ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: ทริปสั้นๆ วันเดย์ ชวนไปไหว้ “หลวงพ่ออี๋” เดินเล่นถนนเลียบชายทะเลสัตหีบ ช่วงนี้หลีกหนีเมืองกรุงออกไปสูดอากาศชายทะเลตะวันออก หมุดหมายอยู่ที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี สิ่งหนึ่งที่ผู้คนไปเที่ยวอำเภอสัตหีบ ต้องแวะไปกราบไหว้ “หลวงพ่ออี๋” วัดสัตหีบ ซึ่งคนท้องถิ่นมักเรียก วัดหลวงพ่ออี๋ หรือ วัดหลวงปู่อี๋ เพื่อขอพรมงคล โชคลาภจากหลวงพ่อ ส่วนคนท้องถิ่นขอโชคลาภแล้วขอให้ทำมาค้าขายคล่อง ฯลฯ ชาวสัตหีบ ทหารเรือ และต่างจังหวัดให้ความเลื่อมใสศรัทธาหลวงพ่ออี๋ยิ่งนัก กิตติศัพท์ของหลวงพ่ออี๋ (หลวงพ่ออี๋ พุทธสโร เกิด 1 ต.ค. 2408 มรณภาพ 20 ก.ย. 2489) หรือ พระวรเวทมุนี พระเกจิชื่อดังภาคตะวันออกในสมัยนั้นเป็นที่เลื่องลือและเล่าขานกัน เมื่อครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านยกผ้าเหลืองโบกไปโบกมา พร้อมทั้งยืนบริกรรมคาถาอย่างสงบนิ่ง ลูกระเบิดที่หย่อนมาจากเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรหมายถล่มตลาดและฐานทัพเรือให้ราบเป็นจุล กลับเบี่ยงเบนปลิวไปตกในทะเล ทำให้ฐานทัพเรือ บ้านเรือนและชีวิตของประชาชนชาวสัตหีบอยู่รอดปลอดภัยจากลูกระเบิดในครั้งนั้น นอกจากความเข้มขลังและศักดิ์สิทธิ์บริกรรมคาถาของหลวงพ่ออี๋แล้ว วัตถุมงคลโดยเฉพาะปลัดขิก เป็นที่เลื่องลือในคุณวิเศษและโด่งดังมาก เล่าสืบกันมาว่าตอนที่ท่านลงคาถาปลัดขิกในขันน้ำมนต์ ปลัดขิกวิ่งวนอยู่ในขันน้ำมนต์ ปลัดขิกในสมัยท่านทำจากต้นกัลปังหา (ต้นไม้ใต้ทะเล) นอกจากนี้มีวัตถุมงคล ผ้ายันต์และเหรียญแต่ละรุ่นในสมัยท่านปลุกเสก ปัจจุบันราคาเช่าเหรียญหลักแสน วัดหลวงพ่ออี๋ ตั้งอยู่ในตัวอำเภอสัตหีบ ด้านหลังวัดติดถนนเลียบทะเล แลบ้านหลายหลังยังคงสภาพบ้านไม้เก่า ครึ่งปูนครึ่งไม้ และตึกสูงไม่เกิน 4 ชั้น มีตรอกสะพานปลาตลอดถนนเลียบชายทะเล ถ้าเดินหรือขับรถออกจากหลังวัด ขวามือไปทางเข้าฐานทัพเรือ ที่เรียกว่าทิวตาล จะเป็นที่จอดเรือประมงพื้นบ้าน ทางซ้ายมือจะไปดงตาล มีสะพานปลาซึ่งอยู่คู่กับชาวประมงสัตหีบมาช้านาน มีตลาดเช้า (สายมาก็หยุด) คึกคักไปด้วยพ่อค้าแม่ขาย แรงงานต่างด้าวเขมรและพม่ามารับจ้าง หลายคนผันตัวจากแรงงานเป็นเจ้าของแผง (กม.ให้รับจ้างแรงงานเท่านั้น) พ่อบ้านแม่บ้านมาจับจ่ายซื้อของสด กุ้ง หอย ปู ปลา และผักสด ถัดจากตลาดเช้าบริเวณหน้าดงตาลเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการต่างๆ ของอำเภอ ถัดจากตรงนี้ไปเป็นเขตกองเรือยุทธการ พูดถึงดงตาล เมื่อก่อนนี้มีชายหาดทอดยาว แต่ปัจจุบันภาพชายหาดแปลงสภาพเป็นแนวเขื่อนปูน นัยว่าป้องกันน้ำทะเลกัดเซาะฝั่ง ตรงบริเวณสะพานเรือตำรวจน้ำและสะพานปลาเก่าแก่ ทั้งสองสะพานนี้นักตกปลาสมัครเล่นนิยมมาเหวี่ยงเบ็ดตกปลาตกหมึก สัตหีบ หัวเมืองเล็กๆ ชายฝั่งทะเลตะวันออก มีทั้งประวัติและตำนาน “เจ็ดหีบ” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2464 ได้เสด็จตรวจเยี่ยมหัวเมืองชายทะเล เพื่อจะสร้างแนวป้องกันชายฝั่งทะเลด้านนอกเพิ่มขึ้น จึงทรงพระดำริหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกเป็นที่ตั้งกองทัพเรือ เพื่อตรวจตรารักษาฝั่งและเขตน่านน้ำใหญ่ จึงพระราชทานนามว่า “สัตตหีบ” เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นเกาะ 7 เกาะ เป็นที่กำบังลมให้แก่หมู่เรือได้ดี คำว่า “สัตหีบ” หมายถึง ที่กำบังเจ็ดแห่ง (หีบ = ที่บัง) อันหมายถึงเกาะต่างๆ กล่าวคือ เกาะพระ เกาะยอ เกาะหมู เกาะเตาหม้อ เกาะเณร เกาะสันฉลาม และเกาะเลา” (วิกิพีเดีย) สัตหีบนอกจากเป็นเมืองทหารเรือแล้ว ยังเป็นหมู่บ้านชาวประมง อันมีถนนเลียบชายทะเล เสมือนถนนวัฒนธรรมทอดกาลเวลาของชุมชน มีหลวงปู่อี๋ พระเกจิชื่อดังที่ชาวสัตหีบให้ความเลื่อมใสและศรัทธาเสมอมา