นาทีนี้ต้องยกพื้นที่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองให้กับ “พรรคประชาธิปัตย์” ในฐานะพรรคการเมืองที่มีความเข้มข้น ดุเดือด และดุดัน อย่างที่สุด แม้ล่าสุดประชาธิปัตย์วันนี้จะกลายเป็นพรรคร่วมรัฐบาลลำดับที่ 2 หลังจากถูก “พรรคภูมิใจไทย” ของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ด้วยเหตุที่ ภูมิใจไทยเพิ่งได้ “9ส.ส.” ที่เคยสังกัดอดีตพรรคอนาคตใหม่มาเข้าสังกัดส่งผลให้ภูมิใจไทย มีส.ส.ในมือ61 เสียง ขณะที่ประชาธิปัตย์ มีอยู่ 52 เสียง แต่กลับกลายเป็นว่านาทีนี้ ประชาธิปัตย์กำลังหันมาเล่น “กดดัน” เสมือนถืออำนาจการต่อรอง กับรัฐบาลให้ต้องตัดสินใจอย่างใด อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะการเลือก “ตัดเนื้อร้าย” เพื่อรักษาอวัยวะสำคัญ ด้วยการปรับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากเก้าอี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทษฐานที่ “คนใกล้ชิด”เข้าไปมีส่วนพัวพันกับขบวนการค้าและกักตุนหน้ากากอนามัย ในยามที่บ้านเมืองกำลังเผชิญหน้ากับไวรัสโควิด-19 เสียงที่ดังอื้ออึงออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ตลอดหลายวันที่ผ่านมา จะพบว่า ส.ส.ขั้วหนึ่งของพรรค ออกมาเรียกร้องให้ พรรคทบทวนว่าจะอยู่ร่วมรัฐบาลของ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อไปหรือไม่ หาก ที่สุดแล้วผู้นำรัฐบาลยังไม่มีตัดสินใจ ปรับเปลี่ยนให้ร.อ.ธรรมนัส ออกจากครม. ซึ่งส.ส.ในปีกนี้นำโดย “อันวาร์ สาและ” ส.ส.ปัตตานี และ “พนิต วิกิตเศรษฐ์” ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และก็เป็นส.ส.ในกลุ่ม “17ส.ส.” ที่เคยประกาศจุดยืนไม่ยอมลงมติไว้วางใจให้กับร.อ.ธรรมนัส ในศึกซักฟอกที่ผ่านมา ส่งผลให้ร.อ.ธรรมนัส กลายเป็นรัฐมนตรีที่ได้รับคะแนนไว้วางใจ “น้อยที่สุด” ฉายภาพให้เห็นชัดว่า เขาคือ “จุดอ่อน” ในครม. มากกว่าใครเพื่อน เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณสมบัติของร.อ.ธรรมนัส ยังถูกตอกย้ำด้วยคำถามอีกครั้ง เมื่อ “คนใกล้ตัว” คือ “พิตตินันท์ รักเอียด” ซึ่งเป็นคณะทำงาน ดันเข้าไปถ่ายภาพและถูกโยงว่ารู้จักกับ “ศรสุวีร์ ภู่รวีร์รัศวัชรี” ผู้ถูกกล่าวว่าเป็นคนกักตุนและขายหน้าหากอนามัย ทั้งที่เวลานี้หน้ากากอนามัยกำลังเป็นที่ต้องการของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ในทุกโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เวลานี้ กระบวนการตรวจสอบทุกข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับ “คนใกล้ชิด” ร.อ.ธรรมนัส กำลังเดินหน้าไป แต่ดูเหมือนว่า ความเชื่อมั่นที่สังคมมีต่อเขา กลับมีแต่จะดิ่งลงเหว อีกทั้งยังกลายเป็นว่ารัฐบาลของ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง ก่อนที่ “เรือเหล็ก” ลำนี้จะล่มจมน้ำด้วยประชาชนสิ้นความเชื่อถือ แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว โดยเฉพาะ “กลุ่ม 17 ส.ส.” ที่เคยจะไม่ยกมือโหวตไว้วางใจร.อ.ธรรมนัส ได้ใช้ช่วงจังหวะนี้ กดดันทั้ง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ให้ทบทวนจุดยืนของพรรคว่าจะอยู่ร่วมรัฐบาลที่ถูกครหาว่าด้วยเรื่องของความไม่โปร่งใส ต่อไปอย่างนั้นหรือ ? แรงกดดันจาก กลุ่ม17 ส.ส.ที่ออกมาประกาศตัวให้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ที่พุ่งไปยังจุรินทร์ และกลุ่ม ได้กลายเป็นภาพสะท้อนที่ชี้ให้ “คนนอก”ได้เห็นถึง “รอยร้าว” ที่เกิดขึ้นภายในพรรคประชาธิปัตย์ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จนถึงขั้นที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเบื้องหลังของการออกมาเคลื่อนไหวของ “กลุ่ม17ส.ส.”กลุ่มนี้นั้น เพราะเป็นกลุ่มที่เชื่อมโยงและสนับสนุน “อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” ที่ชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่เคยประกาศตัวไม่หนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี มาแล้วใช่หรือไม่ ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการตั้งรัฐบาล “ประยุทธ์2/1” จะเห็นได้ถึงความวุ่นวาย การไม่เป็นเอกภาพของพรรคประชาธิปัตย์ ว่าไม่เพียงแต่จะมีกลุ่มก๊วนภายในพรรคเท่านั้น แต่ขณะเดียวกัน ยังมี “ฝ่ายแค้น” อยู่ในรัฐบาล ด้วยเหตุที่มีส.ส.ของพรรคมักออกมาแสดงเห็นวิพากษ์ตัวพล.อ.ประยุทธ์และการบริหารงานรัฐบาล อย่าง “เทพไท เสนพงศ์” จนทำให้พรรคประชาธิปัตย์ เคยได้รับ “การเตือน” จาก “ผู้จัดการรัฐบาล” อย่า ง “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและในฐานะ ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ มาแล้ว เช่นเดียวกับการที่ขั้วหัวหน้าพรรค อย่างจุรินทร์เองต้องออกโรงเคลียร์ปัญหาเดิมๆวนไปวนมา จนทำให้ล่าสุด นายกฯถึงกับออกปากหยอกจุรินทร์ ในระหว่างพักการประชุมครม.ว่าจะให้บิ๊กป้อมไปช่วยบริหารพรรคประชาธิปัตย์ให้ดีหรือไม่ งานนี้เรียกทั้งเสียงฮา และกลายเป็น “ตลกร้าย” ขึ้นมาในคราวเดียวกัน และเมื่อภายในประชาธิปัตย์ มีกลุ่ม 17ส.ส. ที่ประกาศท่าทีกดดันให้พรรคถอนตัวจากรัฐบาล ด้วยเหตุที่ไม่อยาก “ตายหมู่” จมน้ำไปพร้อมกับเรือเหล็ก ของพล.อ.ประยุทธ์ จากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ยังพบว่า “กลุ่ม24ส.ส.” ที่นำโดย ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ได้นำคณะส.ส.ของพรรคแถลงข่าวประกาศท่าทีหนุนให้พรรคอยู่ร่วมรัฐบาล กอดคอไปกับพล.อ.ประยุทธ์ ต่อไป การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่ม 24ส.ส. กลุ่มนี้กำลังแสดงให้เห็นว่า เหรียญนั้นย่อมมีสองด้าน ภายในพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้แค่กลุ่ม17 ส.ส.ที่มีพลังในการกดดันเพียงฝ่ายเดียว ! อย่างไรก็ดี การออกมากดดันรัฐบาล ภายใต้ความหวังให้พล.อ.ประยุทธ์ ปรับครม. เขี่ย ร.อ.ธรรมนัสออกจากรัฐบาล ของกลุ่ม17 ส.ส.ประชาธิปัตย์นั้น ดูจะหนักแน่น และแข็งกร้าวในจุดยืนที่ว่า “เลิกพายเรือให้โจรนั่ง” ซึ่งกลายเป็นวลี ที่ พนิต วิกิตเศรษฐ หนึ่งในแกนนำกลุ่ม17ส.ส.ย้ำชัดเจนว่า เขาเจตนาที่จะใช้คำๆนี้ เพื่อขอให้พรรคทบทวนมติการอยู่ร่วมรัฐบาล กับการคำนึงถึงเกียรติภูมิ ของประชาธิปัตย์ที่ยึดมั่นในหลักการและความถูกต้อง ทั้งนี้การออกแรงกดดันไปยังหัวหน้าพรรคที่ชื่อจุรินทร์ โดยกลุ่ม17 ส.ส.ด้านหนึ่ง “คนนอก” อาจจะมองว่านี่คือการยื่นข้อเสนอให้กับผู้นำพรรคตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า นักวิเคราะห์การเมืองจำนวนไม่น้อยกลับมองว่า นี่คือกลยุทธ์การเล่นไพ่หลายหน้าในสไตล์พรรคประชาธิปัตย์ต่างหาก ! โดยเฉพาะในยามนี้ ที่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในช่วง “ขาลง” คะแนนนิยมตกต่ำ แทบดับวูบ หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่เลือกแสดงจุดยืนในทางที่แตกต่างออกไปแล้ว ก็เท่ากับเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้พรรคเสียหายไปพร้อมๆกับรัฐบาล หากมองย้อนกลับไป ยังประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์แล้วจะพบว่า ในอดีต พรรคก็เคยต้องแสดงจุดยืนทางการเมืองมาแล้ว เมื่อคราวที่บ้านเมืองเผชิญกับวิกฤติศรัทธา โดยในสมัยรัฐบาลของพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ ส่วน “ชวน หลีกภัย” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในตอนนั้นรัฐบาลน้าชาติ ถูกกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างหนัก จนได้รับฉายาว่า “บุฟเฟต์คาบิเนต” พรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล เมื่อเดือนธ.ค.2533 ก่อนที่จะนำไปสู่การยึดอำนาจโดยคณะรสช. ในปี2534 เหตุการณ์ครั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์เลือกตัดสินใจ สละเรือเพราะไม่อาจร่วมรัฐนาวาได้อีกต่อไป ด้วยกระแสสังคมต่อต้านรัฐบาลน้าชาติ อย่างรุนแรง และสำหรับในวันนี้ ปี2563 ยุครัฐบาลนายกฯประยุทธ์ ก็กำลังเจอกับวิกฤติศรัทธา ที่เป็นเหมือนมรสุมใหญ่ โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์ จะเลือกตัดสินใจประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล เหมือนในอดีต จะเป็นการตัดสินใจที่ถูกหรือไม่ ยังเป็น “ทางสองแพร่ง” ให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องทบทวนและใคร่ครวญ เสียงที่สนับสนุนให้ประชาธิปัตย์ เลือกเดินออกจากรัฐบาล ยังเชื่อว่าหากเลือกทางนี้ โอกาสที่ประชาธิปัตย์จะได้รับเสียงชื่นชมยังมีความเป็นไปได้สูง รวมทั้งยังเป็นการเรียกคะแนนนิยมที่เคยเหือดหายไปก่อนหน้านี้ให้กลับมาได้ เพราะหากวันนี้ พรรคเลือกที่จะอยู่ในเรือเหล็กลำนี้ต่อไป จนถึงวันข้างหน้าแล้ว เมื่อถึงเวลานั้น “ราคา” ของประชาธิปัตย์อาจจะถูกลดทอน เหลือน้อยลงทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หาก “ดีลการเมือง” ระหว่าง “พลังประชารัฐ” กับ “เพื่อไทย” สำเร็จลุล่วงขึ้นมาเมื่อใด ย่อมหมายความว่า ทั้ง “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม”ไม่จำเป็นต้องงอนง้อ เอ่ยปากขอโทษ พรรคประชาธิปัตย์อีกต่อไป แต่หากเลือก “ไปต่อ” กอดคอจมท้ายไปกับ รัฐบาล สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาย่อมหนีไม่พ้นความร้าวฉานภายในพรรค ที่เปิดศึก ประดาบ ท้าทายอำนาจของกลุ่มจุรินทร์ กันไม่มีที่สิ้นสุด พรรคประชาธิปัตย์ สถาบันการเมือง ในปีที่ 73 อาจกำลังเดินมาถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญ ทางการเมืองอีกครา แต่ไม่ว่าจะเลือกทางไหน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการเลือกของคนที่อยู่ในสภาพ “หลังพิงฝา”ทุกทาง !