คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น ใช้คำว่า “ความเข้าใจ” (แทนที่จะใช้คำว่า “ความเข้าใจผิด”) เพราะไม่อยากทำเป็น ผู้รู้ ในเรื่องความตาย โดยเฉพาะเรื่องจิต ซึ่งแต่ละศาสนามีความเชื่อไม่เหมือนกัน และแม้แต่ในศาสนาเดียวกัน คนเราก็มีความเชื่อและความรู้ที่ต่างกันอยู่ ผมชอบฟังและชอบอ่านประสบการณ์ของคนที่ตายแล้วฟื้น และคนระลึกชาติได้ โดยที่ตัวเองเป็นชาวพุทธ มีความรู้และความเชื่อแบบชาวพุทธ ระยะหลังมานี้ ดูเหมือนคนไทยนิยม “ฆ่าตัวตาย” กันมากขึ้น ข่าวว่า คนไทยฆ่าตัวตาย มีจำนวนอยู่อันดับต้นๆ ของโลก และสังเกต (จากข่าว) ว่า มีคนนิยมฆ่าตัวตายตามที่นิยมฆ่าคนอื่น เช่น ลูกเมีย และแม้แต่สุนัขเลี้ยงให้ตายตามกันไปด้วย คงคิดว่าเมื่อจะตายทั้งที ก็ขอให้คนและสิ่งที่รักไปอยู่ด้วยกันเหมือนที่เคยอยู่ในโลกนี้นั่นกระมั่ง? ในทางพุทธศาสนา และเท่าที่ได้ฟังและได้อ่านเรื่องคนตายแล้วฟื้น หรือเรื่องคนระลึกชาติได้ (คือตายแล้วไปเกิดใหม่ และระลึกได้ว่า ชาติก่อนตนเป็นใคร) มีแต่บอกว่า คนตาย (ไม่ว่าจะตายแล้วฟื้นหรือระลึกชาติได้) ล้วนแต่ไปคนเดียว ไม่มีพ่อไม่มีแม่ ไม่มีลูกเมีย ไม่มีลูกผัว และไม่มีสิ่งใดๆ ที่รักเป็นพิเศษติดตามไปด้วยเลย แม้แต่ยศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ ก็ไม่มีติดตัวไปด้วย คนที่ตายแล้วฟื้นบอกว่า ตนไปในสภาพตอนจะตาย นุ่งผ้าผ่อนอย่างไร ก็ไปในสภาพนั้น (ส่วนใครจะเปลือยกายไปอย่างไร ก็ไม่เห็นมีใครบอกรายละเอียดในเรื่องนี้ ที่แน่ๆ คือ ไม่มีคนแต่งยศไป ส่วนพระสงฆ์ได้ฟังคำบอกเล่าว่า ไปในสภาพพระสงฆ์ทั่วไป คือนุ่งสบง ห่มจีวร อย่างพระสงฆ์ทั่วไป) เท่าที่ได้ฟังคำบอกเล่าจากชาวพุทธที่ตายแล้วฟื้นหรือที่ระลึกชาติได้ มีเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ มีคนนำทาง ซึ่งมักจะเรียกว่ายมบาล (อาจจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิง) มีการเดินทาง บางคนไปพบสภาพของนรก มีกระทะกำลังต้มน้ำเดือดปุดๆ มีต้นงิ้ว มีการปีนป่ายอยู่ คนนำทางมักจะมีร่างกายสูงใหญ่กว่าตนมาก สรุปว่า คนที่ตายไป (ไม่ว่าจะตายแล้วฟื้นหรือคนระลึกชาติได้) ล้วนแต่พูดตรงกันว่า ตนไปคนเดียว ไม่มีลูกเมีย หรือลูกผัว หรือพ่อแม่ หรือมิตรสหายไปด้วยเลย และดูเหมือนตัวเองก็ไม่คิดถึงใครด้วย จึงอยากจะคิดว่า คนตายไม่มีเพื่อนคู่คิด ไม่มีคนรักใคร่ชอบพอกันเป็นพิเศษเดินทางไปด้วย เป็นการเดินทางไปคนเดียว แสดงว่า คนตายมีแต่ “จิต” (ถ้าจะปรากฎเป็นรูปร่างก็เป็นแต่ภาพของจิตเท่านั้นเอง) ตามประสาชาวพุทธ ซึ่งมีความรู้แบบชาวพุทธ ก็เลยคิดว่าจิตมีสภาวะเป็น “เอกจร” คือท่องเที่ยวไปเพียงลำพัง คนและสิ่งของรอบกายเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง ถ้าเป็นสิ่งที่แสวงหาได้ก็เรียกว่า ทรัพย์สมบัติ หรือ ยศถาบรรดาศักดิ์ ถ้าเป็นสิ่งที่หวงแหนก็เป็น “กิเลส” ถ้ายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวกู-ของกู ก็เป็นกิเลสชนิด “อุปาทาน” ฯลฯ พระพุทธเจ้าท่านแยกแยะให้เห็นมากมาย ส่วนกิเลส ที่เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ โดยเฉพาะ “ความเกิด” หรือ “ชาติ” นั้น พระพุทธเจ้าเรียกว่า “ตัณหา” ตัณหานี่แหละมีสภาวะเหมือนยางเหนียว บาลีใช้คำว่า “สิเนหา” มีลักษณะเป็นพลังงาน ยึดโยงให้มีภพชาติ คือให้มีการเกิดใหม่ผมคงอธิบายได้เท่านี้แหละ ถ้าพูดมากไปกว่านี้ ก็จะเป็นการเดา หรือ คิดเอาเอง เพราะเรื่องนี้ หลวงปู่มั่น (ภูริทัตโต) บอกว่า จะรู้ได้ด้วย ฌาน หรือ สมาธิ เท่านั้น และคนที่อธิบายได้ดีที่สุด ก็มีแต่พระพุทธเจ้าซึ่งเชี่ยวชาญในฌาน และมีความเป็น “พุทธะ” เท่านั้น เห็นหลวงพ่อหลวงพี่หลายรูป พยายามอธิบายเรื่องจิตเป็นตุเป็นตะ นึกเป็นห่วงว่า ท่านจะลืมคำสอนเรื่อง “อจินไตย” ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นเรื่องที่เหนือวิสัยของความคิด อจินไตย นั้น มี 4 เรื่อง คือ 1.เรื่อง พุทธวิสัย (วิสัยของพระพุทธเจ้า) 2.เรื่อง ฌานวิสัย (วิสัยของฌาน) 3.เรื่อง กัมมวิปากวิสัย (เรื่องผลของกรรม) 4.เรื่อง โลกจินตา (ความคิดเรื่องโลก) ถ้าหลวงพ่อหลวงพี่ไม่ลืมคำสอนเรื่องอจินไตย ของพระพุทธเจ้าก็จะไม่พูดเพ้อเจ้อให้ฟังเป็นเรื่องเชยๆ อย่างที่เป็นกันอยู่บางท่าน เพื่อพูดตามคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้ ก็อุตส่าห์เพิ่ม “ธรรมะ” เข้าไปในคำสอนเสียเอง เมื่อฟังไป-ฟังไป ก็กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ โดยไม่รู้ตัว พระอานนท์ ท่านโชคดีที่พระพุทธเจ้าปรามไว้ทัน ไม่อย่างนั้นท่านก็คงจะอธิบาย “ปฏิจจสมุปบาท” ตามที่ท่านเข้าใจว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ไปแล้ว คำอธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องปฏิจจสมุปบาท (เหตุปัจจัยแห่งการเกิดทุกข์ของชีวิต) เมื่ออธิบายตามแนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุ ก็ดูเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย แต่นั่นเป็นคำอธิบายปฏิจจสมุปบาทที่เกิดภายในชาติเดียวหรือในขณะจิตหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่ใช่คำอธิบายแนวข้ามภพข้ามชาติ ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุพยายามที่จะไม่อธิบายไปทางนั้น เพราะเห็นว่า เป็นเรื่องไม่จำเป็น ทั้งๆ ที่ท่านไม่เคยปฏิเสธการตายแล้วเกิดอีก หรือชาติก่อน-ชาติหน้า แต่เมื่อพิจารณาพระดำรัสที่ตรัสแก่พระอานนท์ว่า ปฏิจจสมุปบาทไม่ใช่เรื่องที่ปุถุชนจะเข้าใจได้ง่ายๆ เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง และเพราะไม่เข้าใจในปฏิจจสมุปบาทเราจึงเวียนตายเวียนเกิดในสังสารวัฏฏ์อยู่ยาวนาน ดังนี้แล้ว ก็เอะใจว่า คำอธิบายปฏิจจสมุปบาทให้เข้าใจง่าย คงไม่ใช่ปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นแน่ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ปฏิจจสมุปบาทไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจง่ายเพราะแค่เรื่อง “วิญญาณ” เกิดขึ้นอย่างไร ก็มีปัญหาให้ขบคิดแล้ว เพราะปฏิจจสมุปบาท (หรือพระพุทธเจ้า) อธิบายว่า วิญญาณในนามรูป (ขันธ์ 5) ก็อย่างหนึ่ง แต่มีวิญญาณอีกอย่างหนึ่ง ที่เกิดจาก “สังขาร” (สังขารในที่นี้คือ บาป บุญ และสิ่งที่ไม่เป็นบาปและบุญ ซึ่งคงจะหมายถึง “กรรม” นั่นเอง) เมื่อวิญญาณเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก จึงมีผู้คิดว่า มี “จิต” อีกชนิดหนึ่ง แยกต่างหากจากวิญญาณในขันธ์ 5 แล้วเพิ่มปฏิจจสมุปบาทเข้ามาอีกข้อหนึ่ง ซึ่งการเข้าใจอย่างนั้น เป็นการเสี่ยงที่จะเห็นจิตหรือวิญญาณเป็นอัตตา (อาตมัน) ตามแบบพราหมณ์นั่นเอง การเห็นจิตเป็นอย่างนั้น เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง เป็นการเห็นจิต (หรือวิญญาณ) เป็นอัตตาอันถาวรเป็นนิรันดร์อย่างลัทธิอื่นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การอธิบาย “อนัตตา” และ “นิพพาน” (ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า) ไม่ได้ เมื่อพิจารณาจากคำบอกเล่าเรื่องตายแล้วฟื้นและเรื่องระลึกชาติได้ ก็เห็นชัดว่า จิตมีสภาวะเป็น “เอกจร” (เดินทางเพียงลำพัง) จริงๆเพราะไม่เคยเห็นใครเล่าว่า เมื่อตายไป (ไม่ว่าจะตายแล้วฟื้นหรือตายแล้วเกิดใหม่) มีใครไปด้วยเลย มีแต่เล่าว่า ไปคนเดียวและไม่มียศถาบรรดาศักดิ์พิเศษกว่าใคร มีแต่เล่าว่า มีคนนำทาง แต่บุคคลผู้นั้นก็ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน (เข้าใจว่า คนนำทางนั้นก็คือ จิตของตัวเองนั่นเอง) ก็เลยเป็นห่วงคนฆ่าตัวตายทั้งหลาย ที่ฆ่าลูกเมียและฆ่าสุนัขเลี้ยงให้ตายไปพร้อมกับตน เกรงจะคิดไปเองหรือเข้าใจว่า ตนสามารถพาคนอื่นไปสู่ปรโลกได้ ผมออกจะเชื่อว่า เมื่อตายไป ตัวเองก็จะไปเพียงลำพังไม่มีลูกเมียและสัตว์เลี้ยงใดๆ ติดตามไปด้วย และคงจะไม่มีการคิดถึงใครๆ และสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น การฆ่าคนอื่นก่อนตาย โดยหวังว่า จะพาเขาไปด้วยน่าจะเป็นการทำบาปมากกว่า จะไม่เป็นผลดีแก่ (วิญญาณ) ตัวเองแต่อย่างใด ทางที่ดี เมื่อคิดจะฆ่าตัวตาย ก็อยากให้คิดว่า ตัวเองเท่านั้นต้องการจะตาย ส่วนคนอื่น เขาควรจะมีสิทธิ์เพื่อมีชีวิตต่อไป เมื่อทำบาปหรือทำบุญสุดแต่ชีวิตเขาจะเป็นไป อยากให้คนที่คิดจะฆ่าตัวตายระลึกเสมอว่า การเกิดเป็นมนุษย์ (ที่บริบูรณ์ด้วยขันธ์ 5) นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ขันธ์ 5 (รูปเวทนา สัญญา สังขาร(ความคิด) และวิญญาณ (การรับรู้ทางประสาทสัมผัส) นี่แหละ ทำให้มนุษย์มีโอกาสทำความดี (บุญ) ก็ได้ ทำความชั่ว (บาป) ก็ได้ ทำสมาธิก็ได้ พ้นจากการเวียนตายเวียนเกิด (สังสารวัฏฏ์)ก็ได้ แต่ก็เพราะการเป็นมนุษย์ซึ่งเพียบพร้อมด้วยขันธ์ 5 ดังกล่าวนั่นแหละ จึงมีแต่มนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยขันธ์ 5 เท่านั้น ที่คิดฆ่าตัวตาย เนื่องจากมนุษย์มีขันธ์ 5อย่างเพียบพร้อมมีความรู้สึก (เวทนา) มีความจำ (สัญญา) มีความนึกคิด (สังขาร) และมีการรับรู้(ทางประสาทสัมผัสต่างๆ ) ได้ดี ทำให้คิดอ่านได้มากมาย แม้แต่การคิดฆ่าตัวตาย ก็มีแต่มนุษย์ผู้มีขันธ์5 บริบูรณ์เท่านั้นที่มีการคิดได้ โปรดสังเกตว่า ไม่มีการฆ่าตัวตายในหมู่สัตว์เดรัจฉานใดๆ และแม้แต่มนุษย์ผู้พิการ โดยเฉพาะมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ด้วยขันธ์ 5 ก็แทบจะไม่มีการฆ่าตัวตาย ทั้งๆ ที่สัตว์เดรัจฉาน และมนุษย์ผู้พิการ มีความทุกข์ทรมานมากมาย เขาก็ไม่มีการคิดฆ่าตัวตาย อยากจะให้คิดว่า กว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์ผู้มีขันธ์ 5 บริบูรณ์เป็นการยากนักหนา ควรจะใช้หรือหาประโยชน์จากขันธ์ 5 ให้เต็มที่ อย่าเห็นทรัพย์สมบัตินอกกาย (หรือนอกขันธ์ 5) เป็นของสำคัญ จนลืมตัวเองอย่าให้ขันธ์ 5 ปรุงแต่งตัวเองจนควบคุมมันไม่ได้ ทำให้นึกถึงคำให้พรของเทวดาที่มีต่อกัน ก่อนจะมีการจุติ(ตาย) จากสวรรค์ ซึ่งมักจะให้พรกันว่า “ขอให้ไปสู่สุคติ” คำว่าสุคติของเทวดา หมายถึงการเกิดเป็นมนุษย์ ใจหาย เมื่อได้ข่าวว่า คนไทย (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ) มีจำนวนผู้ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นอยู่อันดับต้นๆ ของชาวโลก แสดงว่า คนไทยไม่มีวิธีคิดแบบชาวพุทธ ถ้ามีวิธีคิดอย่างชาวพุทธ ก็จะไม่มี “โรคซึมเศร้า” หรือ โรคคิดฆ่าตัวตายได้ง่ายๆ