ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha" เมื่อวันที่ 16 มี.ค.63 ระบุให้ความเห็นถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่จะมีมาตรการปิดสถานบันเทิง สนามมวย รวมทั้งเลื่อนจัดงานสงกรานต์ไปว่า “การปิดดังกล่าว เป็นเพียงการชะลอตัวเลข แต่จะสัมฤทธิ์ผลได้นั้นต้องมีกระบวนการอย่างอื่นทำควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ โดยที่มาตรการสูงสุดที่แท้จริงคือปิดเมือง ปิดบ้านอย่างน้อย 14-21วัน ทำไม 14 ถึง 21 วัน? อย่างน้อยในช่วง 14 วันนี้ คนที่อยู่ในระยะฟักตัวและมีอาการชัดเจนสามารถเก็บกักตัวได้เลย และรักษาช่วยชีวิต และในกลุ่มที่อาการน้อยมากจะแพร่เชื้อออกมาได้เฉลี่ย 20 วัน และหายเอง ในเมืองหนึ่งๆที่ปิด มีมาตรการอะไร? ประชาชนทุกคนออกจากบ้านน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นโดยใส่หน้ากาก รักษาระยะห่างหนึ่งถึง 2 เมตร ทำธุระตามต้องการเสร็จกลับเข้าบ้าน หยุดสถานศึกษาไม่มีการประชุมใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้ โดยผ่านระบบออนไลน์ คนที่ยังทำงานอยู่ออกจากบ้านคือคนที่ทำงานในระบบสาธารณะสำหรับเมืองๆ นั้น และไม่ให้ทำงานทุกคน เพราะถ้าติดเชื้อทุกคนในองค์กรนั้น จะไม่เหลือใครมาทำงานสาธารณะ สาธารณูปโภค ระบบจะพินาศ ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าคณะรัฐมนตรีติดเชื้อหมดทุกคน เป็นตัน จะดีหรือ? รถโดยสารสาธารณะจะต้องว่างที่สุดโดยให้ผู้โดยสารห่างกันหนึ่งถึงสองเมตร การเลื่อนวันสงกรานต์ไปเป็นเดือนอื่นช่วยจริงหรือไม่? ไม่ได้ช่วยอะไรมากนักถ้าไม่มีมาตรการปิดแต่ละเมืองปิดบ้าน 14 ถึง 21 วันมาก่อน เพราะกิจกรรมอื่นยังคงดำเนินอยู่มีคนทำงานเช่นเดิม รถโดยสารยังเต็มเหมือนเดิม ทนทำงานในออฟฟิศ ปิดแต่กรุงเทพเมืองเดียวช่วยได้จริงหรือ? ถ้าคิดจะปิดกรุงเทพเมืองเดียว โดยดูจากจำนวนผู้ติดเชื้อว่าส่วนมากอยู่ที่กรุงเทพอาจยืนอยู่บนสมมติฐานที่ เจอคนติดเชื้อใน กทม เยอะที่สุด แต่ทั้งนี้เป็นไปได้หรือที่เมืองอื่นไม่มีผู้ติดเชื้อและกำลังแพร่เชื้ออยู่”