เชิงสารคดี/บูรพา โชติช่วง : เกร็ดความรู้ว่าด้วยศาสนสถานวัด ประเภทพระอารามหลวงและวัดราษฎร์ ปัจจุบันวัดไทยมีอยู่ทั่วประเทศ 41,340 วัด (ข้อมูลทะเบียนวัด ปี พ.ศ. 2561 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) หากสำรวจวัดที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครมีอยู่ 454 วัด กระจายตัวอยู่ใน 50 เขต เขตบางกอกน้อยมากที่สุด 32 วัด รองลงมาเขตตลิ่งชัน 31 วัด เขตภาษีเจริญ 27 วัด เขตธนบุรี 25 วัด เขตพระนครและเขตบางพลัด เขตละ 23 วัด นอกนั้นเขตละ 3 วัด 2 วัด และ 1 วัด (รายงานการศึกษา ศาสนสถานประเภทวัดในกรุงเทพมหานคร ปี 2555 กองนโยบายและแผนงาน สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร) กรุงเทพมหานคร เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีแล้ว ด้วยความมุ่งหมายจะทำนุบำรุงบ้านเมือง รั้ววัง วัดวาอารามให้เจริญรุ่งเรืองเหมือนกรุงศรีอยุธยาราชธานีเดิม วัดวาที่สร้างขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์นี้มักถ่ายแบบอย่างมาจากกรุงศรีอยุธยา ยกตัวอย่างเช่น สร้างวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นที่ประดิษฐสถานพระโตอัญเชิญมาแต่เมืองสุโขทัย ซึ่งมีพระราชประสงค์จะสร้างแทนวัดพระเจ้าพนัญเชิงที่กรุงเก่าดังนี้เป็นต้น พระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 นั้นยังมีน้อย ถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าพระอารามหลวงในกรุงเทพฯ นี้ยังมีน้อยกว่าครั้งกรุงเก่ามากนัก ไม่พอแก่ตำแหน่งพระราชาคณะในทำเนียบจึงทรงสร้างพระอารามขึ้นมาบ้าง ทรงชักชวนอุดหนุนเจ้านายและขุนนางที่มีกำลังพาหนะให้สร้างบ้าง ถ้าวัดของใครสร้างงดงามดีก็ทรงรับเป็นพระอารามหลวง เพื่อให้เป็นเกียรติยศแก่ผู้สร้างฤาเป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดนั้นๆ ...ความนิยมการสร้างวัดในปัจจุบันนี้ที่ได้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงนั้นต้องมีลักษณะถูกต้องตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการขอยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง พ.ศ. 2518 จึงจะนับเป็นพระอารามหลวงได้ (อ้างแล้ว) วัดสุทัศนเทพวราราม พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราชทรงสร้างและปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์พระราชทานเพื่อเป็นเกียรติยศแก่ผู้ต่ำศักดิ์ลงมา หรือแก่วัดเอง มีอยู่จำนวนหนึ่งที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารผู้ใหญ่ ทรงสร้างขึ้น หรือทรงโปรดให้ปฏิสังขรณ์และสร้างขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง รวมทั้งวัดที่ประชาชนสร้าง หรือปฏิสังขรณ์และทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวงด้วย ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการจัดลำดับชั้นของพระอารามหลวง แบ่งเป็น 3 ลำดับ คือ พระอารามหลวงชั้นเอก พระอารามหลวงชั้นโท และพระอารามหลวงชั้นตรี และในแต่ละชั้นยังแบ่งย่อยเป็นชนิดอีก มีสร้อยนามต่อท้ายเพื่อบ่งบอกลำดับชั้นความเป็นพระอารามหลวง ดังนี้ พระอารามหลวงชั้นเอก ได้แก่ วัดที่มีความสำคัญยิ่ง มีเจดียสถานบรรจุพระบรมอัฐิ หรือเป็นวัดที่มีเกียรติสูง มี 3 ประเภท คือ ราชวรมหาวิหาร, ราชวรวิหาร, วรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ได้แก่ วัดที่มีเจดียสถาน หรือวัดที่มีเกียรติ มี 4 ประเภท คือ ราชวรมหาวิหาร, ราชวรวิหาร, วรมหาวิหาร, วรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรี ได้แก่ วัดประจำหัวเมือง หรือวัดที่มีความสำคัญชั้นรอง มี 3 ประเภท คือ ราชวรวิหาร, วรวิหาร และชนิดสามัญ (ไม่มีสร้อยคำต่อท้าย) (“พระอารามหลวง-กทม.” เล่ม 3 รณยุทธ์ จิตรดอน) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร วัดราษฎร์ หมายถึง วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และสำนักสงฆ์ซึ่งไม่ได้นับเข้าเป็นพระอารามหลวง ได้แก่วัดที่ประชาชนทั่วไปสร้าง หรือปฏิสังขรณ์ซึ่งได้รับอนุญาตให้สร้างวัดและประกาศตั้งวัด โดยถูกต้องตามกฎหมายจากทางราชการ และช่วยกันทำนุบำรุงสืบต่อกันมาตามลำดับ อย่างไรก็ดี มีวัดราษฎร์ที่ได้ยกเป็นพระอารามหลวง ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ เป็นวัดที่มีความสำคัญต่อชุมชน มีอายุมากกว่า 50 ปี และมีพระสงฆ์จำพรรษาไม่น้อยกว่า 20 รูป ไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ (อ้างแล้ว) เมื่อยกวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวงแล้ว สามารถรับกฐินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ และจะมีงบประมาณสนับสนุนในการพัฒนาวัดอีกด้วย วัดบวรนิเวศ พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร