ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง
ชาวเลมอแกนระนอง พื้นที่ชีวิต “ยิปซีทะเล” เพื่อสถานะคนไทย
เอ่ยถึงชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันดามันฝั่งไทย ย่อมต้องคุ้นชื่อ อูรัคลาโว้ย มอแกลน และมอแกน
ทั้งนี้เชื่อกันว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม อาศัยหาอยู่หากินบริเวณทะเลอันดามันมาเป็นเวลานาน ประมาณ 300ปี มีหน่วยงานต่างๆ ของไทย ทั้งองค์กรรัฐและเอ็นจีโอได้ทำการสำรวจและศึกษาวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันดามันฝั่งไทยทั้ง 3 กลุ่ม เกี่ยวกับสภาพปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ทำมาหากินในทะเล และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ชายฝั่ง 5 จังหวัด ภูเก็ต พังงา สตูล ระนอง และกระบี่
จากข้อมูล “กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชนเผ่าพื้นเมือง” ฉัตรปวีน์ ถิรณิชารุจศิริ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดระนอง (สวจ.) ได้ทำการรวบรวมข้อมูลช่วงต้นปี 2560 ระบุว่า ปัจจุบันมีชุมชนชาวเล 41 ชุมชนกระจายในพื้นที่ 5 จังหวัดดังกล่าว มีประชากรประมาณ 13,000 คน
ในส่วนพื้นที่ตรงนี้ คงกล่าวเฉพาะชาวมอแกนในพั้นที่จังหวัดระนอง จากฐานข้อมูลข้างต้นมารายงานสังเขป
ชาวเลมอแกน หรือที่เรียกกัน ยิปซีทะเล จัดอยู่ในกลุ่มชาวโปโตมาเล มีเรือเป็นเครื่องยังชีพหาปลาและเป็นบ้าน ร่อนเร่อาศัยหาอยู่หากินในทะเลอันดามันมาช้านาน อาศัยอยู่ตามหมู่เกาะ และชายฝั่งทะเลตั้งแต่หมู่เกาะมะริด ประเทศเมียร์นม่า ลงไปทางใต้และทางตะวันออกในหมู่เกาะของทะเลซูลูในประเทศฟิลิปินส์ รวมถึงชายฝั่งของประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซียด้วย ในหมู่เกาะมะริดในเมียนมาร์ยังมีประชากรมอแกนอีกนับพัน ชาวเมียร์นม่าเรียกมอแกนว่า ซลัง เซลัง หรือ ซาเลา (Selon) สันนิษฐานว่า คำนี้คงจะมาจากคำว่า ฉลางหรือถลาง เป็นชื่อโบราณของภูเก็ต (Junk Selon) เป็นบริเวณที่มีชาวเลมาชุมนุมกันอยู่มากในสมัยก่อน ซึ่งเป็นตำนานเรื่องเล่าของชาวมอแกน ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเกาะในบริเวณภาคใต้ของไทย
ชาวเลมอแกน มีรูปแบบของวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ รวมทั้งค่านิยมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นของตนเอง ใช้ชีวิตเดินทางเคลื่อนย้ายถิ่น ทำมาหากินอยู่ในบริเวณเขตทะเลอันดามัน ชีวิตส่วนใหญ่ของชาวมอแกน อาศัยอยู่บนเรือที่พวกเขาเรียกว่า “กำบาง” หากินกับทะเล งมหอย ตกปลา จับปูและสัตว์ทะเลต่างๆ อาหารหลัก คือเผือกมัน มีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับฤดูกาล จากอิทธิพลของลมมรสุมในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ (เดือนพ.ค. – พ.ย.) มีคลื่นลมจัด ชาวมอแกนจะอพยพขึ้นมาสร้างบ้านเรือนตามเกาะ หรือบริเวณชายหาดที่มีอ่าวกำบังคลื่นลมเพื่อหลบลมพายุ
สำหรับชาวเลมอแกนในพื้นที่ระนอง อาศัยอยู่ 3 เกาะ คือ เกาะเหลา เกาะพยาม เกาะช้าง โดยเกาะเหลามีจำนวน 39 ครอบครัว 198 คน เกาะพยายาม 35 ครอบครัว 107 คน และเกาะช้าง 95 ครอบครัว 230 คน รวมประชากร 535 คน “ข้อมูลนี้ เราได้สำรวจทั้ง 3 เกาะ ช่วงต้นปี 60 อย่างไรก็ดี จำนวนประชากรเพิ่มหรือลด ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาสำรวจเก็บข้อมูล ณ เวลานั้นด้วย” ฉัตรปวีน์ กล่าว
แต่ทว่าปัญหาที่สำคัญของชาวเลมอแกนระนองคือ ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย และปัญหาอุปสรรคของการยื่นขอมีบัตรประชาชน อันนอกเหนือชาวเลมอแกนบางส่วนได้สัญชาติไทยที่เข้าตามเงื่อนไขระเบียบพ.ร.บ.สัญชาติ
จากข้อมูลข้างต้นกล่าวปัญหาอุปสรรคการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน คือ การพิสูจน์สถานะบุคคลโดยใช้พยานนำสืบ ปัญหาการสืบพยานคือ พยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิด การอยู่ของชาวมอแกนมีน้อยมาก เจ้าหน้าที่จึงต้องพยายามขวนขวายในการหาพยานรับรองว่า มอแกนเกิดเมื่อไหร่ เกิดอย่างไร บิดามารดาอยู่ที่ไหน เวลาการเกิดการจดจำข้อมูลเป็นเงื่อนไขในการให้ได้สัญชาติไทย ตามมาตรา 23 เพราะชาวเลไม่จดจำวันเดือนปีเกิดของตัวเอง เขาก็จะตอบไม่ได้ว่าเกิดเมื่อไหร่ จึงต้องใช้วิธีสืบพยานบุคคล ใช้วิธีการเทียบเคียงให้ใกล้เคียงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงเป็นการยากที่จะพิสูจน์ให้ครบถ้วน ถูกต้อง
อีกประการหนึ่ง สภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่ห่างไกลจากสำนักทะเบียน ปัจจุบันสำนักงานทะเบียนจึงใช้วิธีการลงไปในพื้นที่ชาวมอแกน เพื่อชาวมอแกนหรือพยานไม่ต้องมาอำเภอ แต่ถ้าเป็นหน้ามรสุมก็อาจจะหยุดหรือไม่ได้ไปบ่อย จนกว่าหน้ามรสุมทะเลหมด จึงดำเนินการต่อ
อย่างไรก็ดี ในด้านการศึกษา เด็กชาวเลมอแกนทั้ง 3 เกาะ มีสิทธิเท่าเทียมกับเด็กในเมืองระนองทุกประการ หน่วยการศึกษาจัดให้มีการเรียนการสอนตั้งแต่อนุบาล 1 ถึงประถม 6 ให้กับเด็กชาวเลทุกคน ถึงแม้ว่าไม่มีใบสูจิบัตรก็เข้าเรียนได้ เมื่อจบชั้นประถม 6 จะออกใบรับรองผลการเรียนให้ (ใบสุทธิ) และสามารถไปเรียนต่อที่โรงเรียนในระดับมัธยมได้ (ภายในจังหวัด) แต่ปัญหาคือ เด็กชาวเลจะมาโรงเรียนไม่สม่ำเสมอ และส่วนใหญ่เรียนอยู่ที่บ้าน จึงแก้ไขโดยประชุมผู้ปกครองชาวเลให้เห็นความสำคัญของการศึกษา
ด้านคุณภาพชีวิตชาวเลมอแกน มีสาธารณสุขจ.ระนองและตำบลลงพื้นที่ดูแลการรักษาพยาบาล การวางแผนครอบครัว รวมถึงดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น รณรงค์สำรวจลูกน้ำยุงลาย ให้ความรู้โรคไข้เลือดออก ตลอดจนเยี่ยมบ้านซักถามปัญหาและความต้องการ แต่อย่างไรก็ดี ต้องมีอาสาสมัครที่สามารถสื่อสารภาษาชาวเลมอแกนได้ อย่างกรณี เกาะเหลามีอสม.ที่สื่อสารกับชาวเล (มอแกน) เพียง 1 คน (เนาวนิตย์ แจ่มพิศ) ซึ่งไม่เพียงพอ
“คณะเราจะลงพื้นที่ทั้ง 3 เกาะอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อทำการเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต ประเพณี พิธีกรรมของพื้นที่ทางจิตวิญญาณชาวเลมอแกนระนอง” ฉัตรปวีน์ กล่าวทิ้งท้าย
ชาวเลมอแกนระนอง พื้นที่ชีวิตยิปซีทะเล เพื่อสถานะคนไทย