มิน่าล่ะ ถึงร้อนแรงและร้ายแรงนัก! สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์เฟซบุ๊กระบุ “ทุกวันนี้ไม่มีใครไม่รู้จักกับไวรัสโคโรนา แต่ทราบไหมว่าแท้จริงแล้วที่มาของชื่อนั้น มาจากชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ เมื่อมองไวรัสผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน พบว่ามีลักษณะคล้ายกับบรรยากาศชั้นโคโรนา ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศนอกสุดของดวงอาทิตย์ ลักษณะปุ่มยื่นออกมาของไวรัส (viral spike (S) peplomers) เป็นโปรตีนที่กระจุกตัวอยู่บนผิวไวรัส ทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดการตอบสนองของโฮสต์ (host tropism) ซึ่งคำว่า “corona” ในภาษาละติน แปลว่า “มงกุฎ” หรือ “รัศมี” นั่นเอง #โคโรนา บรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ ชั้นโคโรนา (Corona) เป็นบรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ ประกอบด้วย อนุภาคพลังงานสูงที่แผ่ออกมาจากดวงอาทิตย์ มีความสว่างเพียงหนึ่งในล้านส่วนของชั้นโฟโตสเฟียร์ (Photosphere) ซึ่งเป็นชั้นที่ดวงอาทิตย์เปล่งแสงสว่างออกมา อย่างไรก็ตาม ชั่วขณะหนึ่งระหว่างเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ชั้นโฟโตสเฟียร์ของดวงอาทิตย์จะถูกบดบัง ทำให้เราสามารถสังเกตเห็นชั้นโคโรนาสว่างไสวออกมาโดยรอบเงาสุริยุปราคาได้ด้วยตาเปล่า ดุจดั่งมีมงกุฎอยู่รอบๆ อันเป็นที่มาของชื่อโคโรนา โคโรนา มีความหนาแน่นเพียงหนึ่งในล้านล้านส่วน เมื่อเทียบกับแก๊สที่อยู่ภายในดวงอาทิตย์ แต่กลับมีความร้อนสูงถึง 1-3 ล้านองศาเคลวิน ซึ่งร้อนกว่าชั้นโฟโตสเฟียร์ที่มีอุณหภูมิเพียง 5,800 องศาเคลวิน เหตุที่โคโรนามีอุณหภูมิสูงขนาดนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในวงการดาราศาสตร์ แต่คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับสนามแม่เหล็กบนพื้นผิวบนดวงอาทิตย์ ส่งผลให้โคโรนากำลังสูญเสียมวลสารออกไปอย่างต่อเนื่อง กลายมาเป็นลมสุริยะ จากภาพ : (ซ้าย) ภาพตัดขวางของไวรัสโคโรนาผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน พบว่ามีโปรตีนกระจุกตัวเป็นแฉกอยู่บนผิวของไวรัส มีลักษณะคล้ายกับบรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ชื่อว่า “ชั้นโคโรนา” (ขวา) ภาพถ่ายปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ สหรัฐอเมริกา พ.ศ.2560 แสดงให้เห็นชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ อ้างอิง : [1] https://en.wikipedia.org/wiki/Coronavirus [2] https://en.wikipedia.org/wiki/Corona… เครดิตภาพ  ไวรัสโคโรนา: DR. FRED MURPHY, SYLVIA WHITFIELD/CDC สุริยุปราคาเต็มดวง: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เรียบเรียง : ธนกฤต สันติคุณาภรต์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.”