บทความพิเศษ/หญ้าแห้งปากคอก ประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องจิ๋วพิษ หรือฝุ่น PM 2.5 มาร่วม 3 ปีแล้วถือเป็น “วาระแห่งชาติ” เป็นปัญหาสำคัญ พื้นที่ประสบมลพิษทางอากาศจากฝุ่น แผ่ขยายไปทั่วทุกภูมิภาค ไม่ว่ากรุงเทพมหานครหรือหลายจังหวัดทางภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตทั้งทางสุขภาพกาย สุขภาพจิต สังคม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ที่ทำลายระบบสิ่งแวดล้อม ทำให้อากาศเป็นพิษที่ถือว่าเป็นวิกฤติ มาปีนี้มี “โรคอุบัติใหม่” ล่าสุดคือ “โรคไวรัสโคโรนาอู่ฮั่น” หรือ “โรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” หรือที่องค์การอนามัยโลกยกระดับเตือนภัย “โควิด-19” เป็นขั้นสูงสุดแล้ว และตั้งชื่อว่า “Coronavirus Disease 2019”(COVID-19) หรือ “โรคไวรัสโควิด 19” กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อแล้ว เป็นเหตุวิกฤติสำคัญที่คนท้องถิ่นต้องรับภาระมาติด ๆ กันหลายงาน เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยสั่งการเมื่อปลายปี 2562 ให้ อปท. ดำเนินการฝึกอบรม “ชุดปฏิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้า ตรวจ เตือน และเตรียม การ รองรับ ภัยพิบัติ ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ให้แล้วเสร็จภายในเดือน กรกฎาคม 2563 ประจวบกับการระบาดรุนแรงทั่วโลกของโรคไวรัสโควิด 19 กระทรวงมหาดไทยจึงสั่งการเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ให้ อปท. ดำเนินการขับเคลื่อน “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID -19) ตาม "โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการจัดทำหน้ากากอนามัยเพื่อการป้องกันตนเอง เพื่อสร้างทีมวิทยากร หรือทีม ครู ก. ในพื้นที่ ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 17 มีนาคม 2563 ซึ่งในที่สุดคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 3 มีนาคม 2563 ตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอขอรับงบประมาณงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ในการจัดทำหน้ากากอนามัย เป็นเงินอุดหนุนแก่ อปท. 7,774 แห่ง (เทศบาลและ อบต.) เป็นการร่วมมือบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินการของ มท. โดย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กรมการปกครอง (ปค.) และกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) พร้อมด้วยกระทรวงสาธารณสุข ฉะนั้น ห้วงเวลาปัจจุบันนี้ อปท. จึงสาลวนอยู่กับการอบรมชาวบ้านที่สำคัญมากสองโครงการดังกล่าว โรคระบาดเป็นสาธารณภัย คำว่า “สาธารณภัย” “ภัยพิบัติ” “อุบัติภัย” “ภัยจากการก่อการร้าย” รวมทั้ง “โรคระบาดในมนุษย์ โรคระบาดสัตว์ โรคระบาดสัตว์น้ำ การระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนภัยอื่น ๆ อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน” ล้วนอยู่ในความหมาย “สาธารณภัย” ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เมื่อมีสาธารณภัยใหญ่หรือภัยแปลกๆมา จึงเป็นวิกฤติที่ไม่เคยพบเห็น ไม่ว่า ปัญหาภัยจากฝุ่นพิษ PM 2.5 มาถึง โรค COVID-19 ทำให้คนไทยอยู่ยากขึ้น ป่วยทั้งกายใจจากฝุ่น ไวรัส และโรคมะเร็งได้ เรียกว่าเป็น “สงครามสุขภาพ” อำนาจหน้าที่ อปท. ตาม พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 50 (4) เทศบาลมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและระงับโรคติดต่อ มาตรา 54 (7)จัดทำกิจการ ซึ่งจำเป็นเพื่อการสาธารณสุข มาตรา 56 (3) กิจการอย่างอื่นซึ่งจำเป็นเพื่อการสาธารณสุข พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 67 (3) องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ (4) ป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 16 (19) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ในการสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล ถือเป็นเหตุการณ์ที่คนท้องถิ่นต้องร่วมผนึกกำลังกันอย่างเต็มที่ แม้ในความคิดในหลายเรื่องที่คนท้องถิ่นมีอคติทัศนคติเชิงลบต่อหน่วยราชการผู้กำกับดูแลค่อนข้างสูงก็ตาม แต่ภารกิจนี้ถือเป็นการวัดใจคนท้องถิ่นว่าความใกล้ชิดต่อคนในท้องถิ่นและความรับผิดชอบที่มีต่อท้องถิ่นจะกล้าไม่สนใจดูแลป้องกันคนท้องถิ่น เหตุกรณีดังกล่าวถือได้ว่าได้กลบกระแสต้าน “บ้าอบรม” ลงหมด ไม่ว่าการส่งตัวเจ้าหน้าที่ไปอบรม หรือกรณีที่ อปท. จัดการอบรมเอง หรือ อปท. จัดร่วมกับ อปท.อื่น หรือ อปท. จัดร่วมกับส่วนราชการอื่นหรือหน่วยงานอื่นก็ได้ เพราะปกติลำพังภารกิจในการปฏิบัติราชการมักเกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมอยู่ตลอดทั้งปี แทบจะเรียกว่ามีมากจนอาจเสียการพัฒนาอื่นในพื้นที่ลดลง สูญเสียงานหลัก และสิ้นเปลืองงบประมาณ นอกจากนี้อาจมีเสียงคนหาเรื่องผลประโยชน์ ค่าใช้จ่าย ตัววิทยากร ค่าวัสดุฝึก ฯลฯ เป็นต้น ข้อสังเกตห่วงใย 1. ข้อสั่งการฝึกอบรม จัดทำหน้ากากอนามัย ในครั้งนี้จะคล้ายการอบรม “ชุดปฏิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติ” ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของจิตอาสา ในการป้องกันและต้านสาธารณภัย รวมถึงวิธีการงบประมาณที่ดำเนินการที่อาจมองว่าค่อนข้างสูง แต่สัมฤทธิผลที่ได้สูงคุ้มค่ากว่า ในวิธีการงบประมาณ สามารถใช้งบประมาณปกติ โดยการโอนมาตั้งจ่ายเป็นรายการใหม่ หรือ ใช้ “เงินสะสม” ได้ โดยปลัด มท. อาศัยข้อ 89/1 แห่งระเบียบว่าด้วย การรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงินและการเก็บรักษาเงิน ยกเว้นการใช้เงินสะสมตามระเบียบข้อ 89 ให้ อปท.สามารถดำเนินใช้จ่ายเงินสะสมในการจัดฝึกอบรมจิตอาสาภัยพิบัติ และ การฝึกอบรม จัดทำหน้ากากอนามัยได้ โดยไม่ต้องผ่านสภา ไม่ต้องมีในแผนพัฒนาท้องถิ่น และไม่ต้องกันเงิน 2. อปท.ทุกแห่งได้รับการกำชับจากจังหวัดให้เร่งรัดการอบรมเป็นกรณีเร่งด่วนมาก เช่น บางจังหวัด “ผู้กำกับดูแล” ขีดเส้นตายไว้ให้ อปท.ยืนยันปฏิบัติตามหนังสือสั่งการ ให้จงได้ภายในวันที่กำหนด เช่นกำหนดว่า ต้องอบรม วิทยากรครู ก. สอนให้ประชาชนทำหน้ากากอนามัยไว้ใช้เอง ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 มีนาคม 2563 ตามหนังสือสั่งการ และได้รายงานยืนยัน สถ.ไปแล้ว ที่น่าสงสัยว่าความเร่งด่วนมากขนาดนี้ท้องถิ่นก็ยังสามารถดำเนินการได้ แต่ อปท.บางแห่งอาจมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณบ้าง เพราะเงินสะสมมีน้อย เป็นต้น อนึ่งงบประมาณงบกลางอุดหนุน อปท. เพิ่งผ่านมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ซึ่งอีกเพียง 4 วันในวันที่ 7 มีนาคม 2563 ก็ต้องอบรมแล้วเสร็จ งบประมาณที่จัดสรรล่าช้าย่อมมีผลกระทบต่อ อปท.ที่มีเป้าหมายอบรมจำนวนมากต้องใช้งบประมาณสูง โดยเฉพาะงบประมาณค่าวัสดุอุปกรณ์ ต้องอย่างดีมีคุณภาพ 3. ถูกแล้วที่สั่งการให้นำเงินสะสมมาใช้จ่าย เพราะ เป็นกรณีเรื่องเร่งด่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนการดำเนินการต้องรวดเร็วและคล่องตัว ที่ต้องมีการยกเว้นระเบียบ เป็นเงินด่วนทันใจ ที่มีไว้ช่วยสังคมก็คือเงินสะสม แต่ปัญหาจาก 2 ปีที่ผ่านมา มท.ให้ อปท.ใช้เงินสะสมจนเกือบหมดคลังแล้ว หลายแห่งอาจเหลือยอดเงินสะสมน้อย การฝึกอบรมในโครงการลักษณะเช่นนี้ ย่อมมีค่าตอบแทนวิทยากรด้วย ซึ่งค่าตอบแทนวิทยากรอาจมีจำนวนที่สูงกว่าปกติ เพราะ ต้องใช้วิทยากรมืออาชีพ หรือหากเป็นวิทยากรจิตอาสาก็ต้องมีคุณวุฒิและประสบการณ์ที่สูง 4. งานอบรมภัยพิบัติของ ปภ. ก็ให้ท้องถิ่น งานสอนชาวบ้านทำหน้ากากอนามัย งานถนัดของ พช. ก็ให้ท้องถิ่น งาน PM 2.5 ของ สธ. ก็ให้ท้องถิ่น นั่นหมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างในพื้นที่ต้อง อปท. มาถึงตรงนี้ คนท้องถิ่นบางคนเห็นถึง องค์กรที่ต้องมารับผิดชอบดูแลท้องถิ่นเป็นการเฉพาะ เช่น “กระทรวงท้องถิ่น” เป็นต้น การต่อว่าด่าทอหากทำไม่ทันหรือทำไม่ได้หาว่าท้องถิ่นไม่ดูแลเอาใจใส่ประชาชนต้องลดลง ส่วนกลาง มท. และ สถ. รวมจังหวัดสั่งอย่างเดียว สั่งปุ๊บก็ขอเอาผลงานไปทันที ซึ่งรู้ทราบกันดีตลอดมาว่าส่วนกลางและภูมิภาคคอยสั่งการเอาผลงานเพียงอย่างเดียว คนสั่งมีเยอะสั่งได้ง่าย แต่คนทำมีนิดเดียวยากด้วยเพราะ อปท.ไม่มีคนและขาดงบประมาณ อย่างไรก็ตาม ยามวิกฤติท้องถิ่นต้องช่วยกันผนึกกำลังทำจนสำเร็จ ใครจะคิดว่าอย่างไรก็ตาม เพราะเป็นการ “สร้างวิกฤติให้เป็นโอกาส” แล้วจะทำให้ท้องถิ่นได้รับการยกย่องชมเชยกว่าหน่วยงานใดๆ ที่สำคัญกว่าอื่นใดก็คือ ราชการส่วนภูมิภาคจะด้อยค่าลงไปมาก เป็นข้ออ้างในอนาคตว่าต่อไปจะเหลืองเพียง “ราชการส่วนกลาง และ ราชการส่วนท้องถิ่น” เท่านั้น อยากให้ใช้วิกฤติเป็นโอกาส รัฐบาลจะได้เห็นคุณค่าของ “การกระจายอำนาจ” การยุบหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคที่มอบงานมาให้ท้องถิ่นจะไม่มีอีกต่อไป “อยากสะท้อนว่า คิดอะไรไม่ออกบอกใครไม่ได้ ให้มาลงที่ท้องถิ่น” 5. มท.ทำเรื่องให้ยุ่งยากไปหรือไม่ เพราะเหตุใดจึงไม่เอาเงินไปจ้างโรงงานมืออาชีพทำหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน การให้ท้องถิ่นทำแน่นอนว่าจะไม่ได้มาตรฐาน เพราะการผลิตสินค้าต้องมีการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า “QC = Quality Control” ที่สำคัญการยอมรับของประขาชนที่ อปท.ผลิตทำออกไป เขาจะยอมรับหรือไม่ ปกติสินค้าหน้ากากอนามัยธรรมดากันฝุ่น กล่องละ 45 บาท(50ชิ้น) ราคาขึ้นสูงถึง 800-1,200 บาท แถมหาซื้อไม่ได้ หน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อฯ ทั่วไปอยู่ที่ชิ้นละ 15-20 บาท วิทยากรอบรมก็หายาก แถมวิทยากรไม่รับประกันในสินค้า เกรงว่าจะเอาเงินงบประมาณไปทิ้งเสียเปล่า และเมื่อถึงเวลาแต่ละแห่งจะทำการผลิต ปัญหาที่ตามมาคือวัสดุการผลิตราคาสูง ยกตัวอย่างที่เห็น เช่น โครงการทำดอกไม้จันทน์ ที่วิธีการทำไม่ยุ่งยากซับซ้อน วัสดุก็ขาดตลาดได้ หากเป็นหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพจะต้องเจอปัญหาขนาดไหนต้องพิจารณาด้วย 6. มีหลักการว่าโครงการส่งเสริมอาชีพที่ยั่งยืนต้อง ไม่มีเงินแจกให้ ควรสอนวิธีตกปลา อย่าซื้อปลามาให้ ลองย้อนทบทวนมีใครจำ “โครงการ 9101” ได้บ้าง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นโครงการตามพระราชดำริ (ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี) เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรที่ประสบอุทกภัย ปี 2560 เพื่อพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน สร้างความเข้มแข็ง สร้างรายได้ให้เกษตรกรและ ชุมชน ในพื้นที่ทั่วประเทศ เน้นดำเนินการเอง คิดเองร่วมกันภายในชุมชน ใช้วัสดุในชุมชนให้เกิดประโยชน์ เกิดความร่วมมือร่วมใจในการดำเนินการ โดยใช้ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเครือข่าย เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาภาคการเกษตรของชุมชนมีส่วนร่วมแบบประชารัฐ Smart Farmer, Young Smart Farmer ให้มีความ มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน 7. เหตุใดจึงไม่สั่งให้ใช้งบภัยพิบัติฉุกเฉินโรคระบาด จากกองทุน สปสช. ที่ตั้งไว้สำหรับกรณีแบบนี้โดยเฉพาะ ลงมือทำได้เลยไม่ต้องมีแผน คือ เงินประเภท 5 ด้านภัยพิบัติฉุกเฉิน คณะกรรมการกองทุนฯ จัดแบ่งงบประมาณไว้แล้ว ก็เหมือนงบกลาง(เงินสำรองจ่ายฉุกเฉิน) ทำบันทึกขออนุมัติต่อประธานกองทุนฯใช้อบรมทำหน้ากากอนามัย/เจลแอลกอฮอล์ล้างมือได้ 8. มีผู้ห่วงใยว่ารัฐสภาควรมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมและป้องกันแพร่ของเชื้อ COVID-19 นี้ในเรื่องนี้ การควบคุมการกักกันตัวแรงงานผิดกฎหมายไทย (ผีน้อย) ที่กลับมาจากเกาหลีใต้ การควบคุมการชุมนุมของนักศึกษาฯ การแจกหน้ากากอนามัยแก่ประชาชนโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะการขาดแคลนหน้ากากอนามัยสำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ รวมถึง การใช้กฎหมายพิเศษควบคุมโดยการตรา “พระราชกำหนด” แต่เห็นว่า กฎหมายปกติคือ พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กักตัวได้ ก็สามารถควบคุมในกรณีผีน้อยได้ เป็นต้น เตรียมพร้อมรับมือกับเชื้อ COVID-19 กับ 5 วิธีดูแลตัวเองให้ปลอดภัย ฝากคนไทยทุกคนดูแลตัวเองให้ดี ก็ใช้ชีวิตได้อย่างแฮปปี้ (1) งดเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค (2) ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่ออยู่ในสถานที่มีผู้คนแออัด (3) ล้างมือบ่อย ๆ หรือใช้เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอลล์ (4) ระวังการสัมผัสของกับผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น น้ำลาย น้ำมูก คือควรหลีกเลี่ยงเลย หากเห็นคนไอหรือจาม (5) อย่าใช้มือขยี้ตา แคะจมูก เพราะเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายมาก และถ้ามีอาการป่วยควรรีบไปหาหมอโดยด่วน ด้วยความปรารถนาดี