ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา
เสกสรร สิทธาคม
[email protected]
สืบสานพระบรมราโชวาทด้านศิลปะและวัฒนธรรม
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9 พระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ตลอดจนทรงถือปฏิบัติเป็นพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์สืบสานเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของไทย ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะนักศิลปะและศิลปินได้ศึกษาและน้อมนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติตนเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะที่มีค่าสู่สังคมไทย มาอย่างต่อเนื่อง
เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่พสกนิกรชาวไทยในช่วงขึ้นศักรราชใหม่แบบไทยจึงอัญเชิญพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเกี่ยวกับงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม ตลอดจนประเพณีที่มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อการเป็นพื้นฐานเพื่อการสืบสานและพัฒนาสังคมไทย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่มิได้
พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๐๓ เกี่ยวกับคุณค่าและคุณประโยชน์ของการมีประเพณีของชาติ ความตอนหนึ่งว่า
“...ประเพณีทั้งหลายย่อมมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน เรามีประเพณีของชาติไทยเป็นสมบัติ เราควรจะยินดีอย่างยิ่งและช่วยกันส่งเสริมรักษาไว้ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ...”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานขณะเสด็จพระราชดำเนิน โดยรถไฟพระที่นั่งไปยังจังหวัพระนครศรีอยุธยา เพื่อทอดพระเนตรโบราณสถาน และ โบราณวัตถุที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา และเพนียดคล้องช้าง เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๐๕ ความตอนหนึ่งว่า
“...น่าภูมิใจยิ่งนัก ศิลปะของไทยรุ่งเรืองมาแต่โบราณกาลและสามารถแสดงลักษณะของชาติได้อย่างแท้จริงก็เพราะบรรพบุรุษของเรามุ่งทำขึ้นเพื่อศิลปะด้วยความบริสุทธิ์ใจแท้ๆ การเผยแพร่งานศิลปะของไทยในต่างประเทศนั้นก็เป็นประโยชน์โดยส่วนรวมมาก เพราะศิลปะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างชาติ และทำให้นานาชาติอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุขได้...”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๐๔ ความตอนหนึ่งว่า
“...โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและโบราณสถานทั้งหลายนั้นล้วนเป็นของมีค่า และจำเป็นแก่การศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดีเป็นเครื่องแสดงถึง ความเจริญรุ่งเรืองของขาติไทยที่มีมาแต่อดีตกาล สมควรที่จะสงวนรักษาให้คงทนถาวร เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล โดยเฉพาะโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษาและตั้งแสดงให้นักศึกษาและประชาชนได้ชมและศึกษาหาความรู้ให้มาก และทั่วถึงยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ ข้าพเจ้าได้คิดมานานแล้วว่า โบราณวัตถุและศิลปวัตถุของท้องถิ่นใด ก็ควรจะเก็บรักษา และตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของจังหวัดนั้นๆ ข้าพเจ้าพอใจที่กระทรวงศึกษาธิการและกรมศิลปากรเห็นพ้องด้วย และทำได้สำเร็จเป็นแห่งแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ กรุงศรีอยุธยาเคยเป็นราชธานี อันรุ่งเรืองอยู่ถึง๔๑๗ ปี มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ อันควรแก่การสนใจศึกษามากมาย...”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานในพิธีเปิดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๑ เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๑๕ ความตอนหนึ่งว่า
“...การสร้างงานศิลปะทุกอย่างทุกประเภท นอกจากจะต้องใช้ความฝึกหัดชัดเจนในทางปฏิบัติ ประกอบกับวิธีการที่ดีอย่างเหมาะสมแล้ว ศิลปินจำต้องมีความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจในงานที่ทำด้วย จึงจะได้ผลงานที่มีค่าควรแก่การยอมรับนับถือ...”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแก่คณะกรรมการตัดสินภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยมประจำปี ๒๕๑๘ ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๑๙ ความตอนหนึ่งว่า
"…ผู้ที่เป็นศิลปินจะเป็นแขนงใดก็ตามเป็นผู้ที่ศึกษาจิตใจและร่างกายของมนุษย์และแสดงออก เพื่อให้ผู้อื่นได้เห็นเพราะว่าคนทุกคนอาจจะไม่มีความชำนาญความสามารถที่จะศึกษาและแสดงออกมาทั้งทุกคนอาจจะไม่มีความสามารถที่จะสังเกตสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของคน ฉะนั้น ศิลปินมีหน้าที่ที่จะดูว่า มีความรู้สึกอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อ ผู้อื่นและแสดงออกมาในทางของตน ประโยชน์ที่จะได้ทางตรงและเป็นที่ทราบกันทั่วไปสำหรับศิลปิน คือทำให้ผู้อื่นมีความบันเทิง มีความสุขในการได้เห็น ได้ดู ได้ฟัง ศิลปะที่แสดงเป็นประโยชน์อย่างอื่น คือ ชี้ให้เห็นว่าสิ่งใด มีอยู่ในหัวใจของคน และเมื่อเห็นแล้ว ผู้ที่เห็น ผู้ที่เรียกว่าผู้ชม ผู้ฟัง ก็อาจจะนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้มาก...”
พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแก่คณะนาฏศิลป์จากกรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ความตอนหนึ่งว่า
“...คำว่า วัฒนธรรมนี่ จะแปลว่าอะไรก็แล้วแต่จะตีความ ความจริงแปลว่า ความเจริญความก้าวหน้า แต่วัฒนธรรมในที่นี้ก็คงจะบ่งถึงว่า มีความเจริญมาช้านาน ไม่ใช่ว่ามีความเจริญก้าวหน้า แต่มีความเจริญมาเป็นเวลาช้านาน ต่อเนื่องมาและจนกระทั่งฝังอยู่ในสายเลือด แต่ถ้าเราไปแสดงตนว่ามีวัฒนธรรม ว่ามีฝีมือ เท่านั้นเองก็ไม่พอ ต้องแสดงว่าวัฒนธรรมของเราอยู่ในเลือด วัฒนธรรมไทยมีความอ่อนโยน ก็ต้องเป็นคนอ่อนโยนทั้งในเวลาที่มาแสดง ทั้งนอกเวลาแสดง วัฒนธรรมหมายถึงว่าเป็นคนที่มีความคิดสูงด้วย อย่างเราบอกว่าคนนี้มีวัฒนธรรมหรือคนที่ไม่มีวัฒนธรรม หมายความว่าคนนี้หยาบคายหรือคนนี้อ่อนโยน มีความ สุภาพเรียบร้อย ก็แสดงความสุภาพเหมือนกัน ให้เห็นว่า ความสุภาพอ่อนโยนนั้นอยู่ในเลือดของคนไทย...”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงให้ความสำคัญและทรงตระหนักถึงคุณค่าในงานดังกล่าว ได้แก่ ทรงตั้งกรมมหรสพเพื่อฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย ทรงตั้งโรงละครหลวงขึ้นเพื่อส่งเสริมการแสดงละครในหมู่ข้าราชบริพาร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกแบบอาคารสมัยใหม่เป็นแบบทรงไทย เช่น ตึกอักษรศาสตร์ ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาคารโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เป็นต้น
สมควรที่พวกเราพสกนิกรพร้อมใจกันเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทศึกษาพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสตลอดจนพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เฉพาะอย่างยิ่งพระราชกรณียกิจด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ตลอดจนร่วมปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมไทยประเพณีไทยที่ดีงามล้ำค่า ดำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ไทยให้สืบสานต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน เพื่อความมั่นคงของแผ่นดินสืบไป