รถไฟฟ้าสายสีเขียวโคราช มูลค่า 8,400 ล้านบาท ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาจราจร เสียงคนเมืองค้านอื้อ ขอให้เปลี่ยนเส้นทาง เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 5 มีนาคม ที่ห้องประชุมอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายพงษ์เทพ จันทร์นอก ปลัดอำเภอเมือง นครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) โดยมีผู้แทนส่วนราชการ ผู้ประกอบการค้าและประชาชนที่มีบ้านพักและที่ทำกินในละแวกโครงการ ฯ รับฟังนายเทิดศักดิ์ พ่วงจินดา ผู้จัดการโครงการ ฯ ชี้แจงความเป็นมาของโครงการ โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เสนอและมอบหมายให้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นครราชสีมา ดำเนินการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณในเขตเมือง นครราชสีมา ระบุรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) เส้นทางสายสีเขียวและรูปแบบทางรถไฟระดับพื้นดินขนาด 1.435 เมตร มีความเหมาะสมที่สุด เนื่องจากเป็นโครงข่ายเชื่อมต่อรถไฟทางคู่ รถไฟไทย-จีนและการฟื้นฟูสภาพตัวเมืองเก่า กำหนดจุดเริ่มต้นตลาดเซฟวันถึงสถานีคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ รวมระยะทางประมาณ 11.17 กิโลเมตร มีจำนวนสถานี 20 แห่ง เช่นตลาดเซฟวัน สำนักคุมประพฤติ สวนภูมิรักษ์ เทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) โรงเรียนสุรนารีวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.) และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 10 บาท และคิดเพิ่มตามระยะทางกำหนดกิโลเมตรละ 1 บาท รวมค่าโดยสารตลอดสาย 21 บาท ทั้งนี้ช่วงเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 ได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ นายสุพจน์ พิริยะเกียรติสกุล เจ้าของร้านข้าวต้มนายตี๋ บริเวณสี่แยกเต็กฮะ เขต ทน.นครราชสีมา กล่าวว่า การประชุมทั้งกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่ที่ผ่านมา ตนและเพื่อนบ้านละแวก ถ.โพธิ์กลาง ขอยืนยันไม่เคยได้รับหนังสือเชิญหรือมาโทรศัพท์แจ้งให้เข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด ดังนั้นกระบวนการมีส่วนร่วมจึงไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายและผลการศึกษาเส้นทางช่วงผ่านย่านใจกลางเมืองพื้นผิวถนนโพธิ์กลาง ถนนมุขมนตรี ถนนราดำเนิน ฯ แต่ละเส้นมีระยะกว้างไม่เกิน 12 เมตร ขณะนี้ยังไม่มีสิ่งปลูกสร้าง การจราจรยังคับคั่งต้องแก้ปัญหาให้จอดรถวันคู่วันคี่ หากสร้างทางรถไฟจะเกิดปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะจุดตั้งสถานีจอดอยู่หน้าบ้านใครก็เดือดร้อนแสนสาหัส นายอัคคชา พรหมสูตร อดีตสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ความฝันของชาวโคราช หากโครงการเสร็จสมบูรณ์จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน โดยเฉพาะลดการใช้รถยนต์ที่สร้างมลพิษในอากาศ เส้นทางสีเขียว จะสมบูรณ์แบบและชาวโคราชจะได้ประโยชน์สูงสุด หากยายสถานีเริ่มจากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถานศึกษามัธยมชื่อดังประจำจังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนนักเรียนกว่า 5 พันคันและสิ้นสุดที่ทางแยกจอหอที่เป็นชุมชนขนาดใหญ่และเป็นเส้นทางเชื่อมต่อจากตำบลรอบนอกและอำเภอสำคัญ ประเด็นสำคัญโครงการนี้สามารถตอบโจทย์แก้ปัญหาจราจรเมืองโคราชได้จริงหรือไม่หรือเป็นแค่เฟอร์นิเจอร์ราคากว่า 8 พันล้านบาท เอาไว้โชว์ว่าโคราชก็มีรถไฟฟ้า ด้านนายเทิดศักดิ์ ฯ ผจก.โครงการ ฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ภาพรวมจากการประชุมกลุ่มย่อยและเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ผ่านมา มีข้อเสนอให้ปรับเปลี่ยนเส้นทางที่ไม่สามารถตอบโจทย์การเดินทางได้ครอบคลุม ทุกเวทีเราเปิดรับทุกข้อเสนอ เพื่อนำไปปรับปรุงและพิจารณาความเป็นไปได้ทั้งหลักวิชาการและงบต้องอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้รวมทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เมื่อมติส่วนใหญ่เห็นชอบและผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ ขั้นตอนต่อไปเป็นการคัดเลือกผู้รับจ้างในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและอนุมัติ เบื้องต้นประมาณการค่าก่อสร้างกิโลเมตรละ 752 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 8,400 ล้านบาท หากขั้นตอนราบรื่นชาวโคราชจะได้ใช้รถไฟฟ้าประมาณ ปี 2568 อย่างไรก็ตามหากความต้องการส่วนใหญ่ให้ปรับเปลี่ยนเส้นทาง ก็ต้องนำกลับไปทบทวนใหม่ เพื่อเสนอขอมติ คจร. พิจารณา จะทำให้ชาวโคราชเสียโอกาสได้ใช้บริการขนส่งมวลชนล่าช้าออกไปอีกพอสมควร