"เฉลิมชัย" ระบุเร่งขับเคลื่อนแผนจัดการภัยแล้งปี 63 ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี กำชับกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำตามแผน รวมทั้งเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำป้องกันน้ำแล้ง-น้ำท่วม ลดความเสียหายทางเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เร่งดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีจากการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 63 เกือบทุกภาคของประเทศจะมีฝนต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ 3-5% ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึง 0.11% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปัจจุบันไทยอยู่ในอันดับที่ 8 ที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คาดว่า ใน 10 ปี ข้างหน้าจะมีผลกระทบให้ GDP ลดลงถึง 3.04% ดังนั้นจึงจะดำเนินมาตรการป้องกันเพื่อลดความเสียหายทางเศรษฐกิจให้อยู่ในวงจำกัด โดยแก้ไขปัญหาด้านน้ำอย่างยั่งยืนด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และฟื้นฟู การพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการเชิงลุ่มน้ำอย่างสมดุลภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้งนี้ กำชับให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง ตลอดจนเตรียมเก็บน้ำในฤดูฝนปี 63 เพื่อตอบสนองการใช้น้ำทุกภาคส่วน โครงการที่ของบประมาณแก้ไขภัยแล้งปี 62/63 เพิ่มเติมให้เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อให้ส่งน้ำไปผลิตน้ำประปาในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอ ตลอดจนตรวจสอบสภาพอาคารควบคุมน้ำเพื่อเตรียมเก็บกักน้ำในฤดูฝน ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 22 จังหวัด 133 อำเภอ 696 ตำบล 5,849 หมู่บ้านประกอบด้วย ภาคเหนือได้แก่ จ. เชียงราย น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย และพะยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม สกลนคร บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ และศรีสะเกษ ภาคกลางและภาคตะวันออกได้แก่ ชัยนาท นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา และกาญจนบุรี ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศมีน้ำใช้การ 15,757 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุรวม แหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อยมี 20 แห่งได้แก่ แม่กวง ภูมิพล สิริกิติ์ แม่มอก บึงบอระเพ็ด ทับเสลา กระเสียว ห้วงหลวง หนองหาร จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำพระเพลิง ลำแซะ มูลบน ลำนางรอง ป่าสักชลสิทธิ์ คลองสียัด บางพระ ประแสร์ และหนองปลาไหล ส่วนแหล่งเก็บน้ำขนาดกลางที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อยมี 158 แห่งแบ่งเป็น ภาคเหนือ 39 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 88 แห่ง ภาคกลาง 5 แห่ง ภาคตะวันออก 16 แห่ง ภาคตะวันตก 7 แห่ง และภาคใต้ 3 แห่ง สำหรับสถานการณ์แม่น้ำสายหลักนั้น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีน้ำน้อยขั้นวิกฤติ ส่วนภาคกลางและภาคใต้มีน้ำน้อยในเกณฑ์ปกติ ในปี 63 เร่งรัดโครงการสำคัญเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก 456 โครงการแบ่งเป็น ภาคเหนือ 140 โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 102 โครงการ ภาคกลาง 104 โครงการ ภาคตะวันออก 39 โครงการ และภาคใต้ 12 โครงการซึ่งสามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้รวม 6,988 ล้านลบ.ม. “ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำทั้งการจัดหาแหล่งเก็บกักน้ำใหม่และเพิ่มศักยภาพแหล่งเก็บกักน้ำเดิมเพื่อให้สามารถรองรับน้ำจากฝนที่ตกลงมาให้มากที่สุดเพื่อป้องกันน้ำท่วมและมีน้ำเพียงพอใช้ในฤดูแล้งอย่างยั่งยืน สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำตามแผนบริหารจัดการที่วางไว้ซึ่งจะช่วยให้ฝ่าวิกฤติแล้งนี้ไปได้ด้วยกัน” นายเฉลิมชัย กล่าว ด้านดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การดำเนินงานตามงบประมาณรายจ่ายลงทุน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของกรมชลประทาน 8,221 รายการ งบประมาณ 60,320.8868 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 3,182.3399 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.28 (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มกราคม 2563) โดยกรมมีการก่อสร้างแหล่งน้ำรวมทั้งสิ้น 421 รายการ จำแนกเป็นก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 16 โครงการ โดยโครงการสำคัญได้แก่ อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ. ชัยภูมิ ประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ. เลย อุโมงค์ผันน้ำ แม่แตง-แม่งัด-แม่กวง และบางระกำโมเดล จ.พิษณุโลก ส่วนโครงการขนาดกลาง 94 โครงการ โครงการขนาดเล็ก 234 โครงการ และแก้มลิง 75 โครงการซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1,232,121 ไร่และปริมาตรเก็บกัก 942.00 ล้าน ลบ.ม. "กองอำนวยการน้ำแห่งชาติสั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 62/63 อย่างเต็มที่ มีโครงการเร่งด่วนเพื่อพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเตรียมรองรับน้ำในฤดูฝน ปี 63 ที่ดำเนินการโดย 14 หน่วยงาน รวม 1,320 โครงการ เพิ่มน้ำได้ 276 ล้านลบ.ม. และที่ดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 7,172 โครงการ เพิ่มน้ำได้ 122 ล้านลบ.ม. แล้วเสร็จในเดือนมิ.ย. 63 รวม 2,041 โครงการ"อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว