พระกริ่งคชวัตร วัดบวรนิเวศวิหาร พระกริ่งแห่ง สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปริณายก
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ถ้าจะกล่าวถึงสุดยอดพระกริ่งแล้ว คงหนีไม่พ้น “พระกริ่งปวเรศ วัดบวรนิเวศวิหาร” ต้นตำรับพระกริ่งอันลือชื่อของไทย
สำหรับการสร้างพระกริ่งของวัดบวรฯ นั้น มักจัดสร้างในโอกาสสำคัญๆ โดยจัดสร้างตามแบบโบราณตามกรรมวิธีดั้งเดิมทุกประการ ส่งให้พระกริ่งของวัดบวรฯ ไม่ว่ารุ่นไหน ล้วนทรงด้วยพุทธคุณล้ำเลิศและเป็นที่นิยมแสวงหาของบรรดานักนิยมสะสมทั้งสิ้น
และครั้งหนึ่งที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การสร้างพระเครื่องของวัดบวรฯ ก็คือ “พระกริ่งคชวัตร” ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2546 ในมหามงคลวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปริณายก ประทานอนุญาตให้จำลองจากพระพุทธรูปศิลปะเนปาล ที่พุทธศาสนิกชนชาวเนปาลถวาย เมื่อครั้งเสด็จประเทศเนปาล เพื่อทรงบรรพชาชาวศากยบุตรในปี พ.ศ.2528 ซึ่งพระพุทธรูปดังกล่าวมีความเก่าแก่นับร้อยปี มีความงามเป็นเลิศ และได้ประทานอนุญาตให้อัญเชิญนามสกุลในพระองค์ท่านคือ ‘คชวัตร’ ถวายเป็นนามพระกริ่ง เพื่อเป็นเกียรติแก่นามสกุลในพระองค์ท่านสืบไป นับได้ว่าเป็นพระกริ่งที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงให้ความสำคัญอย่างมาก
‘พระกริ่งคชวัตร รุ่นแรก’ นี้ นอกจากมีความงดงามเป็นเลิศแล้ว ยังมีความศักดิ์สิทธิ์และพุทธานุภาพสูงส่ง ผู้ใดมีไว้บูชาจะแคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง มีความเจริญรุ่งเรืองในทุกด้าน จึงเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาของบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลายในพระองค์ท่าน ปัจจุบันอย่าว่าแต่หาเช่าเลย หาชมเป็นขวัญตายังยากยิ่งนัก
ดังนั้น ในปี พ.ศ.2556 อันเป็นมหามงคลวโรกาสที่พระองค์ท่านทรงเจริญพระชนมายุ 100 พรรษา นี้ ทางสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชได้รับประทานอนุญาตให้อัญเชิญชนวนพระกริ่งคชวัตรรุ่นแรก และชนวนพระกริ่งของวัดบวรนิเวศวิหารรุ่นต่างๆ เช่น ชนวนพระกริ่งปวเรศ ชนวนพระกริ่งบัวรอบ ชนวนพระกริ่งบวรรังษี ชนวนพระกริ่งไพรีพินาศ ชนวนพระกริ่ง 7 รอบ ชนวนพระบูชา ภปร. ชนวนพระบูชาพระชินสีห์ ชนวนพระบูชาพระศาสดา ชนวนครอบน้ำพระพุทธมนต์รุ่นต่างๆ เป็นต้น และชนวนแผ่นโลหะจารของพระเกจิจากทั่วประเทศที่ทรงรวบรวมไว้ 108 องค์ มาผสมในการจัดสร้าง “พระกริ่งคชวัตร รุ่น 2” ฉลองพระชนมายุ 100 พรรษา โดยในการสร้างใช้สูตรผสมเต็มสูตรตามแบบการสร้างพระกริ่งของวัดบวรนิเวศวิหารที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ภายในองค์พระกริ่งทุกองค์ได้บรรจุเส้นพระเกศาและผงมวลสารที่พระองค์ประทานผสมทุกรายการ พร้อมกันนี้ พระองค์ท่านประทานอนุญาตให้อัญเชิญรูปตราสัญลักษณ์พระนามย่อ ‘ญสส.’ มาประดิษฐานที่ ‘พระกริ่งคชวัตร’ เพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย
พระกริ่งคชวัตร รุ่น 2 ประกอบด้วย เนื้อทองคำ เนื้อนวโลหะ เนื้อทองเหลือง ในการนี้ได้จัดสร้างพระชัยวัฒน์ ครอบน้ำพระพุทธมนต์ พระบูชา และพระพุทธพิมพ์สมเด็จพิมพ์ใหญ่ แบบโบราณ โดยจัดสร้างจำนวนจำกัด ประกอบพิธีเททองประมาณเดือนสิงหาคม พิธีพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2556 ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เวลา 15.19 น.