สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
พระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ เป็นพระพิมพ์ที่มีความเหมือนกับพระสมเด็จของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ค่อนข้างมาก นับเป็นยอดพระเครื่องต้นสกุลพระทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือแบบชิ้นฟักมาก่อน เนื่องด้วยพระพิมพ์นี้สร้างโดยพระอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ คือ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (สุก ไก่เถื่อน)
ประวัติผู้สร้าง
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (สุก ไก่เถื่อน) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘พระสังฆราชไก่เถื่อน’ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 4 ของราชวงศ์จักรี ซึ่งนอกจากจะเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ “โต พรหมรังสี” และยังเป็นพระบรมราชาจารย์ของล้นเกล้าฯ ในรัชกาลที่ 2, ที่ 3 และที่ 4 อีกด้วย
พระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) เป็นชาวกรุงเก่าชื่อ สุก ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือน 2 ขึ้น 10 ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช 1095 หรือ พ.ศ. 2276 ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยา ในรัชกาลของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ์ จากพงศาวดารระบุชัดว่า ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดท่าหอย เมื่อสมัยกรุงธนบุรี และในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้อาราธนาลงมาอยู่ที่วัดราชสิทธาราม ระหว่างอยู่ที่วัดราชสิทธารามนั้น ปรากฏว่าได้เป็นที่นับถือของชาวบ้านตลอดขึ้นไปจนถึงเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ต่างก็พากันไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ท่านเป็นจำนวนมาก เพราะต่างได้เห็นความเข้มขลังด้านเมตตาพรหมวิหาร สามารถเรียกไก่เถื่อนจากป่ามารับการโปรยทานได้ทุกวัน อันเป็นที่มาของ “พระสังฆราชไก่เถื่อน” นั่นเอง
การสร้างพระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ
สมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) เริ่มสร้างพระสมเด็จอรหังมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2360 สมัยเป็นพระราชาคณะอยู่ที่วัดพลับ ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าพิมพ์ปฐมฤกษ์ คือ ‘พิมพ์เกศเปลวเพลิง’ จากนั้นได้ใช้เวลาว่างสร้างมาเรื่อยๆ เพื่อแจกศิษยานุศิษย์โดยมิได้ลงกรุ ต่อเมื่อได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชและย้ายมาอยู่ที่วัดมหาธาตุแล้ว ท่านจึงได้นำมาบรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดมหาธาตุ
เนื้อหามวลสาร
เป็นพระเนื้อผง มวลสารในการสร้างเช่นเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม คือ ใช้ปูนเปลือกหอยเป็นมวลสารหลัก ส่วนผสมอื่นๆ ก็คล้ายคลึงกัน เช่น เศษอาหารที่ฉัน วัสดุบูชา และผงอิทธิเจ ผิดกันตรงสัดส่วนที่นำมาผสมกันเท่านั้น ด้วยมวลสารและอายุขององค์พระใกล้เคียงกัน ร่องรอยการสลายตัวและหดตัวจึงเหมือนกัน องค์พระสมเด็จอรหังจะมี 2 สี คือ เนื้อขาวและเนื้อแดง สันนิษฐานว่าอาจจะมีการผสมปูนกินหมากหรือพิมเสนเข้าไป เมื่อผสมกับปูนเปลือกหอยทำให้เนื้อมวลสารกลายเป็นสีแดง
พุทธลักษณะ
พิมพ์ทรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ บนฐาน 3 ชั้น และมีซุ้มครอบแก้วเช่นเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม
เอกลักษณ์แม่พิมพ์
- แม่พิมพ์เป็นแม่พิมพ์ที่ใช้แผ่นหินอ่อนปิดทั้ง 4 ด้าน เมื่อกดพิมพ์เป็นที่เรียบร้อย ก็จะเปิดแผ่นหินอ่อนและถอดองค์พระออกจากแม่พิมพ์ ไม่ต้องมีการตอกตัด จึงปรากฏเส้นขอบนูนทะลักขึ้นมาทั้ง 4 ด้าน
- เส้นซุ้มครอบแก้วเป็นเส้นเล็กและบาง พระเกศเป็นเส้นเล็ก คม และยาว พระพักตร์กลม พระกรรณทั้งสองข้างเป็นเส้นเล็กนูนและคม ข้างขวาขององค์พระจะชิดพระพักตร์มากกว่าข้างซ้าย ลำพระศอเป็นเส้นคม พระอุระเป็นรูปตัววี (V) มีเส้นอังสะ 2 เส้น คมและชัดเจนมาก พระพาหาเป็นรูปวงกลม ไม่มีหักศอก และพระเพลามีลักษณะคล้ายเรือสำปั้น
สามารถแบ่งแยกพิมพ์ได้ทั้งหมด 8 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ ฐานสามชั้น เนื้อขาว, พิมพ์ฐานคู่ เนื้อขาว, พิมพ์ใหญ่ ฐานสามชั้น เกศอุ เนื้อขาว, พิมพ์เล็ก มีประภามณฑล เนื้อขาว, พิมพ์เล็ก ไม่มีประภามณฑล เนื้อขาว, พิมพ์ชิ้นฟัก เนื้อขาว, พิมพ์ใหญ่ ฐานสามชั้น เนื้อแดง และพิมพ์ฐานคู่ เนื้อแดง
สำหรับพิมพ์ด้านหลังจะเหมือนกันทุกพิมพ์คือ มีรอยเหล็กจารลึกลงไปในเนื้อว่า “อรหัง” และพื้นผิวจะปรากฏรอยเหี่ยวย่นและการยุบตัวของเนื้อพระคล้ายเส้นพรายน้ำหรือกาบหมาก ลักษณะเหมือนนำกาบหมากมากดเพื่อให้เนื้อแน่นมองดูคล้าย “หลังกาบหมาก” เว้นแต่เพียงพิมพ์เดียวคือ พระสมเด็จอรหัง พิมพ์ชิ้นฟัก เนื้อขาว พิมพ์ด้านหลังจะเป็นพื้นเรียบธรรมดา
พุทธคุณ
พุทธคุณเด่นทางเมตตามหานิยม และแคล้วคลาดเหมือนเช่นพระสมเด็จวัดระฆังฯทุกอย่าง
แนวทางในการพิจารณา
การพิจารณา “พระสมเด็จอรหัง” ค่อนข้างจะละเอียดทั้งพุทธลักษณะและจุดชี้ตำหนิเฉพาะ จึงต้องใช้เวลาที่ศึกษาและพิจารณาจากภาพและองค์พระจริงนานพอสมควร เพื่อจะสามารถจดจำและแยกแยะพิมพ์ต่างๆ ได้ครับผม