นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมเตรียมการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2563 โดยมี นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นางกอบกุล โมทนา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายสมัย โชติสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ นางจตุพร เนียมสุข ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ร่วมในการประชุม ในวันที่ 11 มีนาคม 2563 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างแผนการเตรียมการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2563 ของกระทรวงคมนาคม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 1. มาตรการหลัก ประกอบด้วย แผนรองรับการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล และแผนรองรับการเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะ มีเป้าหมาย เพื่อบูรณาการการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการบริการขนส่งสาธารณะรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2563 2. หัวข้อรณรงค์ “ใส่ใจกำลังสาม เดินทางอุ่นใจ ปลอดภัยตลอดสงกรานต์” เน้นใส่ใจตนเอง ใส่ใจผู้อื่น และใส่ใจประชาชน 3. ตัวชี้วัด ประกอบด้วย หน่วยงานในสังกัดจัดบริการขนส่งสาธารณะ ประกอบด้วย รถโดยสารสาธารณะ รถไฟ เรือโดยสาร และเครื่องบินอย่างเพียงพอต่อการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ จำนวนรถโดยสารสาธารณะที่เกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงไม่น้อยกว่า 15% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงเทศกาลสงกรานต์ย้อนหลัง 3 ปี จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บเกิดบนถนนในความรับผิดชอบของกระทรวงฯ ลดลงไม่น้อยกว่า 15% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงเทศกาลสงกรานต์ย้อนหลัง 3 ปี ผู้ประจำรถสาธารณะ รถไฟ และเรือสาธารณะทุกรายตรวจพบระดับแอลกอฮอล์เป็นศูนย์มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เรือโดยสารสาธารณะและรถไฟไม่มีการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 4. มาตรการรองรับ COVID-19 ในขนส่งสาธารณะ มีแนวทางการปฏิบัติตามมาตรการหลักดังนี้ 4.1 คัดกรองผู้โดยสาร/จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง หากตรวจพบผู้โดยสารต้องสงสัยป่วยหรือมีอาการให้ปฏิบัติตามแผนการของหน่วยงานกรณีโรคติดต่อ 4.2 ผู้ปฏิบัติงาน/ผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยาน สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า ท่าเรือโดยสารทุกแห่ง รวมถึงเจ้าหน้าที่ประจำขนส่งสาธารณะ ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตัวเอง ทำการวัดไข้ทุกวัน 4.3 ตั้งจุดบริการ อาทิ บริการให้คำปรึกษา หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เอกสารประชาสัมพันธ์ และประชาสัมพันธ์ภายในอาคารผู้โดยสาร 4.4 เตรียมการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หมายเลขติดต่อฉุกเฉินของโรงพยาบาล หน่วยกู้ภัย สถานีตำรวจ 4.5 ท่าอากาศยาน สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า ท่าเรือโดยสารทุกแห่งเพิ่มความถี่การทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค โดยเฉพาะจุดที่มีโดนสัมผัสบ่อย 4.6 เครื่องบิน มีมาตรการในการให้บริการบนเครื่องบิน มาตรการในการจัดเตรียมอากาศยานและฆ่าเชื้อโรค การทำความสะอาดภายในอากาศยาน มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังสุขอนามัยของพนักงาน มาตรการการรับขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ มาตรการด้านโภชนาการ 4.7 รถไฟ/รถไฟฟ้า เพิ่มความถี่การทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคขบวนรถไฟฟ้าหลังปิดให้บริการ อบพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อโรคในรถไฟ 4.8 รถโดยสาร/เรือโดยสาร มีมาตรการในการบริการบนรถ/เรือโดยสารสาธารณะ บริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือแก่ผู้โดยสารก่อนขึ้นรถทุกครั้ง ผู้ประจำบนรถ/เรือให้เฝ้าระวังผู้โดยสารที่พบว่ามีไข้หรือมีอาการสุ่มเสี่ยง 4.9 เรือโดยสาร ทำความสะอาดภายในตัวเรือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำทุกวัน 5. กรอบระยะเวลาดำเนินการ การเตรียมความพร้อม ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ช่วงดำเนินการเข้มข้น ระหว่างวันที่ 10 – 16 เมษายน 2563 และการสรุปและประเมินผลภายในเดือนเมษายน 2563 ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้ปรับช่วงดำเนินการเข้มข้นจากเดิมระหว่างวันที่ 10 – 16 เมษายน 2563 เป็นวันที่ 9 – 19 เมษายน 2563 สำหรับเส้นทางจุดที่เป็นคอขวดต่าง ๆ เช่น บริเวณสถานีบริการน้ำมันให้กรมทางหลวงช่วยบริหารจัดการไม่ให้เกิดการแออัดโดยอาจทำป้ายประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน เป็นต้น สำหรับการคืนผิวจราจรต้องดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนวันที่ 9 เมษายน 2563 อย่างน้อย 7 วัน สำหรับการ KICK OFF ในช่วงเทศกาลของแต่ละหน่วยงานขอให้ดำเนินการให้มีความต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้มอบให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมการขนส่งทางบก หารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการลดอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์ในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยอาจบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดอุบัติเหตุให้ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วยการให้กรมการขนส่งทางบก และบริษัท ขนส่ง จำกัด ที่มีหน้าที่ส่งประชาชนที่ผ่านการคัดกรองแล้วกลับภูมิลำเนา ประสานงานกับกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับสถานที่จัดส่งให้มีความชัดเจน มอบให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ส จำกัด เคร่งครัดดำเนินการตามประกาศเรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินอากาศเกี่ยวกับการให้บริการจากท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมรวบรวมข้อมูลรายงานให้กระทรวงฯ ทราบรายวัน