ปัจจุบันนโยบายและแผนการพัฒนาประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพมาตรฐานอาหารของไทย ให้เป็นที่รู้จักและเผยแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้อาหารที่ผลิตและบริโภคของประเทศปลอดภัย มีมาตรฐานเท่าเทียมสากล และด้วยความตื่นตัวเรื่องสุขอนามัยและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมส่งผลให้ผู้บริโภค หันมาเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นการผลิตสินค้าเกษตร จึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวให้เข้าสู่มาตรฐาน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับสินค้าประมงของประเทศไทย
นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จังหวัดร้อยเอ็ด โดยเฉพาะนาข้าวทุ่งกุลาร้องไห้ พบว่ามีปลาหลดชุกชุมมากแต่ปัจจุบันนี้ปลาหลดกลับหารับประทานยากยิ่งขึ้นเนื่องจากการทำนาสมัยใหม่เกษตรกรนิยมใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี สารกำจัดวัชพืชและสารกำจัดแมลงทำให้สภาพดินและน้ำในนาเปลี่ยนไป ส่งผลให้ไส้เดือนและสัตว์หน้าดินเช่น หนอนแดง ไรแดง ที่เป็นห่วงโซ่อาหารรวมทั้งปลาหลดลดจำนวนน้อยลง ในขณะเดียวกันปลาหลดกลับเป็นที่ต้องการของตลาดทำให้ปลาหลดlfมีราคาค่อนข้างสูงอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 150-200 บาท iปลาหลดตากแห้ง กิโลกรัมละ 400-450 บาท (ราคาขึ้นลงตามฤดูกาล) รวมถึงการเลี้ยงปลาหลดเพื่อการค้าอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากวิธีการเพาะและการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาติ อาจทำให้ ปลาเกิดความบอบซ้ำจึงทำให้พ่อแม่พันธุ์ที่รวบรวมได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณไม่เพียงพอต่อการนำมาทดลองเพาะเลี้ยง ดังนั้นเพื่อให้ปลาหลดกลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเช่นอดีตอีกครั้งตลอดจนเป็นการเพิ่มพูนอาหารประเภทโปรตีนรวมถึงสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการเลี้ยงปลาหรือจับปลาขายเป็นอาชีพ ทางกรมประมง โดยสำนักงานประมงจังหวัดร้อยเอ็ดจึงได้จัดตั้งธนาคารปลาหลดขึ้นเพื่อช่วยฟื้นฟูทรัพยากรปลาหลดในเขตพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดตลอดจนเป็นศูนย์กลางให้บริการความรู้ด้านเทคโนโลยีด้านการประมงอันจะเพิ่มพูนความรู้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำมากยิ่งขึ้น
ด้าน นายประจักษ์ เจริญรัตน์ ประมงจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ปลาหลดถูกตั้งให้เป็นปลาประจำจังหวัดร้อยเอ็ดเมื่อปีพ.ศ.2557 เนื่องจากปลาหลดเป็นปลาพื้นถิ่นเหมาะกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ของทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด อีกทั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดร้อยเอ็ด สามารถเพาะพันธุ์ปลาหลดได้เป็นครั้งแรกของโลกเมื่อปีพ.ศ.2546 ทางสำนักงานประมงจังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้มีแนวความคิดที่จะจัดตั้งธนาคารปลาหลดขึ้นเพื่อเพาะขยายพันธุ์ปลาหลดสำหรับแจกจ่ายกระจายพันธุ์ และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในด้านเทคโนโลยี การประมงเพื่ออนุรักษ์ให้ปลาหลดคงอยู่เป็นปลาประจำจังหวัดร้อยเอ็ดต่อไป โดยการจัดตั้งธนาคารปลาหลดประจำจังหวัดมีศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดร้อยเอ็ดและสำนักงานประมงจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นศูนย์หลักในการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านการเลี้ยงและการเพาะขยายพันธุ์ และจะมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ประจำอำเภอ 5 แห่ง 5 อำเภอ แต่ละอำเภอมีสมาชิกอำเภอละ 100 ราย รวมเป็นสมาชิกทั้งสิ้น 500 ราย ได้แก่ อำเภอเกษตรวิสัย สุวรรรณภูมิ ปทุมรัตต์ โพนทราย และอำเภอพนมไพร เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการประมง
สำหรับการเข้าร่วมโครงการธนาคารปลาหลดสำนักงานประมงจังหวัดร้อยเอ็ดได้คัดเลือกเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวน 500 ราย และจัดการอบรมในด้านการเพาะเลี้ยงปลาหลดในทุกขั้นตอน โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้การนำเทคโนโลยีต่างๆ ในการผลิตลูกพันธุ์ปลาหลดด้วยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ รวมถึงการรณรงค์ให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมีในนาข้าว เพราะหากดินหรือน้ำมีสารเคมีปะปนอยู่ ก็จะทำให้ปลาหลดหรือสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นตายได้ หลังจากที่เกษตรกรได้รับการอบรมเรียบร้อยแล้ว ทางเกษตรกรแต่ละรายจะได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ดังนี้ 1.ลูกปลาหลดรายละ 500 ตัวและ 2.อาหารปลาคนละ 2 กระสอบ เพื่อนำไปเลี้ยงในบ่อหรือนาข้าว โดยเกษตรกรจะมีสัญญาสัจจะประชารัฐคืนปลาหลดตัวเต็มวัยให้แก่ธนาคาร ปลาหลดรายละ 0.5 กิโลกรัมภายใน 1 ปี เพื่อให้ธนาคารปลาหลดสามารถเพาะขยายพันธุ์และขยายผลในปีต่อไปได้
นายสมพงษ์ การเพิ่ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดร้อยเอ็ด กล่าวว่า การจัดตั้งโครงการธนาคารปลาหลด ทางศูนย์วิจัยฯ จะรับหน้าที่เพาะขยายพันธุ์ปลาหลดเพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขุนพ่อแม่พันธุ์ให้พร้อม ซึ่งคาดว่าทางศูนย์วิจัยฯ จะสามารถผลิตลูกพันธุ์พร้อมแจกเกษตรกรในช่วงเดือนพฤษภาคม พร้อมทั้งร่วมอบรมให้ความพร้อมกับเกษตรกรอีกทั้งได้มีแผนตรวจติดตามการเจริญเติบโตหลังจากที่ได้รับแจกลูกพันธุ์ปลาหลด ตลอดจนให้คำปรึกษาแนะนำปัญหาของเกษตรกรที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการเลี้ยง เนื่องจากการเพาะพันธุ์ปลาหลดมีขั้นตอนที่ยาก เนื่องจากพ่อแม่พันธุ์ที่รวบได้มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติมีจำนวนน้อยอีกทั้งลักษณะการอาศัยจะอาศัยอยู่ในน้ำที่มีคุณภาพดี เป็นปลากินเนื้อเมื่อนำมาเลี้ยงในระบบปิดจะทำให้น้ำเสียง่าย ดังนั้นผู้เลี้ยงจำเป็นที่จะต้องมีระบบการจัดการน้ำที่ดี รวมถึงการอนุบาลลูกพันธุ์ที่จะต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากปลาจะมีลำตัวเล็ก และชอบหลบซ่อนแล้วลำตัวยังลื่นจึงอาจทำให้พันธุ์ปลาชนิดนี้เกิดความบอบช้ำได้ง่าย การเลี้ยงปลาหลดโดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน จะได้ขนาดปลาหลดที่จำหน่ายประมาณ 30-40 ตัว/ก.ก.และอายุ 1 ปีสามารถเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้
ด้านการเพาะขยายพันธุ์ เมื่อคัดเพศแล้วก่อนทำการผสมพันธุ์ จะฉีดฮอร์โมนให้กับพ่อแม่พันธุ์ปลาหลดเพื่อกระตุ้นการวางไข่ โดย เพศเมียจะฉีดกระตุ้นด้วยฮอร์โมน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 จะฉีดห่างจากครั้งที่ 1 ประมาณ 6 ชั่วโมง เพศผู้ จะทำการฉีดเพียงครั้งเดียว โดยจะฉีดพร้อมเพศเมียเข็มที่ 2 หลังจากนั้นก็จะนำพ่อแม่พันธุ์ที่ฉีดฮอร์โมนแล้ว ปล่อยลงในถังเดียวกันเพื่อให้ผสมกันเองตามธรรมชาติ จากการศึกษาวิจัยพบว่า ปลาหลดเพศเมีย 1 ตัว จะให้ไข่ได้ถึง 3,000-5,000 ฟอง ใช้ระยะเวลาฟักตัวออกจากไข่ประมาณ 48-60 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็จะเริ่มให้อาหารลูกพันธุ์ สำหรับอาหารปลาหลดที่ทางศูนย์วิจัยฯ นำมาใช้เลี้ยงแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ 1.อาหารสด ได้แก่ ไรแดง ไส้เดือนดิน จากการเพาะเลี้ยง 2.อาหารสำเร็จรูป ตามที่มีจำหน่ายใน-ท้องตลาด โดยใช้อาหารกุ้ง และอาหารปลาชนิดลอยน้ำมาแช่น้ำสักครู่เพื่อให้เม็ดอาหารนิ่มลง และจะนำมาปั้นเป็นก้อนให้เป็นอาหารปลา
สำหรับท่านใดสนใจข้อมูลการเพาะเลี้ยงปลาหลดสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดร้อยเอ็ด โทร.0 4356 9350