ผลทดสอบพบประสิทธิภาพใกล้เคียง ต้านการซึมผ่านของละอองน้ำได้ดีที่สุด นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก.สาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาด ตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับมอบหมายจากนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดก.สาธารณสุข ให้ศึกษาชนิดของผ้าต่างๆที่น่าจะมีความเหมาะสมในการนำมาใช้ทำหน้ากากผ้าป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีการระบาดในขณะนี้ ซึ่งก.สาธารณสุขได้รณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ ประกอบกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุขได้ให้นโยบายใช้หน้ากากป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับความเสี่ยง หน้ากากผ้าจึงเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนที่ไม่ป่วยและมีความเสี่ยงต่ำกว่าบุคลากรทางการแพทย์ ที่สำคัญคือประชาชนสามารถทำเองได้ และมีการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ประชาชนตัดเย็บหน้ากากผ้าขึ้นใช้เอง ทั้งนี้ การที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ศึกษาชนิดของผ้าต่างๆ ที่น่าจะมีความเหมาะสมในการนำมาใช้ ซึ่งทดสอบโดยเปรียบเทียบกับหน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัยซึ่งมีประสิทธิภาพ 1.สามารถกันอนุภาคขนาดเล็ก 2.ป้องกันการซึมผ่านของละอองน้ำ 3.สามารถนำไปซักได้หลายครั้งรวมถึงหาได้ง่ายทั่วไป โดยศึกษาเปรียบเทียบ ผ้าหลายรูปแบบ เช่น ผ้าฝ้ายดิบ ผ้าฝ้ายมัสลิน ผ้าสาลู ผ้านาโน และผ้ายืด ผลการทดสอบพบว่ามีผ้า 3 ชนิด คือ ผ้าฝ้ายดิบ ผ้าฝ้ายมัสลิน และผ้านาโน เมื่อนำผ้ามาประกอบกัน 2 ชั้นและส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เส้นใยผ้า สามารถกันอนุภาคได้ใกล้เคียงหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และได้ศึกษาจำนวนครั้งของการซักล้างในผ้า 3 ชนิด เพื่อทดสอบการเป็นขุย พบว่า ผ้าฝ้ายดิบและผ้าฝ้ายมัสลินสามารถซักได้มากกว่า 100 ครั้ง โดยคุณภาพของเนื้อผ้าไม่เสื่อม ส่วนผ้านาโนนั้นเมื่อซักประมาณ 10 ครั้งเริ่มเสื่อมสภาพ รวมทั้งทดสอบประสิทธิภาพการต้านการซึมผ่านของละอองน้ำพบว่าผ้าฝ้ายมัสลินและผ้าสาลูสามารถต้านการซึมผ่านได้ดีที่สุด