฟอกเงินอีกด้วย โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษมุ่งมั่นป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินการกับผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างถอนรากถอนโคน หากประชาชนมีเบาะแสในเรื่องดังกล่าว สามารถแจ้งมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือโทรสายด่วน DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะรักษาข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ
นายแอนดรูว์ วสุวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร IJM Foundation, Bangkok กล่าวว่า ขอชื่นชมการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่มีความมุ่งมั่นในการสืบสวนคดีบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ โดยสำนักงานไอเจเอ็ม (IJM Foundation, Bangkok) ยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการป้องกันการบังคับใช้แรงงานภาคอุตสาหกรรมการประมงของไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ปัญหาดังกล่าวลดลงไปจากประเทศไทย
การจับกุมผู้ต้องหาในกรณีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการข่าว ตลอดจนความร่วมมือในการสืบสวนและการบังคับใช้กฎหมาย จนนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหา นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน อันนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นความผิดที่ต่อสิทธิเสรีภาพของมวลมนุษยชาติ และเป็นกรณีที่หน่วยงานระหว่างประเทศให้ความสำคัญอย่างยิ่ง