คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ” จากข้อมูลสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร พบว่าขยะมูลฝอยในกทม.เป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญโดยเฉพาะขยะอันตราย หรือขยะพิษ อย่างเช่น หลอดไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งาน หากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี จะกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และเกิดมลพิษต่อแหล่งน้ำ พื้นดิน และอากาศ และยังเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มุ่งมั่นพัฒนายกระดับคุณภาพการเรียนการสอนตามนโยบายรัฐบาลเพื่อเตรียมกำลังคนไปสู่ศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ได้คิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ให้มีคุณภาพ ทันสมัย ได้มาตรฐาน สามารถนำไปใช้งานได้จริง ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ในชุมชน สังคม และอุตสาหกรรม เช่น เครื่องบดหลอดไฟควบคุมการแพร่กระจายของสารปรอท ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ประเภทพัฒนาคุณภาพชีวิตของวิทยาลัยการอาชีพกาญจนาภิเษกหนองจอกที่ปัจจุบัน กทม. โดยสำนักงานเขตหนองจอก สนใจติดต่อขอนำเครื่องดังกล่าวไปใช้งานแล้ว นายพรชัย แซ่จู (ชัย) นักเรียนชั้นปวช.2แผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยการอาชีพกาญจนาภิเษกหนองจอก เล่าว่า หลอดไฟฟ้า มีส่วนประกอบของสารปรอท เมื่อหมดอายุใช้งานหรือไม่ใช้แล้ว จัดได้ว่าเป็นของเสีย มีอันตราย โดยสารปรอทเป็นโลหะหนักชนิดหนึ่งที่มีจุดหลอมเหลวต่ำ สามารถระเหยกลายเป็นไอได้ง่าย และแขวนลอยอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานาน ตลอดจนสามารถตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน การแตกของหลอดไฟจะทำให้ไอปรอทระเหยออกมา หากสูดดมเข้าไปจะทำให้สารปรอทเข้าไปสะสมในร่างกาย และถ้าได้รับสารปรอทในปริมาณมากจะเป็นโรคมินามาตะได้ โดยอาการของโรคมินามาตะคือ ชาตามมือ เท้า แขน ขาและริมฝีปาก จากนั้นจะเริ่มหงุดหงิด กระวนกระวาย พูดไม่ชัด ฟังไม่ได้ยิน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชีพจรเต้นอ่อน หัวใจเต้นผิดจังหวะ ควบคุมตัวเองไม่ได้ และเป็นอัมพาตในที่สุด ซึ่งนับวันหลอดไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งานหรือไม่ใช้แล้ว จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าการเก็บหรือทำลายไม่ถูกวิธีอาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้ นายพรชัยกล่าวว่า ประชาชนมักจะทิ้งหลอดไฟลงรวมกับถังขยะทั่วไป ไม่มีการคัดแยกขยะ ทำให้พนักงานเก็บขยะเก็บได้ค่อนข้างลำบาก ซึ่งซากหลอดไฟเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีฝังกลบ ซึ่งจะมีต้นทุนสูงมาก และเมื่อฝนตก น้ำฝนก็จะชะผ่านกองซากที่เป็นของเสียอันตราย ทำให้สารพิษไหลปนเปื้อนเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และดูดซึมเข้าสู่สัตว์น้ำและพืชผัก เมื่อรับประทานสัตว์น้ำ หรือพืชผักที่ปนเปื้อนสารพิษก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้ ตนและเพื่อนๆ จึงช่วยกันคิดค้นและสร้างเครื่องบดหลอดไฟควบคุมการแพร่กระจายของสารปรอท ซึ่งมี ครูสุชาติ คงสิน ครูแผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง เป็นครูที่ปรึกษา โดยออกแบบให้มีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลที่มีล้อสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกและปลอดภัย ประกอบด้วย ถังเหล็ก ขนาดความจุ 200 ลิตร ชุดเฟืองบดที่สามารถบดย่อยหลอดกลมและหลอดวงแหวนที่มีขนาด 18 และ 36 วัตต์ให้ละเอียดได้ถึง1ตารางเซนติเมตร ปั๊มสารเคมีที่ควบคุมด้วยระบบมอเตอร์ทำหน้าที่พ่นสารโซเดียมซัลไฟด์ลงบนหลอดไฟที่ผ่านการบดย่อยแล้ว โดยเครื่องบดหลอดไฟควบคุม การแพร่กระจายของสารปรอทสามารถบดย่อยหลอดไฟได้ 20–30 หลอดต่อนาที และลดการรั่วไหลของสารปรอทได้ไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วพ.ศ.2548 นอกจากนี้แล้ว ยังได้นำเศษหลอดไฟที่ผ่านกระบวนการและปลอดสารปรอทแล้ว นำมาต่อยอดผลิตเป็นกระถางต้นไม้โดยนำมาผสมกับปูนซีเมนต์เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้อีกด้วย ทั้งนี้ หากสนใจสั่งซื้อเครื่องบดหลอดไฟควบคุมการแพร่กระจายของสารปรอท และกระถางปลูกต้นไม้จากเศษหลอดไฟ สามารถติดต่อได้ที่ โทร.087-625-0610 หรือที่วิทยาลัยการอาชีพกาญจนาภิเษกหนองจอก