"บิ๊กตู่"ยอมถอย! เผยยังไม่นำมาตรการแจกเงิน 2 พัน ลดผลกระทบโควิด-19 เข้าที่ประชุม ครม. ขณะที่"หุ้นไทย"ปิดเช้ารูดยาวเฉียด 100 จุด หลุด 1,300 ต่ำสุดรอบ 4 ปี กลุ่มพลังงานดิ่งแรง ที่กระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 9 มี.ค.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 1/2563 โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า มาตรการการแก้ปัญหา และลดผลกระทบจากโควิด-19 ที่ออกมาทั้งหมด ทุกอย่างต้องคัดกรองในคณะรัฐมนตรี(ครม.)ใหญ่ ไม่ใช่ผ่านทั้งหมด หลายอย่างอาจไม่ผ่าน เพราะในที่ประชุม ครม.ใหญ่จะมีการทักท้วงกันว่าอะไรควรให้หรือไม่ให้ ยืนยันว่ายังไม่มีการจ่ายเงินคนละ 2,000 บาท แต่จะดูว่าช่วยตรงไหน เช่น ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าและประปาที่ทุกบ้านได้ทั้งหมดประมาณ 3,000 บาท รวมถึงมาตรการลดผลกระทบอื่น ๆ ดังนั้นเรื่องนี้จะยังไม่นำเข้า ครม.ก่อน เดี๋ยวจะว่าเป็นเรื่องการเมืองอีก จึงขออย่าเพิ่งมาติตรงนี้ และให้ขอทุกคนเชื่อมั่น ยืนยันจะนำพาประทศชาติผ่านพ้นตรงนี้ให้ได้ โดยยึดกฎหมายเป็นหลักในการทำงาน ไม่ได้ทำงานเพื่อการเมือง ขอให้ตนทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อะไรเป็นความขัดแย้งขอให้หยุดไว้ก่อน วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ ดัชนีปิดที่ระดับ 1,272.20 จุด ลดลง 92.37 จุด(-6.77%) มูลค่าซื้อขาย 56,429.63 ล้านบาท การซื้อขายหุ้นวันนี้ ดัชนีหุ้นไทยเปิดเทรดร่วงแรงกว่า 90 จุด และเคลื่อนไหวในแดนลบตลอดช่วงเช้า โดยดัชนีทำระดับสูงสุดที่ 1,299.77 จุด และทำระดับต่ำสุดที่ 1,269.61 จุด ด้าน นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้าร่วงแรง ส่งผลให้ดัชนีฯร่วงลงมาต่ำสุดในรอบ 4 ปี เช่นเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่เช้านี้ต่างติดลบถ้วนหน้าเฉลี่ย -3.5% หลักๆมาจากสงครามน้ำมันหลังผลประชุมกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรไม่สามารถตกลงกันได้ โดยซาอุดิอาระเบียจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันและลดค่าพรีเมียมน้ำมัน ส่งอาจผลให้ประเทศอื่นๆ ทำตาม ทำให้ราคาน้ำมันร่วงรุนแรง ขณะที่ Supply ในตลาดมีมากทำให้ราคาน้ำมันเมื่อปรับตัวลงแล้วจึงฟื้นได้ยาก "โดยตลาดบ้านเราได้รับแรงกดดันหลักจากกลุ่มพลังงาน เนื่องจากมีน้ำหนักถึง 30% ในตลาดฯ นอกเหนือจากปัญหาราคานำมันในตลาดโลกแล้ว ปัจจัยในประเทศยังไม่ดีนัก นโยบายภาครัฐฯในการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่โดนใจ และสาธารณสุขออกมาบอกว่ามีความเป็นไปได้ที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเข้าระยะ 3 หลังจากเฝ้าติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงและผู้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อมากเป็นพันราย ซึ่งหากเข้าระยะ 3 มองเป็นจุดพีค งบประมาณอาจถูกโยกไปที่ด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ทำให้การจะกระตุ้นเศรษฐกิจคงเป็นไปอย่างยากลำบาก" นายณัฐพล กล่าว