บทความพิเศษ: ทีมหญ้าแห้งปากคอก ฝุ่นพิษ PM 2.5 ยังไม่ทันหาย ไวรัสตัวร้ายก็ตามมาติด ๆ วิกฤติปัญหาโรคติดเชื้อ “ไวรัสโคโรนา 2019” หรือ “ไวรัสโควิด-19W (COVID-19) เป็นปัญหาระดับชาติที่สำคัญของรัฐบาลหากไม่พิจารณาในประเด็นการเมืองถือว่าเป็นการพิสูจน์ความสามารถในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เพราะสถานการณ์การระบาดอาจพัฒนาไปสู่ระยะ(เฟส)ที่ 3 ซึ่งเป็นระยะสูงสุดที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดการแพร่กระจายต่อในชุมชนต่างๆ เป็นวงกว้าง เช่นบางประเทศได้เข้าสู่สถานการณ์ระยะที่ 3 (Andemic period) แล้ว นับว่าเป็นวิกฤติสำคัญยิ่ง ดังที่เกิดในเกาหลีใต้ อิตาลี ผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นว่าในระยะการระบาดเต็มตัว ที่เชื้อโรคจะระบาดไปเรื่อย ๆ แล้วก็จะหยุดเอง เป็นไปได้ กว่าการระบาดจะหยุดอาจทำให้มีคนไทยสามารถติดเชื้อได้ถึงครึ่งประเทศ สหราชอาณาจักรประเมินกรณีเลวร้ายสุดอาจมีผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ 1 แสนคน ด้านอิตาลีมีผู้เสียชีวิตจำนวน 631 ราย ประกาศปิดประเทศ และเริ่มกักกันคน 16 ล้านคน มีคนไทยติดอยู่ 7 พันคน การระบาดของโรคได้เปลี่ยนโซนไปยุโรป แม้ว่า ประสิทธิภาพระบบสาธารณสุขของไทยถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีในลำดับที่ 6 ของโลก ที่ 1 ของเอเชีย แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดโรคไวรัส "โควิด-19" ปัจจุบันยังอยู่ในระยะที่ 2 (Pandemic alert period) แพร่ระบาดในวงจำกัด (limited local transmission) โอกาสที่สถานการณ์จะเข้าสู่ “ระยะที่ 3” ได้ในอีกไม่นาน ซึ่งจะเป็นช่วงการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจะพบว่ามีการติดเชื้อระหว่างคนในประเทศด้วยกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ที่ไม่เคยมีประวัติเดินทางไปยังต่างประเทศ) เช่นในกรณีที่เกิดขึ้นที่เกาหลีใต้ การท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบรัฐบาลเตรียมพร้อม เพราะนักท่องเที่ยวจีนหายหมด ประเมินว่า GDP ไทยที่โต 2.7% เหลือเพียง 0.5% รัฐบาลเลิกวีซ่าฟรี อิตาลี เกาหลีใต้ ฮ่องกง จนกว่าไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลาย ยกเลิก VOA (Visa on arrival) 18 ประเทศ เตรียมออกคำสั่งตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 บูรณาการข้อมูลและการปฏิบัติการ เมื่อ 3 มีนาคม 2563 รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงมาตรการรับมือการระบาด “ระยะที่ 3” ขอให้บุคลากรทางการแพทย์มีความตื่นตัว ในการรับมือกับการแพร่ระบาดรวมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับ การล้างมือ และการสวมใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันและจำกัดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เมื่อ 11 มีนาคม 2563 ครม. สั่งยกเลิกศูนย์กักกัน (14 วัน) ทั่วกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ ส่งกลับภูมิลำเนาให้ท้องถิ่นกักตัว (Local quarantine) เนื่องจากเกรงว่า การให้กักตัวรวมกันจะยิ่งทำให้การแพร่กระจายของเชื้อเป็นไปได้ง่ายขึ้น ไทยมียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 59 ราย กลับบ้านแล้ว 34 ราย ยังคงอยู่ รพ. 24 ราย เสียชีวิต 1 ราย ใน ยอดเฝ้าระวังกว่า 4,848 ราย ต่อข้อสังเกตห่วงใยจากความตอนที่แล้ว 1. นโยบายสำคัญโรคไวรัสโควิด-19 จากรัฐบาลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ อปท.ได้แก่ (1.1) อปท. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินการอบรมจัดทำหน้ากากอนามัยผ้าแก่ประชาชน (1.2) รัฐบาลเลิกศูนย์กักกันฯ และส่งกลับภูมิลำเนาให้ท้องถิ่นดูแล งานนี้เข้าท้องถิ่นเต็ม ๆ เป็นภารกิจเฝ้าระวังโดย อสม. หรือ “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” เช่น การสำรวจข้อมูลก่อนกลับ ใครไปทำงานที่ไหน เอาข้อมูลส่งอำเภอ แล้วอำเภอส่งข้อมูลขาเข้าจาก ตม. มาให้ จากนั้นทาง อปท.กับ รพ.สต. ไปให้คำแนะนำญาติในการปฏิบัติตัว เมื่อเจ้าตัวมาถึงบ้าน ให้กักให้อยู่ในบ้าน อสม.ก็ต้องไปสำรวจด้วย รวมกรณีที่กระทรวงคมนาคมขอให้ อปท.ช่วยเฝ้าระวังตรวจสอบกลุ่มแรงงานผิดกฎหมายจากเกาหลี (ผีน้อย) ที่หนีการกักตัวมาแต่แรกด้วยด้วย (1.3) การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (C0VID-19) ในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด มท 0816.2/ว 788 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2563 (1.4) เมื่อ 10 มีนาคม 2563 มติ ครม.เห็นชอบมาตรการเร่งรัดให้ทุกส่วนราชการจัดประชุมและสัมมนาภายในประเทศ 3 เดือน (เมษายน ถึง มิถุนายน 2563) เพื่อพยุงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (1.5) ในส่วนของการสอบคัดเลือกสายงานผู้บริหาร ม.มหิดลในฐานะคณะทำงานโครงการจ้างดำเนินการสรรหาข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ประกาศด่วนลงวันที่ 11 มีนาคม 2563 เรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ในการสอบภาคความเหมาะสมกับตำแหน่งฯ ระหว่างวันที่ 14-17 มีนาคม 2563 2. นโยบายสำคัญโรคไวรัสโควิด-19 จากรัฐบาลที่เป็นหน้าที่ของ อปท.ได้แก่ เมื่อ 11 มีนาคม 2563 ครม.เห็นชอบมาตรการดูแล-เยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 1 รวม 3 มาตรการ ช่วยเหลือทั้งภาคประชาชน ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ทั้งด้านการเงิน ภาษี และอื่นๆ แต่ไม่มีแจกเงิน 3. ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด มท 0819.2/ว732 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติการดำเนินการโครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ตามยอดงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรอบรมชาวบ้าน (ครู ก.) ทุกหมู่บ้านผลิตหน้ากากอนามัยผ้า วงเงินรวม 225 ล้านบาท เป็นราคากลางหรือเป็นเพียงยอดจัดสรรคิดเป็นรายหัว โดยมีเป้าผลิตหน้ากากอนามัย 50 ล้านชิ้น เพราะหากคิดเป็นค่าวัสดุต่อหัว จะทำให้ไม่สามารถดำเนินการผลิตหน้ากากอนามัยผ้าได้ในอัตราชิ้นละ 4.50 บาท ด้วยต้นทุนที่จำกัดมาก มีผู้รู้ได้ยกตัวอย่าง ดูที่ราคาวัสดุต่อชิ้นที่ทำหน้ากากอย่างประหยัด ผ้าสาลูเมตรละ 35-40 บาทยางยืด และด้ายเมตรละ 5 บาท 1 อันใช้ผ้า 3 ชิ้นและยางยืด, ด้าย = 7 บาท (หากผลิต 20 ชิ้นต้องใช้ผ้า 3 เมตรยางยืด 5 เมตร = 35+35+35+25 (คิดราคาต่ำสุด) = 145/20 = 7.25 บาท ยังไม่รวมค่าแรงหรือค่าอย่างอื่นหากมีการจ้างเหมา ปัจจุบันผ้าสาลูขาดตลาดและราคาสูง หรือ ลองคิดต้นทุนอีกแบบประหยัดสุด ๆ ทางร้านช่วยคำนวณให้ ซื้อผ้าสาลู หลาละ 33 บาท ผ้าสำสี หลาละ 50 บาท 1 หลา ตัดได้ 24 ชิ้น คิดต้นทุนค่าวัสดุหลัก = 33+50 = 83/24 = 3.45 บาท ยังไม่รวมค่าวัสดุและค่าอย่างอื่นซึ่งมีแน่นอน ฉะนั้น การจัดสรรให้เฉลี่ยต่อชิ้นราคา 4.50 บาท และเมื่ออบรมเสร็จชาวบ้านกลับไปบ้าน ก็ไม่มีจักรเย็บผ้า ฉะนั้น ไม่ว่าจะคิดจากราคาที่จัดสรรให้แบบใดก็ตามงบจึงไม่พอ แถมระบุว่า หากงบประมาณเหลือจ่ายให้ส่งคืนด้วย ที่สำคัญคือราคาสินค้าควบคุมนี้อยู่ที่ชิ้นละ 2.50 บาท ทำให้การคิดต้นทุนสับสน 4. ปัญหาที่ อปท.อาจเจอในการฝึกอบรมฯ เช่น (1) หน้ากากไม่เพียงพอ เพราะงบจัดสรรทำให้ผลิตหน้ากากอนามัยได้น้อย (2) หน้ากาก ไม่มีคุณภาพ แม้ มท.จะรับรองว่าเป็นไปตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข (3) กรณีมีผู้ร้องเรียนว่าการอบรมใช้งบประมาณไม่ถูกต้อง สตง. ป.ป.ช. เข้าตรวจสอบพบการกระทำผิดจริง อปท.ต้องรับผิดชอบและตรวจสอบให้ดี 5. สิ่งสำคัญที่ รัฐบาลและ อปท.ควรดำเนินการคือ (1) ช่วยแก้ปัญหาหน้ากากให้แก่บุคลากรด่านหน้าคือ แพทย์ พยาบาล ฯ ให้เพียงพอทั่วประเทศ กำลังการผลิตวันละ 1.2 ล้านชิ้น ต่อประชากร 66 ล้านคน เห็นได้ชัดเจนว่าการผลิตไม่เพียงพอ หรือมีราคาสูงเพราะความต้องการมีมากกว่า จึงเป็นสินค้าที่ต้องควบคุมราคา ห้ามกักตุน ฯลฯ (2) จัดกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่ง พ่นฆ่าเชื้อทั้งเมืองเป็นสิ่งจำเป็น (3) ช่วงนี้รัฐบาลควรหยุดรับนักท่องเที่ยวประเทศเพราะ ควบคุมยาก อีกทั้ง มท.ต้นคิดมีองค์ความรู้ในเรื่องนี้เพียงใดกับภารกิจเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเช่นนี้ จึงเสี่ยงไม่คุ้มค่าต่อต้นทุนทางการแพทย์ต่อหัวในการดูแลรักษาหากเกิดโรค (4) การเตรียมสถานที่กักตัวในผู้ที่ติดเชื้อ หรือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ สรุปว่ารัฐต้องมีวินัยที่มาก-7ho (5) ใช้มาตรการบทลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน อย่างเคร่งครัดจริงจัง (6) รัฐต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์ชี้แจงในข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกต้องแก่ประชาชนทั่วไป 6. ลองดูเรื่องผลดีที่จะได้คือ (1) ลดขยะพิษจากหน้ากากที่ใช้แล้ว (2) ลดการขาดแคลนสินค้าและมีราคาสูง (3) เป็นหน้ากากอนามัยทางเลือก หากชาวบ้านทำเป็นแล้วก็จะสามารถผลิตไว้ใช้เองได้ 7. ผลเสียหรือจุดอ่อนข้อด้อย (1) สินค้าหน้ากากอนามัยต้องอย่างดีมีคุณภาพ (2) หน้ากากอนามัยชนิดผ้าไม่สามารถกันสารคัดหลั่งหรือละออง ไอ จามได้ ประสิทธิภาพอยู่ที่ 54-59% เพราะไม่มีแผ่นกรอง หน้ากากที่อันการติดเชื้อได้คือ ชนิด N95 แต่อย่างไรก็ตามมาตรการล้างมือบ่อย ๆ จะดีกว่าการใส่หน้ากากมาก ฉะนั้นต้องมีเจลล้างมือ และ สเปรย์ด้วย 8. ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ควรงดการโปรโมต โชว์ผลงาน หรือลดการอีเวนต์ลงให้หมด โดยเฉพาะการอบรมในครั้งนี้ เพื่อประหยัดงบประมาณ และ ไม่ก่อประโยชน์อันใดแก่ภาพลักษณ์ ที่สำคัญ อปท. ไม่ชอบกิจกรรมนี้เป็นอย่างยิ่ง 9. ที่สำคัญมากชาวบ้านเขากลัวความอดอยาก เพราะเศรษฐกิจไม่ดี การไปกระตุ้นเตือนอันตรายของภัยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องมีมาตรการควบคู่ไปกับเรื่องปากเรื่องท้องด้วย เพราะ ชาวบ้านไม่กลัวตายเพราะโรคแต่กลัวไม่มีจะกินมากกว่า 10. รัฐโดยกรมการค้าภายในต้องมีความจริงใจ ใช้มาตรการทางกฎหมายให้เหมาะสมถูกต้อง ไม่ปล่อยปละละเลยให้มีสินค้าราคาแพง สินค้าไม่มีคุณภาพ หรือมีการกักตุนสินค้า การปล่อยให้อุปสงค์อุปทานกลไกตลาดจัดการกันเองในภาวะวิกฤติต้องให้คนไทยก่อน อย่าให้ผู้ผลิตแอบลักลอบผลิตขายส่งออก หรือเอาเปรียบรัฐ การบังคับให้ผู้ผลิตส่งให้แต่กรมการค้าภายในเพื่ออะไร หน้ากากไทยไม่มี แต่มีหน้ากากจากต่างประเทศ (เวียดนาม) ที่ราคาแพงกว่า แล้วสินค้าที่ผลิตในประเทศหายไปไหน หาซื้อยากและราคาแพงถึง 10 เท่า 11. ภารกิจหลายอย่างมีการใช้งบบีบจาก อปท. เช่นเงินสะสมที่มีเหลือน้อย เพราะใช้ไปก่อนนั้นมากแล้ว นอกจากนี้ อปท. ต้องสำรองเงินสะสมไว้เป็นเงินคงคลังเอาไว้ใช้ในยามจำเป็นสาธารณภัยฉุกเฉิน และ อปท.หลายแห่งอาจจำเป็นต้องใช้เงินสะสมเพื่อการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นที่คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2563 นี้ 12. ผลกระทบจากวิกฤติโรคไวรัสโควิด-19 ครั้งเกินคาดหมายมาก ประเมินความเสียหายไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจพลอยถูกกระทบไปหมด การท่องเที่ยวหายไป สินค้าตลาด การจับจ่ายใช้สอยไม่มีกำลังซื้อฯ ลามมาถึงเด็กนักเรียนก็ยังโดน รร. ประถม เลื่อนกำหนดวันสอบปลายภาคให้เร็วขึ้น วัตถุประสงค์คือ ให้เด็กอยู่บ้านยาว หนีภัยจากโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นเป้าหมายเชิงสาธารณะสำคัญกว่าผลการสอบของเด็กที่อาจมีผลสอบไม่ดีนักเนื่องจากครูรีบสอนรีบสอบ ฝ่ายการสาธารณสุขได้แสดงผลงานศักยภาพความสำคัญในคราวนี้มากกว่าฝ่ายอื่น ทั้งฝ่ายเศรษฐกิจสังคม การเมือง การศึกษา ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาทั้งหลายให้ อปท.ลืมไว้ก่อนสัก 2-3 เดือน เพราะไม่น่าจะมีผลเสียหายใด หากวิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่หมด และเข้าสู่ระยะที่ 3 ที่มีการแพร่เชื้ออย่างเต็มรูปแบบและต่อเนื่อง คงเป็นทุกข์ของคนไทย และของคนทั้งโลก เพราะเกิดเหตุการณ์รุนแรงนอกจากจีน คือ เกาหลีใต้ อิตาลี อิหร่าน ขอให้คนไทยทุกคนตั้งสติให้ดีเข้มแข็งและมีวินัย