องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ชี้พร้อมเป็นหน่วยงานหลัก เปิด “ตลาดกลางค้าไม้” ภายในปี 60 นี้ ทำหน้าที่เป็นตลาดกลางรับซื้อหรือจำหน่ายไม้ท่อน ไม้ฟืน เศษไม้ และผลิตภัณฑ์ไม้จากสวนป่าเศรษฐกิจ ตลอดจนสร้างโอกาส สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ให้ความสะดวกและเพิ่มช่องทางใน การซื้อ – ขายไม้ ในราคายุติธรรมกับเกษตรกรที่ปลูกสวนป่าเศรษฐกิจ เกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อสำนักงานอ.อ.ป.ในภูมิภาค นายพิชัย รุจิโรจน์สุวรรณ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เปิดเผยว่า นโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี 2579 ของ ทส กอปรกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” การเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยการ “ปลูกสร้างสวนป่าเศรษฐกิจ” เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ถึงร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชน ภาคประชาชน และเกษตรกรรายย่อยในการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจระยะยาว และการจัดตั้งตลาดกลางค้าไม้ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในการค้าและการขนส่งไม้ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งด้านการสร้างรายได้ การฟื้นฟูระบบนิเวศ และการดูดซับก๊าซเรือนกระจก นับว่าเป็นทางออกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ได้อีกทางหนึ่ง นายพิชัย รุจิโรจน์สุวรรณ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ดังนั้น เพื่อสนองนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและรัฐบาลในการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ อ.อ.ป. จึงริเริ่มจัดตั้ง “โครงการตลาดกลางค้าไม้” เพื่อเป็นตัวกลางในการรองรับตลาดการค้าไม้ในอนาคต อ.อ.ป. จะทำหน้าที่เป็นตลาดกลางรับซื้อหรือจำหน่ายไม้ท่อน ไม้ฟืน เศษไม้ และผลิตภัณฑ์ไม้จากสวนป่าเศรษฐกิจ ตลอดจนสร้างโอกาส สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ให้ความสะดวกและเพิ่มช่องทางใน การซื้อ – ขายไม้ ในราคายุติธรรมกับเกษตรกรที่ปลูกสวนป่าเศรษฐกิจ อ.อ.ป. ยังเป็นหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือ ส่งเสริม ให้คำแนะนำ และช่วยอำนวยความสะดวกด้านการประชาสัมพันธ์ให้กับเกษตรกรอีกด้วย โดยกำหนดแผนการจัดตั้งตลาดกลางตามเขตภูมิภาค ได้แก่ ตลาดกลางค้าไม้ภาคเหนือตอนบน , ตลาดกลางค้าไม้ภาคเหนือตอนล่าง , ตลาดกลางค้าไม้ภาคกลาง , ตลาดกลางค้าไม้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ , ตลาดกลางค้าไม้ภาคใต้ และตลาดกลางค้าไม้วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ.อ.ป. คาดหวังว่าการดำเนินการโครงการฯ นี้ จะทำให้เกษตรกรให้ความสนใจและเข้าร่วมโครงการฯ อย่างน้อย 200 คน และได้กำหนดระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 – 2564 สำหรับแนวทางการดำเนินการจัดตั้ง “โครงการตลาดกลางค้าไม้” ได้แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 อ.อ.ป. เป็นตัวกลางของข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยผู้ประสงค์ขายไม้ แจ้งความประสงค์ไปยังตลาดกลางค้าไม้ในพื้นที่ต่างๆ ของ อ.อ.ป. พร้อมด้วยข้อมูลเบื้องต้น เช่น เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ใน ไม้ที่ปลูก , สำเนาหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า (สป.3) , สำเนาบัตรประจำตัว - ประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้ประสงค์จะขายไม้ , ข้อมูลพื้นที่แปลงปลูกไม้พร้อมแผนผัง/ แผนที่ และข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับไม้ที่ต้องการขาย อ.อ.ป. จะดำเนินการตรวจประเมินในเบื้องต้น ทั้งเรื่องคุณภาพของไม้ ปริมาตร และแจ้งราคากลาง จากนั้น อ.อ.ป. จะดำเนินการทำประกาศประมูลจำหน่าย และประชาสัมพันธ์เพื่อหาผู้ที่สนใจ หากมีผู้ประสงค์ที่จะซื้อไม้สามารถติดต่อโดยตรงกับเกษตรกร หรือผ่านทาง อ.อ.ป. ก็ได้ เมื่อมีการจำหน่ายไม้เรียบร้อยแล้ว ทางเกษตรกรจะต้องแจ้งกับ อ.อ.ป. ทันที เพื่อลบข้อมูลออกจากกระดานข่าว แนวทางที่ 2 อ.อ.ป. รับซื้อไม้ไว้เอง โดยพิจารณาไม้จากสวนป่าที่ประสงค์จำหน่าย มีขนาด ลักษณะ คุณภาพ ตรงกับความต้องการเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรมของ อ.อ.ป. สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าได้ และเป็นไม้ที่ขึ้นทะเบียนสวนป่าแล้ว..โดย อ.อ.ป. จะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการ เข้าไปประเมินด้านคุณภาพ/ ปริมาตร/ ราคาไม้ พร้อมทำสัญญาซื้อขาย และชำระค่าซื้อไม้ตามกำหนดเวลาในสัญญา นอกจากนี้แล้ว เกษตรกรผู้ที่ปลูกไม้สักหลายรายได้รับความเดือดร้อนในเรื่องราคาไม้ กล่าวคือ เมื่อจะนำไม้ออกมาใช้ประโยชน์มักจะมีขั้นตอนในเรื่องของกฎหมายที่ค่อนข้างยุ่งยาก ประกอบกับไม่มีตลาดกลางในการรับซื้อไม้ รวมถึงราคาไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกษตรกรมักจะตัดสินใจขายไม้ในราคาต่ำ จากปัญหาดังกล่าวทำให้ส่งผลกระทบด้านลบกับนโยบายเพิ่มป่าเศรษฐกิจภาคเอกชนของรัฐบาล ยกตัวอย่างเช่น กรณีของนางติ๋ว ฤทธิ์เดช ราษฎรจังหวัดหนองบัวลำภู ได้ทำหนังสือถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะขายไม้สักทองจำนวน 1,180 ต้น เพื่อนำเงินส่วนนี้เป็นค่าเทอมของบุตรสาวที่กำลังศึกษาอยู่ประเทศโปแลนด์ โดยไม้สักแปลงนี้ปลูกในที่ดิน ส.ป.ก. 4 – 10 เมื่อปี 2537 (อายุไม้สัก 22 ปี) และได้รับการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า มีเนื้อที่ 17 ไร่ และได้รับการทำไม้ตัดสางขยายระยะมาแล้ว 2 ครั้ง ที่ผ่านมาได้มีผู้ติดต่อขอซื้อไม้ในราคา 200,000 – 300,000 บาทเท่านั้น อ.อ.ป. จึงได้ประเมินมูลค่าไม้สักทองตามอัตราการจำหน่ายไม้สักท่อนของ อ.อ.ป. และรับซื้อไม้จากนางติ๋วฯ ในราคา 700,000.- บาท ซึ่งราคานี้เป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ฝ่าย และปัจจุบัน อ.อ.ป. ได้ดำเนินการนำไม้ออกเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ หากโครงการจัดตั้งตลาดกลางค้าไม้ ในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ จะสามารถเสริมสร้างศักยภาพสู่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับประเทศไทยได้ อีกทางหนึ่งด้วย