ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง : ค่ำคืน “เขาวัง” เมืองเพชร สวยงามมาก ดั่งวิมานฟ้าพระนครคีรี จากที่ห่างเหิน “เขาวัง” หรือที่ทางการเรียก “พระนครคีรี” มาหลายปี เพิ่งสบโอกาสไปเดินเที่ยวชมอาคารโบราณสถาน พระที่นั่ง พระตำหนัก และกลุ่มอาคารต่างๆ ที่มีสไตล์สถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนิโอคลาสสิกผสมสถาปัตยกรรมไทยและจีน ยิ่งช่วงนี้จังหวัดเพชรบุรีจัดงานประจำปี “พระนครคีรี – เมืองเพชร” มีการประดับดวงไฟตามเส้นทางเดินขึ้นไปบนเขาวัง ทำให้บรรยากาศกลางคืนสวยงามเป็นพิเศษ สมกับภายใต้ชื่อ“วิมานฟ้าพระนครคีรี อัญมณีแห่งสยาม” อีกเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี แต่งกายชุดไทยย้อนยุคต้อนรับและบริการนำชมอาคารโบราณสถานต่างๆ ให้กับนักท่องเที่ยว ค่ำคืนเขาวัง ดั่งวิมานฟ้าพระนครคีรี พระธาตุจอมเพชรและวัดพระแก้วน้อย เขาวัง ชื่อที่ชาวเมืองเพชรบุรีเรียกกันติดปาก ส่วนชื่อทางการ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี ตั้งอยู่บนยอดเขา 3 ยอดของเขาสมน (สะ-หมน) หรือ เขามหาสมณ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระราชทานนามใหม่ว่า เขามหาสวรรค์ ภายหลังเรียกกันว่า เขามไหสวรรย์ โดยอดเขาสูงสุด 92 เมตร ยอดเขาด้านทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของวัดมหาสมณารามและวัดพระแก้ว เป็นวัดประจำพระราชวังพระนครคีรี เขายอดกลางเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุจอมเพชร ยอดเขาด้านทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งของพระราชวังที่ประทับต่างๆ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) เป็นแม่กอง และพระพชรพิไสยศรึสวัสดิ์ (ท้วม บุนนาค ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาภาณุวงศมหาโกษาธิบดี) เป็นนายงานในการก่อสร้าง ตั้งแต่พุทธศักราช 2402 โดยนำสถาปัตยกรรมแบบนีโอ-คลาสสิกมาเป็นแบบ รวมถึงศิลปะไทยและจีน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ.2405 จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมพระราชมณเฑียร และพระราชทานนามพระราชวังว่า พระนครคีรี นับเป็นพระราชวังบนภูเขาแห่งแรกของไทย (แผ่นพับนำชม, และอื่นๆ ประกอบเนื้อความ) พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระนครคีรีได้รับการบูรณะครั้งใหญ่มาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2426 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เพื่อรับรองพระราชอาคันตุกะ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2496 และครั้งที่ 3 พ.ศ.2522 โดยครั้งนี้กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบ และประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2532 พระนครคีรียังคงได้รับการบูรณะ อย่างวันที่ไปเดินชมอาคารโบราณสถานบางหลังมีการตั้งนั่งร้านเพื่อซ่อมแซม “มีการจัดงบประมาณตามแผนงานบูรณะ” ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว หอชัชวาลเวียงชัย เพลิดเพลินกับการเดินชมอาคารพระที่นั่ง พระตำหนัก และกลุ่มอาคารต่างๆ บนยอดเขาวัง วิมานฟ้าพระนครคีรีในค่ำคืนแล้ว เดินลงมาแวะไปเที่ยวงานประจำปี “พระนครคีรี – เมืองเพชร” จัดที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานมีการจัดเทิดพระเกียรติน้อมรำลึกถึงบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเพชรบุรี และเฉลิมฉลองพระราชสมัญญาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2562 นอกจากนี้มีการสาธิตงานสกุลช่างเมืองเพชร 12 งานช่าง จัดแสดงสาธิตวิถีชีวิตชาติพันธุ์ 8 ชาติพันธุ์ อาทิ ไทยทรงดำ ไทยพวน ไทยเวียง กะเหรี่ยง มอญ ลานการแสดงพื้นบ้านและอื่นๆ อีกมากมาย งานมีไปถึงวันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม 2563 นี้ เขาวัง หรือ พระนครคีรี พระราชวังแห่งเดียวที่ตั้งบนภูเขา มีโบราณสถานคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรมมรดกแห่งความภาคภูมิใจของชาวเพชรบุรีตั้งแต่แรกสร้างจนถึงปัจจุบัน