โควิด-19 สาหัสฉุดดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทยต่ำสุดในรอบ 27 เดือน ประเมินกระทบเศรษฐกิจครึ่งปีแรก 5 แสนล้านบาท จี้รัฐอัดมาตรการเสริมแบบจัดเต็ม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนก.พ.63 ว่า ผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยแล้ง บางส่วนมีปัญหาซ้อนเช่น ปัญหาหนี้สินของประชาชน ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยหรือ TCC-CI ยังคงลดลงต่อเนื่องและต่ำสุดในรอบ 27 เดือน หรือ 9 ไตรมาส อยู่ที่ระดับ 44.9 ลดลงจากเดือนม.ค.63 ซึ่งอยู่ระดับ 45.4 ดัชนี TCC-CI ปัจจุบันและอนาคต 6 เดือนข้างหน้าลดลงจากเดือนม.ค.63 เช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับ 42.8 และ 47.0 ตามลำดับ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจแย่ลง โดยสาเหตุหลักมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาคท่องเที่ยว ภาคบริการ หดตัวลง ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ส่งผลตลาดในประเทศและตลาดโลกหดตัวลงจากความต้องการที่ลดลง ทั้งนี้ประเมินว่าสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายภาคเศรษฐกิจประมาณ 500,000 ล้านบาทในภาคท่องเที่ยวและบริการในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ขณะที่รัฐมีมาตรการช่วยเหลือประมาณ 150,000 ล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการเสริม โดยนักธุรกิจส่วนใหญ่มองว่าในช่วง 6 เดือนข้างหน้า สถานการณ์เศรษฐิจค่อยๆดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังรู้สึกลังเลกับสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยข้อเสนอ 5 แนวทางคือ มาตรการเพิ่มความเชื่อมั่นประชาชนเกี่ยวกับการควบคุมสถานการณ์ไวรัสโควิด-19,การบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการทางการเกษตรและอุปโภคบริโภค,กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าและหันกลับมาท่องเที่ยวภายในประเทศให้มากขึ้น,เร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้นำมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมและจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมและควรมีมาตรการตรวจสอบงบประมาณว่าลงไปถึงประชาชนในระดับฐานรากอย่างจริงจัง นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ผลสำรวจทัศนะของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อสถานการณ์ปัญหาระยะเวลาสินเชื่อการค้าหรือเครดิตเทอม และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นักธุรกิจส่วนใหญ่มองว่าสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผิชญส่งผลกระทบต่อธุรกิจระดับปานกลางถึงมาก มีสัดส่วนคิดเป็นกว่าร้อยละ 91.7 ของผู้ที่ให้ความเห็น มีเพียงร้อยละ 8.29 เท่านั้นที่ตอบว่าไม่มีผลกระทบ ด้านความเสียหายเฉลี่ยต่อรายโดยรวมอยู่ที่ 484,847 บาทต่อราย ขนาดเล็กมีมูลค่าเสียหาย 141,663 บาท ผู้ประกอบการขนาดกลาง มูลค่าความเสียหายอยู่ที่รายละ 1,046,829 บาท สำหรับผู้ประกอบการร้อยละ 72.5 เห็นว่ามาตรการรัฐบาลที่ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการไม่เพียงพอที่ตอบว่าเพียงพอมีสัดส่วนร้อยละ 27.5 เท่านั้น ด้านระยะเวลาเครดิตการค้าจากสถานการณ์ปัจจุบันนั้นพบว่า ประสบปัญหาลูกค้าขอขยายระยะเวลาชำระหนี้มากกว่าร้อยละ 70 โดยขอขยายเวลาชำระหนี้ออกไปเฉลี่ย 43 วัน ซึ่งการขอขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ของลูกค้าส่งผลกระทบต่อธุรกิจถึงร้อยละ 97.4 ไม่ส่งผลกระทบเลยเพียงร้อยละ 2.6 เท่านั้น