เมื่อ​​วันที่ 8 มี.ค. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในขณะนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังคงปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในเรื่องปัญหาภัยแล้ง การผลักดันน้ำเค็ม ไฟป่า หมอกควัน การบรรเทาพายุลูกเห็บ โดยปฏิบัติการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ถึงแม้ว่าบางพื้นที่สภาพอากาศอาจจะไม่เอื้ออำนวยทางกรมฝนหลวงฯ ก็จะยังคงติดตามสภาพอากาศเพื่อรอปัจจัยที่เหมาะสมในการปฏิบัติการฝนหลวง และขอเชิญพี่น้องประชาชนร่วมกันรณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้ผ่านวิกฤตน้ำแล้งไปให้ได้ นอกจากนี้กรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนหนึ่งในการหยุดยั้งโรคระบาดครั้งนี้ โดยเฉพาะประชาชนที่กลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ขอให้ร่วมรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมโดยปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขด้วย สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ได้ขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 6 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.ลพบุรี นครราชสีมา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว กระบี่ พังงา พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำคลองสียัด และเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณพื้นที่ป่าเขาอ่างฤาไน ​ สำหรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 8 มีนาคม 2563 ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง มีจำนวน 22 จังหวัด (รวม 134 อำเภอ 700 ตำบล 3 เทศบาล 5,993 หมู่บ้าน) บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ จ.เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ และภาคกลางที่ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และฉะเชิงเทรา ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 20 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 159 แห่ง ส่วนจุดความร้อนหรือจุดที่มีการเผาไหม้ (Hotspot) ในประเทศไทย พบว่า มีจำนวน 194 จุด กระจายอยู่บริเวณพื้นที่ภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากบริเวณพื้นที่ภาคเหนือได้รับอิทธิพลหมอกควันที่เกิดจากจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้าน จึงส่งผลให้โอกาสเกิดปัญหาหมอกควันจะอยู่บริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีค่าคุณภาพอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ส่วนบริเวณพื้นที่อื่นๆ ของภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก อยู่ในเกณฑ์ดี-ดีมาก ​​ด้านการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในวันนี้พบว่า พื้นที่ภาคใต้จากผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์พนม สถานีเรดาร์ปะทิว และสถานีเรดาร์หัวหิน ความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการเกิดเมฆ 43% (พนม) 39% (ปะทิว) 62% (หัวหิน) ความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 63% (พนม) 51% (ปะทิว) 35% (หัวหิน) ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -2.4 (พนม) -4.3 (ปะทิว) 1.4 (หัวหิน) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สุราษฎร์ธานี จึงวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการเวลา 13.15 น. ภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 2 ความสูง 8,000 ฟุต ทิศตะวันตก อ.เมืองพังงา จ.พังงา ทิศใต้ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ต่อเนื่อง ภารกิจที่ 2 ขั้นตอนที่ 3 ความสูง 8,500/6,500 ฟุต บริเวณ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา พื้นที่เป้าหมายบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำและบริเวณอ่างเก็บน้ำ จ.ภูเก็ต (บางเหนียวดำ) และพื้นที่การเกษตร จ.พังงา กระบี่ ​ อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จากผลการตรวจสภาพอากาศ ยังไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไป