“ทีมเพาะช่าง” คณาจารย์ ศิษย์เก่าปัจจุบันอุทิศตัวร่วมทำงานถวายในหลวง ร.9 ปั้นประติมากรรมช้าง 10 ตระกูลประดับสระอโนดาตคืบกว่าร้อยละ 90 คาดต้นแบบ 30 ตัวเสร็จกรมศิลป์ตรวจ พ.ค.นี้ เผยลักษณะพิเศษ “พญาฉัททันต์” นัยน์ตาถอดแบบรูปปั้นช้างสมัยสุโขทัย ส่วนช้างอุโบสถใส่งาอ้อมจักรวาล ระบุจัดวางท่าทางสง่างามเสริมสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศให้โดดเด่น
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 60 นายประสิทธิ เอมทิม หัวหน้าสาขาประติมากรรมไทย ภาควิชาศิลปะประจำชาติ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า กรมศิลปากรมอบหมายให้วิทยาลัยเพาะช่างเป็นผู้รับผิดชอบการปั้นประติมากรรมช้าง 10 ตระกูล ประจำทิศทั้ง 4 เพื่อประดับสระอโนดาตที่จำลองเป็นป่าหิมพานต์ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยต้นแบบประติมากรรมช้าง 10 ตระกูล คืบหน้ามากกว่า 90% อยู่ระหว่างขั้นตอนการเก็บผิวรายละเอียดงานปั้นทั้ง 30 ตัว แนวคิดการออกแบบยึดตามคติโบราณและรูปแบบในตำราคชลักษณ์ ซึ่งแสดงรูปพรรณสัณฐานของช้างตระกูลพรหมพงษ์ เป็นช้าง 10 หมู่ พระพรหมสร้างขึ้น รูปทรงของช้างทุกตัวมีความสมบูรณ์โดดเด่นตามแบบอุดมคติ อาทิ
หมู่ที่ 1 ชื่อว่าฉัททันต์ รูปร่างสูงใหญ่ งามสง่า เชื่อว่ามีพละกำลังมากที่สุด โดยทีมช่างได้ใส่รูปแบบความเป็นไทย นัยน์ตากลม เน้นเส้นชัดเจน นำต้นแบบมาจากวัดเจดีย์สี่ห้อง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งมีปูนปั้นรูปช้างประดับอยู่รอบฐานเจดีย์องค์ประธานงดงาม ทำให้นัยน์ตาช้างหิมพานต์แตกต่างจากช้างรูปแบบเหมือนจริงที่มีหนังใต้ตา ขนตา ส่วนหมู่ที่ 2 ชื่อว่าอุโบสถ มีพละกำลังรองจากฉัททันต์ นำคชลักษณ์ที่มีในหมวดอิศวรพงศ์ อย่างงาอ้อมจักรวาลนำมาผสม หมู่ที่ 3 ชื่อว่าเหมหัตถี มีความพิเศษอวัยวะ 9 อย่างของเหมหัตถีติดพื้นเป็นมงคลตามตำรา หรือหมู่ที่ 9 ชื่อว่าคงไคย ลักษณะพิเศษเป็นงาแหลมตรงยาว
นายประสิทธิ กล่าวอีกว่า ในจำนวนช้าง 10 หมู่ที่ปั้นประดับพระเมรุมาศ 30 ตัวนั้น จะมีสัตว์ผสมหิมพานต์ จำนวน 10 ตัว อาทิ กุญชรวารี กายเป็นช้าง ใส่ครีบและหางเป็นปลา วารีกุญชร ท่อนบนเป็นช้าง ท่อนล่างเป็นปลา กรินทปักษา เป็นช้างผสมนกอินทรีย์ ลักษณะเด่นช่างออกแบบหูให้เป็นปีก หางและเล็บเหมือนนก แล้วยังมีสิงหกุญชร กายเป็นช้าง ปากและเล็บเป็นสิงห์ คาดว่าต้นแบบช้างประติมากรรมทั้งหมดจะแล้วเสร็จต้นเดือนพ.ค.นี้ จากนั้นจะแจ้งคณะกรรมการของกรมศิลปากรเข้ามาตรวจสอบที่วิทยาลัยเพาะช่าง หากผ่านการพิจารณาและปรับแก้ไขแล้ว จะดำเนินการถอดพิมพ์ซิลิโคนเพื่อให้หล่อไฟเบอร์กลาส ตามแผนกำหนดกลางเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อส่งให้ช่างสิบหมู่ลงสีตามตำรา
“จากการประชุมร่วมกับกรมศิลปากร ได้ข้อสรุปการจัดวางท่าทางช้างหิมพานต์ทั้ง 30 ตัวเรียบร้อยแล้ว โดยทุกตัวมีความเป็นธรรมชาติตามความสูงต่ำของโขดหิน มีปฏิสัมพันธ์กับทัศนียภาพ จะเป็นอากัปปริยาก้าวเดิน ก้าวขึ้นโขดหิน หรือยืนสง่าบนโขดหิน บางตัวว่ายน้ำเล่นในสระอโนดาตอย่างสนุกสนาน เมื่อประกอบติดตั้งประติมากรรมช้างกับพื้นที่จริงแล้วจะช่วยส่งเสริมสถาปัตยกรรมของพระเมรุมาศให้สมพระเกียรติ เพราะช้าง 10 ตระกูลช่างถ่ายทอดตามตำราคชลักษณ์อย่างลงตัวและงดงาม งานดำเนินทุกอย่างราบรื่นไม่มีติดขัด เพราะทีมเพาะช่าง ทั้งคณาจารย์ ศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่า อุทิศตัวร่วมกันทำงานถวายในหลวง ร.9 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และถือเป็นเกียรติสูงสุดของชีวิตพวกเรา” นายประสิทธิ์ กล่าว