สำนักงานสหกรณ์จังหวัดยโสธร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรและประเมินความพร้อมในการทำอาชีพการเกษตร ตามโครงการพาลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร เมื่อวันที่ 16 มี.ค. นายปกป้อง ประไพพงษ์ นักวิชาการสหกรณ์ปฏิบัติการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดยโสธร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรและประเมินความพร้อมผู้สมัครเข้าร่วมโครงการพาลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร ปี 2563 โดยในจังหวัดยโสธรได้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 88 ราย และมีสหกรณ์สมัครเข้าร่วมคารงการฯ จำนวน 9 สหกรณ์ ในส่วนของสหกรณ์การเกษตรกุดชุม จำกัด อำเภอกุดชุม ได้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ และมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 9 ราย โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดยโสธร ได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะตรวจเยี่ยมผู้สมัครและประเมินความพร้อมในการทำอาชีพการเกษตร ดังนี้ นายพงษ์ดนัย กองคำ วุฒิการศึกษา ระดับปริญญาตรี ด้านวิศวกรรมเครื่องยนต์ ในอดีตเคยทำงานในโรงงานผลิตรถกอล์ฟในเครือซัมมิท ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันเดินทางกลับมาทำอาชีพการเกษตรที่บ้านได้ 3 ปี โดยทำอาชีพเลี้ยงวัว ต้นน้ำ พันธุ์ วากิว เพื่อขายลูกให้กับพ่อค้า ปัจจุบันอาศัยบ้านเลขที่ 63 หมู่ 6 ตำบลหนองหมี อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ทำอาชีพการเกษตร เลี้ยงวัวพันธุ์ วากิว มีพื้นที่การเกษตรจำนวน 21 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ทำนา 17 ไร่ เลี้ยงวัว และปลูกหญ้า จำนวน 4 ไร่ ใช้เงินทุนส่วนตัวในการทำฟาร์มวัว จากการสอบถามเบื้องต้นของผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ เหตุผลที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ เพราะคุณพ่อเสียชีวิต จึงอยากจะกลับบ้านมาดูแลแม่ที่มีอายุมาก ประกอบกับเศรษฐกิจไม่ดี สินค้าต่างๆ ราคาแพง จึงเลือกที่จะกลับบ้านและได้มาทำการเกษตร โดยได้ให้ความสนใจในการเลี้ยงวัวพันธุ์ วากิว ผสมพันธุ์เพื่อขายลูกวัว แรกเริ่ม ได้ศึกษาหาความรู้โดยการไปศึกษาดูงานในฟาร์มเลี้ยงวัวในจังหวัดสุรินทร์ ใช้เวลาในการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก ทั้งในการวางแผนการตลาด การผลิตลูกวัวเพื่อส่งให้พ่อค้าเป็นเวลาเกือบสองปี ปัจจุบัน ตนเป็นประธานกลุ่มผู้เลี้ยงวัวในชุมชน มีสมาชิกในกลุ่ม 16 ราย เพราะมีความสามารถในการผสมเทียมวัว การรักษาโรคในเบื้องต้น เป็นการลดต้นทุนในการเลี้ยงวัวภายในกลุ่ม การที่สมัครเข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร ปี 2563 ในครั้งนี้ เห็นว่าเป็นโครงการที่ดี และสามารถสร้างอาชีพหลักให้กับตนเองได้ อีกทั้งตนเองยังขาดความรู้ ความสามารถ ในการบริหารการจัดการฟาร์มที่ถูกต้อง ปัญหาเรื่องการบริหารการจัดการน้ำ รวมไปถึงการทำให้สมาชิกในกลุ่มมีความรู้เหมือนกับตนเอง จึงคิดว่า โครงการนี้จะสามารถสร้างองค์ความรู้ให้กับตนเองและให้กับคนในชุมชน สร้างเครือข่ายการตลาด อีกทั้งในอนาคต ตนและสมาชิกอาจจะเข้าสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงถึงแหล่งเงินทุนได้ และตนยังหวังว่าตนและสมาชิกจะมีพี่เลี้ยงจากหน่วยงานภาครัฐคอยให้คำปรึกษาในเรื่ององค์ความรู้ ต่อไปอีกด้วย