อว.พร้อมเดินหน้า ทุ่มงบก้อนแรกกว่า 8,384 ล้านบาท “วิจัยแก้ปัญหาประเทศ” . “สกสว. พร้อมด้วย 7 พีเอ็มยู” ร่วมแถลงความพร้อมแนวทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ก่อนจัดสรรงบการวิจัยแผนงานสำคัญรวมกว่า 8,384 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาใหญ่ของประเทศตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม . เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ณ ห้องประชุม ชั้น 15 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกสว. และ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พร้อมด้วยหน่วยงานบริหารจัดการทุน (Program Management Unit หรือ พีเอ็มยู) ประกอบด้วย หน่วยงานที่มีอยู่เดิม คือ 1.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 2.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) 3.สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) 4.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ หน่วยงานที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ มีมติให้จัดตั้งขึ้น คือ 1) หน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) 2) หน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ 3) หน่วยงานบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) รวม 7 พีเอ็มยู ร่วมแถลงความพร้อมแนวทางการปฏิบัติการใช้งบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ปีงบประมาณ 2563 อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลจาการวิจัย ให้เกิดการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ เช่น PM2.5 การแพร่ระบาดโรคอุบัติใหม่ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ . โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ว่า ปี 2563 รัฐบาลมีมติเห็นชอบงบประมาณด้าน ววน. ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดสรรงบประมาณด้าน ววน. ผ่าน กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จำนวน 12,555 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณการวิจัยแผนงานสำคัญ (Flagship program) และงบประมาณการวิจัยแผนงานปกติ (Non - flagship program) อย่างไรก็ตาม ภายหลังการแถลงความร่วมมือวันนี้ สกสว.จะดำเนินการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อบริหารจัดการและสนับสนุนการพัฒนา ววน. ตามงบประมาณของแผนงานที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) จัดสรรงบประมาณในส่วนแผนงานสำคัญ(Flagship)ให้กับหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (PMU) ทั้ง 7 พีเอ็มยูดำเนินการบริหารจัดการงบประมาณตามโจทย์ของแต่ละหน่วยงาน โดยจะมีการประเมินผลวิจัยตามเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (Objectives and Key Results) หรือ OKRs ซึ่งจะกำหนดไว้ตั้งแต่ระดับแผนงาน ระดับโปรแกรม และระดับแพลตฟอร์ม ตามนโยบายและยุทธศาสตร์อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศ อาทิ การวิจัยที่ผลสัมฤทธิ์และเป้าหมายแพลตฟอร์มที่ 3 การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยโปรแกรมที่ 10 ระบุ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (BCG in Action) ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเกินจากทุนทรัพยากร และวัฒนธรรม ร้อยละ 10 ต่อปี รวมถึงการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 การลดการสูญเสียพื้นที่ป่าและระบบนิเวศทางชายฝั่ง ร้อยละ 10 และการลดปริมาณขยะร้อยละ10 ต่อปี ตลอดจนการศึกษาการก่อโรคอุบัติใหม่ ที่กำลังเป็นปัญหาระดับโลก ในเวลานี้ . ดังนั้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 นี้ การทำงานของหน่วยงานในระบบ ววน.จะมีกลไกชัดเจน ทุกภาคส่วนจะมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อการใช้งบประมาณ การสร้างและผลิตผลงานวิจัย รวมถึงการติดตามผลสัมฤทธิ์ของการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ